กอปภ.ก. สั่งการ 8 จังหวัด เตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย

กอปภ.ก. สั่งการ 8 จังหวัด เตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย

กอปภ.ก. สั่งการ 8 จังหวัด เตรียมพร้อมรับมืออุทกภัยจากการเพิ่มการระบายน้ำ ของเขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนศรีนครินทร์ ในช่วงวันที่ 4 – 13 ก.ย.61

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อำนวยการกลางกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เปิดเผยว่า กอปภ.ก. โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตามสภาวะอากาศ ปริมาณฝนสะสม สถานการณ์น้ำท่า และปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ พบว่า หลายพื้นที่มีฝนตกหนัก ปริมาณน้ำสะสมมาก กอปรกับประกาศของศูนย์เฉพาะกิจติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งระเทศไทย (กฟผ.) แจ้งว่า เขื่อนวชิราลงกรณจะระบายน้ำเพิ่มขึ้นวันละ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นวันละ 58 ล้านลูกบาศก์เมตร ในช่วงวันที่ 4 – 10 กันยายน 2561 และเขื่อนศรีนรินทร์จะระบายน้ำเพิ่มขึ้นวันละ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นวันละ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร ในช่วงวันที่ 7 – 13 กันยายน 2561 ซึ่งส่งผลให้พื้นที่รับน้ำท้ายเขื่อนตามแนวริมลำน้ำ และพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาอาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย น้ำล้นตลิ่ง และน้ำไหลหลาก กอปภ.ก. จึงได้สั่งการจังหวัดเสี่ยงภัย 8 จังหวัด ได้แก่ 

กาญจนบุรี (อำเภอทองผาภูมิ อำเภอไทรโยค อำเภอเมืองกาญจนบุรี อำเภอท่าม่วง และอำเภอท่ามะกา) 

ราชบุรี (อำเภอ บ้านโป่ง อำเภอโพธาราม และอำเภอเมืองราชบุรี) 

นครปฐม (อำเภอกำแพงแสน อำเภอบางเลน และอำเภอดอนตูม) 

สมุทรสงคราม (อำเภอบางคนที อำเภออัมพวา และอำเภอเมืองสมุทรสงคราม) 

ชัยนาท (อำเภอสรรพยา) 

สิงห์บุรี (อำเภอเมืองสิงห์บุรี อำเภออินทร์บุรี และอำเภอพรหมบุรี) 

อ่างทอง (อำเภอไชโย อำเภอเมืองอ่างทอง และอำเภอป่าโมก) 

พระนครศรีอยุธยา (อำเภอเสนา อำเภอบางบาล และอำเภอผักไห่)

รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมรับมือสถานการณ์อุทกภัย น้ำล้นตลิ่ง และน้ำไหลหลาก โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศ ตรวจวัดปริมาณฝน สังเกตการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมทั้งแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัท ห้างร้านที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา และประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาติดตามประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด ตลอดจนกำชับกำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัคร แจ้งข้อมูลข่าวสารและสถานการณ์ภัยให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ สามารถติดต่อแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป