จิสด้าส่งเทคโนโลยีเพื่อทะเล ติดตามเรือ คราบน้ำมัน แพขยะ

จิสด้าส่งเทคโนโลยีเพื่อทะเล ติดตามเรือ คราบน้ำมัน แพขยะ

จิสด้าประยุกต์เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ พัฒนาเครื่องมือติดตามเรือและคราบน้ำมันในทะเล สามารถแจ้งระดับคลื่นลมคลื่นทะเลเฉพาะท้องถิ่น สถานการณ์ชายฝั่ง ตลอดจนคำนวณทิศทางเคลื่อนที่กระแสน้ำตลอดจนแพขยะ

นางศิริลักษณ์ พฤกษ์ปิติกุล ผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริการภูมิสารสนเทศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า เปิดเผยถึงการพัฒนาระบบเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศที่มีชื่อว่า Geo Spatial for Maritime System หรือ G-MAS เพื่อใช้เป็นเครื่องมือติดตาม ตรวจสอบและชี้เป้า โดยเฉพาะคราบน้ำมันและเรือ รวมถึงสถานการณ์ทางทะเลในด้านต่างๆ

ระบบดังกล่าวได้รวมเทคโนโลยี 3 ส่วนเข้าไว้ด้วยกัน ส่วนแรกจะเป็นเทคโนโลยีจากภาพถ่ายดาวเทียมทั้งทางบกและทางทะเล ซึ่งใช้สำหรับติดตามขนาด ประเภทรวมถึงตำแหน่งเรือ และภาพถ่ายดาวเทียมที่ดูในเรื่องของคุณภาพน้ำทะเล ซึ่งจะมีค่าข้อมูลหลักๆ เช่น ค่าอุณหภูมิ ความเข้มและสีของน้ำ ปริมาณคลอโรฟิลด์รวมถึงองค์ประกอบหลักที่เป็นคุณภาพน้ำ ส่วนที่ 2 เป็นข้อมูลที่ได้จากระบบเรดาห์ชายฝั่งที่ติดตั้งอยู่ในอ่าวไทยประมาณ 20 สถานีใน 13 จังหวัด และในปีหน้าเตรียมจะขยายไปฝั่งอันดามัน ระบบเรดาห์ชายฝั่งเป็นเทคโนโลยีสำรวจระยะไกลหรือรีโมทเซ็นเซอร์ที่สามารถวัดข้อมูลคลื่น ข้อมูลกระแสน้ำ ข้อมูลความเร็วทิศทางลมที่อยู่ในพื้นทะเล รวมถึงข้อมูลจากกล้องซีซีทีวีที่ติดตั้งประจำอยู่ในพื้นที่สถานีด้วย ส่วนสุดท้ายเป็นการพัฒนาแบบจำลองที่เน้นเฉพาะเรื่องมลพิษทางทะเลและชายฝั่ง เช่น คราบน้ำมันหรือขยะทะเล เพื่อบอกถึงเส้นทางที่มาโดยอาศัยข้อมูลจาก 2 ส่วนแรก

G-MAS สามารถบอกระดับคลื่นลมคลื่นทะเล สถานการณ์ชายฝั่ง หรือจะดูเหตุการณ์จากกล้องซีซีทีวีร่วมด้วยก็ได้ เพราะบางครั้งข้อมูลต่างๆ อาจจะไม่ได้อยู่ในการประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา จึงทำให้ไม่แน่ใจว่าพื้นที่ของตนเองนั้นมีคลื่นลมแรงด้วยหรือไม่ จะออกทะเลไปหาปลาได้หรือไม่


“เรานำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาบนแบบจำลองที่มีอยู่ ซึ่งจะเป็นส่วนที่เสริมเข้าไปบนระบบนี้ด้วย อย่างเช่นเมื่อช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องแพลงก์ตอนบลูม หรือปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ บริเวณชายหาดบางแสน ทำให้น้ำทะเลมีกลิ่นเหม็นและสีคล้ำ ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลกับนักท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว แต่ยังสร้างความเสียหายให้กับการประมงเพาะเลี้ยงชายฝั่ง การประกอบกิจการชายฝั่งด้วย แต่หากเราอยากรู้ว่ามวลน้ำที่มีปัญหานั้น จะถูกพัดพาไปในทิศทางไหน และตรงโซนไหนที่จะแจ้งเตือนเพื่อไม่ให้ประชาชนลงเล่นน้ำ ซึ่งทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งก็สามารถเข้ามาดูในระบบ โดยการปักหมุด เสร็จแล้วระบบก็จะคำนวนให้ว่าทิศทางกระแสน้ำไปทางไหน ก็จะสามารถอนุมานหรือคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่า เส้นทางการเคลื่อนที่ของมวลน้ำนั้นจะเป็นไปในทิศทางไหน เป็นต้น”


อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์มีความรุนแรง และส่งผลกระทบกับหลายๆ ภาคส่วน ทั้งการบริหารจัดการเก็บกู้ การเฝ้าระวังต่างๆ เช่น กรณีคราบน้ำมันรั่วไหล จะต้องอาศัยการบูรณาการข้อมูลเข้ามาค่อนข้างมาก หรือหากมีใครที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์คราบน้ำมันพวกนั้น ซึ่งจำเป็นต้องติดตามตำแหน่งเรือ โดยใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมและระบบตรวจวัดที่เป็นระบบ Automatic Identification System หรือ AIS ซึ่งเป็นข้อบังคับของเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ ที่ต้องแจ้งพิกัดการเดินเรือมาประมวลผลในระบบ G-MAS เพื่อดูว่าตอนที่มีคราบน้ำมันนั้น มีเรือต้องสงสัยอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งของการใช้งานของระบบ G-MAS