TPLAS เร่งเครื่องโต โรงงานใหม่ผลิตเพิ่ม 'เท่าตัว'

TPLAS เร่งเครื่องโต โรงงานใหม่ผลิตเพิ่ม 'เท่าตัว'

'ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก (1994)' เปิดแผนธุรกิจปีหน้ากำลังผลิตโรงงานใหม่เพิ่ม 'เท่าตัว' ด้าน 'ธีระชัย ธีระรุจินนท์' ผู้ก่อตั้ง เรียกเรตติ้งนักชอปหุ้น การันตีเศรษฐกิจฐานรากฟื้นผลักดันรายได้เติบโตเป็นตัวเลข 'สองหลัก' จุดขายหุ้นน้องใหม่ 5 ก.ย.นี้

แม้เรียนจบแค่มัธยมศึกษาปีที่ 3 แต่ 'ควมรอบรู้' เรื่องการทำธุรกิจของ 'ธีระชัย ธีระรุจินนท์' ผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก (1994) หรือ TPLAS สัดส่วน 74.19% บริษัทน้องใหม่ที่เตรียมขายหุ้นไอพีโอในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (MAI) ในวันที่ 5 ก.ย.นี้ ในราคาหุ้นละ 1.48 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาท หลังเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวน 70 ล้านหุ้น แก่พอตัว...!!

เกิดมาก็เจอพ่อทำธุรกิจอยู่แล้ว และทำงานกับพ่อมาตลอด !! 'ธีระชัย' พยายามย้ำความปราดเปรื่องให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังเดิมช่วยงานธุรกิจของครอบครัวใน 'ธุรกิจจำหน่ายสินค้าโภคภัณฑ์' (Commodities) ประเภทธัญพืช อาทิ ถั่วเขียว , ถั่วดำ เป็นต้น ทว่าการทำธุรกิจต้องการเติบโตและยั่งยืน ดังนั้น จึงมองหาสินค้าตัวใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา และเห็นโอกาสใน 'ธุรกิจถุงพลาสติก' เนื่องจากเป็นสินค้าที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน จึงตัดสินใจตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาลงทุน...!!   

'ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก (1994)' ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ถุงบรรจุอาหารประเภท ถุงร้อน ก่อตั้งเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2537 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท โดยเริ่มจากการผลิตถุงพลาสติกขนาดย่อม ใช้ตราสินค้า 'หมากรุก' ภายใต้สโลแกน 'มาตรฐาน ทนทาน เหนียวแน่น' ซึ่งเน้นผลิตภัณฑ์ถุงบรรจุอาหารที่ผลิตจากโพลีโพรพิลีน Polypropylene (PP) , โพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูง High Density Polyethylene (HDPE) และต่อมาจึงลงทุนผลิตภัณฑ์ฟิล์มยืดห่อหุ้มอาหาร ประเภทโพลิไวนิลคลอไรด์ Polyvinyl Chloride (PVC) ใช้ตราสินค้า  'Vow wrap'

ปัจจุบันบริษัทมีผลิตภัณฑ์แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ 1. ถุงพลาสติกบรรจุอาหารประเภทโพลีโพรพิลีน Polypropylene (PP) 2. ถุงพลาสติกบรรจุอาหารและถุงหูหิ้วประเภทโพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูง High Density Polyethylene (HDPE) และ 3.ฟิล์มยืดห่อหุ้มอาหาร Vow Wrap ประเภทโพลิไวนิลคลอไรด์ Polyvinyl Chloride (PVC) 

'ทำธุรกิจต้องมีการเติบโต หากปีไหนธุรกิจไม่โตรู้สึกผิด!!'  วลีเด็ดของ 'ธีระชัย' ก่อนจะแจกแจงแผนธุรกิจให้ฟัง ว่า ธุรกิจของ 'ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก (1994)' ยังมีช่องทางการเติบโตอีกมาก ฉะนั้น ภารกิจแรกที่ต้องทำ นั่นคือ ผลักดันบริษัทเข้ามานำระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก่อน หากต้องการต่อยอดธุรกิจให้มีอัตราการเติบโตและยั่งยืนในอนาคต !!  

แม้ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ตลาดมีการเติบโต 'ลดลง' จากสภาพเศรษฐกิจฐานรากที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักได้รับผลกระทบโดยตรง สะท้อนผ่านผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี (2558-2560) บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่  25 ล้านบาท 12 ล้านบาท และ  22 ล้านบาท ตามลำดับ และมีรายได้อยู่ที่ 489.18 ล้านบาท 476.58 ล้านบาท และ 525.15 ล้านบาท  

ขณะที่ไตรมาส 1 ปี 2561 มีรายได้จากการขายรวม 136.58 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6.89 ล้านบาท จากปริมาณกำลังการผลิตถุงพลาสติกของบริษัทที่เพิ่มขึ้นทว่า

ล่าสุด ผลประกอบการงวด 6 เดือน ปี 2561 บริษัทมีรายได้รวม 273.14 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ  12.52 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นผลมาจากดีมานความต้องการใช้ถุงพลาสติกยังคงมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทฯต้องเพิ่มปริมาณกำลังการผลิตถุงพลาสติกของบริษัทฯ เพื่อรองรับกับดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

'ที่ผ่านมารายได้เฉลี่ยย้อนหลังเติบโตระดับ 7% จากอดีตบริษัทเคยมีรายได้เติบโตระดับ 20% หากเราจะกลับไปเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักอีกครั้ง ต้องภายใต้เศรษฐกิจฐานรากฟื้นตัวซึ่งไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำให้รายได้จะกลับไปเติบโตสองหลักอีกครั้ง'  

เขา บอว่า สำหรับเงินระดมทุนครานี้ จำนวน 103.60 ล้านบาท บริษัทนำไปเพื่อใช้ขยายกำลังการผลิต 'โรงงานใหม่' พร้อมติดตั้งเครื่องจักรใหม่สำหรับการผลิต ผลิตภัณฑ์ถุงพลาสติก (ถุงร้อน) โดยโรงงานใหม่จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 'เท่าตัว' จากกำลังการผลิตเดิม คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างปลายปี 2562  รวมทั้งปรับปรุงอาคารโรงงานเดิม และสำนักงานของบริษัทเพื่อรองรับความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์จากถุงพลาสติก หากภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว ซึ่งจะทำให้สามารถรองรับออเดอร์ที่เพิ่มเข้ามาได้อีกมาก ซึ่งโรงงานใหม่สามารถรับดีมานด์ได้อีกประมาณ 3-4 ปีข้างหน้า

สอดคล้องกับ 'จุดเด่น' ของบริษัทมมีจำนวนฐานลูกค้ากว่า 'หมื่นราย' ซึ่งมีบัญชีที่มีความเคลื่อนไหว (active) ราว 4,000-5,000 ราย และปัจจุบันบริษัทมี 'ส่วนแบ่งทางการตลาด' (มาร์เก็ตแชร์) อยู่ใน 5 อันดับแรกของเมืองไทย โดยมูลค่าตลาดถุงพลาสติกราว 10,000 ล้านบาท ฉะนั้น บริษัทยังมีช่องทางการขยายฐานลูกค้าอีก 'มหาศาล'  

'เราทำมาร์จินของธุรกิจสูงสุดในกลุ่มถงพลาสติก เพราะว่ามีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและมีความเชียวชาญด้านการตลาด'

ปัจจุบัน TPLAS มีการผลิตสินค้าขนาดที่ใช้ทั่วไปในตลาดแบบ Mass Production เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ถุงพลาสติกและฟิล์มถนอมอาหารที่มีมากในชีวิตประจำวัน ปัจจุบันกำลังการผลิตถุงพลาสติกรวม 10,281.60 ตันต่อปี โดยแบ่งเป็นถุงพลาสติกประมาณ 850 ตันต่อเดือน ในขณะที่กำลังการผลิตฟิล์มถนอมอาหาร (PVC) อยู่ที่ 1,411.20 ตันต่อปี หรือประมาณ 120 ตันต่อเดือน 

ทั้งด้วยศักยภาพด้านเทคโนโลยีการผลิต ส่งผลให้บริษัทมีความพร้อมที่จะมุ่งมั่นก้าวสู่การเป็นผู้นำทางด้านอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมีความหลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในอนาคต 

อย่างไรก็ตาม สินค้าของบริษัทวางขายที่ทั้งในและตลาดต่างประเทศ อาทิ เมียนมา, สปป.ลาว และกัมพูชา แต่การวางขายสินค้าดังกล่าวผ่านผู้ค้าปลีกซึ่งเป็นลูกค้าของบริษัทอีกที โดยในอนาคตบริษัทสนใจจะเข้าไปรุกในตลาดต่างประเทศเอง โดยมีแผนที่จะเพิ่มช่องทางการตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้านตามนโยบายเปิดการค้าเสรี (AEC) หลังจากระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เรียบร้อยแล้ว 

'แม้ปัจจุบันมีการรณรงค์ชะลอการใช้ถุงพลาสติก แต่ต้องยอมรับว่ายังจำเป็นสำหรับการใช้งานอยู่ จึงมองว่าธุรกิจพลาสติกยังมีโอกาสเติบโต โดยเราคาดหวังการเติบโตของบริษัทไม่ต่ำกว่าตัวเลขสองหลักต่อปี ซึ่งหลังจากระดม IPO เรียบร้อยแล้ว'

'ธีระชัย' บอกต่อว่า ปัจจุบันบริษัทมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทเน้นการบริหารแบบ 'ระมัดระวัง' (conservative) จากประสบการณ์วิกฤตเศรษฐกิจปี 40 โดยการลงทุนต่าง ๆ ในอดีตที่ผ่านมาใช้แหล่งเงินทุนจากการกู้สถาบันการเงินจากธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำ อัตราดอกเบี้ย MLR ที่ -1% และการใช้ตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) เพียง 10 ล้านบาท

ปัจจุบันบริษัทมีแผนการควบคุมอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ระดับต่ำที่ราว 0.4-0.5 เท่า จากการใช้กระแสเงินสดในการดำเนินธุรกิจเป็นหลักขณะที่การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai จะทำให้บริษัทมีต้นทุนทางการเงินที่ลดลง และมีแหล่งเงินทุนหลากหลายมากขึ้น แม้ว่าการขยายธุรกิจหรือการรุกตลาดใหม่ ๆ จะต้องมีขั้นตอนมากขึ้นกว่าเดิม แต่เมื่อเปรียบเทียบแล้วบริษัทมองว่าได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์ เนื่องจากอุตสาหกรรมตลาดถุงพลาสติกเป็นตลาดที่ค่อนข้างใหญ่และยังมีความต้องการสูงเนื่องจากเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน 

สำหรับภาพรวมตลาดถุงพลาสติกค่อนข้างทรุดตัวลงจากสินค้าคงค้าง (stock) ล้นตลาด ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมีสินค้าคงค้างราว 200 ตัน จากปกติ 100 ตัน ซึ่งถือว่ามีระดับต่ำกว่าบริษัทอื่น ๆ ที่มีสินค้าคงค้างกว่า 1,000-2,000 ตัน โดยบริษัทเน้นแนวทางการบริหารที่ไม่ก่อให้เกิดสินค้าคงค้างซึ่งทำให้เกิดต้นทุนเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้เชื่อว่าเมื่อตลาดกลับสู่สภาวะปกติสินค้าคงค้างของบริษัทจะกลับสู่ระดับ 100 ตัน ภายในระยะเวลา 1 สัปดาห์อย่างไรก็ตาม บริษัทยังเน้นควบคุมคุณภาพสินค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสินค้าที่จำหน่ายไม่มีการผสมเม็ดพลาสติกรีไซเคิลแม้จะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงกว่า 10% ขณะที่การรักษาคุณภาพสินค้าในตลาดยังไม่เข้มข้นมากนัก ซึ่งทำให้บริษัทมีโอกาสที่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้สูงกว่าตลาดตามราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น 

สำหรับ 'ปัจจัยความเสี่ยง' ของธุรกิจ ประกอบด้วย ความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อลูกหนี้ และการบริหารและติดตามการเรียกเก็บชำระหนี้จากลูกหนี้ ความเสี่ยงจากวัตถุดิบหลักมีราคาผันแปรตามราคาตลาดโลก ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนการคำสั่งซื้อในกรณีที่ผลิตภัณฑ์ไม่เพียงพอต่อการบริโภค ความเสี่ยงจากการรณรงค์ลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติก และความเสี่ยงจากข้อกำหนดและกฎหมายของภาครัฐ เป็นต้น สำหรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีรวดเร็วนั้น

'ธีระชัย' บอกว่า บริษัทไม่ได้เตือนตระหนก เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทเริ่มใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มานานกว่า 20 ปีก่อน ซึ่งเรื่องเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วจึงไม่ได้กระทบกับธุรกิจมาก และพนักงานของบริษัทไม่ได้กลัวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งบริษัทมองว่าเทคโนโลยีโรบอทจะตรงกับธุรกิจของบริษัทมากกว่า 

ท้ายสุด 'ธีระชัย' ทิ้งท้ายว่า ที่ผ่านมาบริษัทมีการแบบข้อจำกัด ซึ่งเป็นการโตตามนโยบายการทำธุรกิจที่บอกว่ามีเงินทุนเท่าไหร่ก็ขยายการลงทุนเท่านั้น...!! เพราะว่าผมไม่ชอบการเป็นหนี้ แต่หลังจากระดมทุนแล้ว คงทำแบบเดิมไม่ได้