เปิดพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก 10-12 ปี ทั่วประเทศรวมกว่า 5.7 แสนไร่

เปิดพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก 10-12 ปี ทั่วประเทศรวมกว่า 5.7 แสนไร่

นักวิชาการจี้ภาครัฐใช้ข้อมูลวางนโยบายจัดการน้ำใหม่ครอบคลุม 254 ลุ่มน้ำย่อย เน้นการจัดการน้ำเชิงพื้นที่ วางแผนชลประทาน ใช้ประโยชน์ที่ดิน วางแผนรับอุทกภัย มากกว่าจัดการน้ำแบบตั้งรับแค่บริเวณเขื่อน ควบคู่การวางแผนระบบชลประทาน

นายคธาวุฒิ ไวยสุศรี อาจารย์ประจำสาขาวิชาภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่าจากการรวบรวมข้อมูลที่ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (จิสด้า)ย้อนหลังไป 10 – 12 ปี (2548 - 2559) พบว่ามีพื้นที่ทีน้ำท่วมซ้ำซากคือท่วมเป็นประจำทุกปีในช่วงที่มีปริมาณฝนตกมากทั่วประเทศในรอบ 10 – 12 ปี รวมกว่า 578,239.78 ไร่ หรือ925.18 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็นพื้นที่ที่มีน้ำท่วมซ้ำซาก 10 ปี 264,890.03 ไร่ พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก 11 ปี 299,151.93 ไร่ และพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก 12 ปีรวม 14,197.82 ไร่

โดยข้อมูลจากภาพถ่ายทางดาวเทียมปัจจุบันสามารถทราบได้ในระดับชุมชนและหมู่บ้านว่าพื้นที่ใดเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากบ้างซึ่งข้อมูลเหล่านี้ภาครัฐนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงนโยบายได้ เช่น เรื่องการวางแผนประกันภัยพืชผล การวางแผนพื้นที่รับน้ำและการวางแผนด้านงบประมาณในการจ่ายชดเชยกรณีที่มีน้ำมากอาจใช้พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่รับน้ำได้โดยใช้ข้อมูลในการทำความเข้าใจกับชุมชน รวมทั้งทำแผนรับมือภัยพิบัติในระดับชุมชนซึ่งมีความจำเป็นมากขึ้นสำหรับสถานการณ์ในอนาคต

นายสมบัติ อยู่เมือง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภูมิสารสนเทศเพื่อประเทศไทย ภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าจากการติดตามสถานการณ์น้ำของประเทศมาอย่างต่อเนื่องพบว่าการจัดการน้ำในประเทศไทยมีความท้าทายมากขึ้นทุกปีจากภาวะความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีความรุนแรงขึ้น ทำให้การบริหารจัดการน้ำต้องมีการติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดเพื่อตัดสินใจอย่างทันท่วงทีและต้องใช้ข้อมูลจากในระดับพื้นที่จากตำบล หมู่บ้าน ที่อยู่ใกล้พื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆเป็นสำคัญ

โดยขณะนี้การตรวจสอบข้อมูลผ่านภาพถ่ายทางดาวเทียมย้อนหลังสามารถทราบข้อมูลได้ในระดับหมู่บ้าน ซึ่งแผนที่น้ำท่วมซ้ำซากนั้นจะมีประโยชน์ทั้งในเรื่องการวางแผนพื้นที่รับน้ำ การคำนวณงบประมาณที่ภาครัฐจะต้องจ่ายชดเชย การวางแผนเพาะปลูก และใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมทั้งการวางแผนขยายพื้นที่ชลประทานไปยังพื้นที่ต่างๆเพราะจากข้อมูลพบว่าพื้นที่ชลประทานมักจะไม่ค่อยมีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากและประชากรในพื้นที่มีรายได้และคุณภาพชีวิตดีกว่าเกษตรกรในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก

นายสมบัติกล่าวต่อว่าการบริหารจัดการน้ำในปัจจุบันยังมีลักษณะตั้งรับคือเป็นการบริหารน้ำที่บริเวณเขื่อน ทำให้ทราบเฉพาะข้อมูลน้ำไหลเข้าและไหลออกจากเขื่อนหรือลุ่มน้ำหลัก 25 ลุ่มน้ำที่จะไหลเข้าสู่เขื่อนเท่านั้น ไม่ได้มีการติดตามและบริหารข้อมูลจากระดับลุ่มน้ำย่อยทั่วประเทศที่มีอยู่กว่า 254 ลุ่มน้ำ ทำให้ยังเกิดปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ ซึ่งหากมีการวางแผนตั้งแต่ลุ่มน้ำย่อยจะทำให้สามารถตัดยอดน้ำ เบี่ยงน้ำ หรือลดปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าสู่เขื่อนได้ซึ่งจะได้ผลดีกว่าการบริหารน้ำในแบบปัจจุบันเพราะสามารถวางแผนได้ตั้งแต่ต้นทางว่าน้ำจะไหลมาจากน้ำสาขาย่อยมากน้อยอย่างไร ซึ่งรูปแบบนี้ใช้ได้ผลในระดับสากล

“การบริหารจัดการน้ำแบบในปัจจุบันยังเป็นลักษณะตั้งรับ คือเราดูแค่น้ำไหลเข้าเขื่อนเท่าไหร่ แล้วจะระบายหรือกักเก็บ แต่หากสามารถพัฒนาไปดูในเรื่องของลุ่มน้ำสาขาที่มีอยู่กว่า 254 สาขา มีการวางแผนและพัฒนาเครื่องมืออย่างเป็นระบบ รวมทั้งแก้ไขกฎหมายที่มีความซ้ำซ้อนกันของหน่วยงานต่างๆ เช่น ในพื้นที่ต้นน้ำยังมีการลักลั่นของการบังคับใช้กฎหมายระหว่าง กรมทรัพยากรน้ำ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่ทับซ้อนกัน ก็ทำให้การบริหารจัดการน้ำส่วนนี้ยังมีอุปสรรคซึ่งจะต้องมีการดำเนินการแก้ไขส่วนนี้เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ต้นทางสามารถทำได้ผลซึ่งจะช่วยให้ป้องกันอุทกภัยได้”นายสมบัติกล่าว

ทั้งนี้หากแบ่งเป็นพื้นที่รายภาค จะระบุได้ดังนี้พื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีน้ำท่วมซ้ำซาก 12 ปี บริเวณห้วยน้ำสวย ต.วัดธาตุ ต.หาดคำ ต.หินโงม อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย และต.จอมศรี อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี บริเวณห้วยหลวง ต.นาหนัง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย และต.สร้างค่อม ต.นาไหม อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี ส่วนพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก 10-11 ปี ลำน้ำยัง ต.ภูเงิน อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด

พื้นที่ภาคกลางตอนบนพบว่ามีพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก 10 – 11 ปี บริเวณลุ่มน้ำยม – ลุ่มน้ำน่าน ประกอบไปด้วยพื้นที่จ.สุโขทัย อ.เมือง บริเวณตำบล บ้านหลุม ปากพระ บ้านกล้วย อ.คีรีมาศ บริเวณตำบลบ้านป้อม ทุ่งหลวง โตนด อ.กงไกรลาศ บริเวณ ต.ป่าแฝก ต.บ้านกร่าง ต.หนองตูม ต.กง ต.ดงเดือย ต.ไกรนอนก ต.บ้านหาสุขเกษม

จ.พิษณุโลก อ.บางระกำ บริเวณตำบลคุยม่วง ต.ชุมแสงสงคราม ต.ไผ่ขอดอน ต.บ้านกร่าง ต.ท่านางงาม อ.วังทอง บริเวณตำบลวังพิกุล อ.บางกระทุ่ม ต.บางกระทุ่ม ต.สนามคลี ต.ไผ่ล้อม จ.พิจิตร พื้นที่อ.เมืองจ.พิจิตร ต.ป่ามะคาบ ต.ท่อฬ่อ ต.ปากทาง ต.ท่าหลวง ต.บ้านบุ่ ต.ฆะมัง ต.หัวดง อ.สามง่าม ต.รังนก ต.เนินปอ อ.โพธิ์ประทับช้าง ต.ไผ่รอบ ต.วังจิก ต.ไผ่ต.ท่าโพ อ.ตะพานหิน ต.งิ้วราย ต.ไทรโรงโขน อ.บางมูลนาก ต.บางไผ่ ต.หอไกร ต.เนินมะกอก

จ.นครสวรรค์ อ.เมืองนครสวรรค์ ต.บางพระหลวง ต.เกรียงไกร ต.แควใหญ่ อ.ชุมแสง ต.ท่าไม้ ต.บางเคียน ต.พิกุล ต.หนองกระเจา ต.เกยไชย ต.พันลาน ต.ทับกฤชใต้

พื้นที่ ภาคกลางตอนล่าง ท่วมซ้ำซาก 10-11 ปี บริเวณลุ่มเจ้าพระยา จ.ชัยนาท อ.สรรพยา ต.เขาแก้ว จ.สิงห์บุรี อ.อินทร์บุรี ต.ชีน้ำร้าย พื้นที่ภาคกลางตอนบน จ.เพชรบูรณ์ อ.บึงสามพัน ต.บึงสามพัน อ.หนองไผ่ ต.นาเฉลียง ต.วังโบสถ์ อ.เมืองเพชรบูรณ์ ต.ห้วยสะแก และ ต.ระวิง