'สุเทพ' แจงสตช. ไม่เคยเสนอครม.ให้พิจารณาวิธีการจัดจ้างโรงพัก

'สุเทพ' แจงสตช. ไม่เคยเสนอครม.ให้พิจารณาวิธีการจัดจ้างโรงพัก

"สุเทพ" ชี้แจง กรณีสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่ง สตช.สตช.ไม่เคยเสนอครม.ให้พิจารณาวิธีการจัดจ้างโรงพักทดแทน

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2561 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย ไลฟ์สด ผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว ชี้แจง กรณีสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่ง ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ว่า วันนี้เป็นเรื่องข้อกล่าวหา ของอนุกรรมการไต่สวนของป.ป.ช. ข้อที่ 5 ที่มีการกล่าวหาว่า ท่านซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลงาน สตช.อยู่ในขณะที่ สตช.เสนอเรื่องดังกล่าวให้พิจารณา ทราบอยู่แล้วว่าสตช. ต้องไปดำเนินการก่อสร้างจัดจ้างเป็นรายภาค ตามที่สตช.เสนอและครม.มีมติอนุมัติๆไว้แล้ว และท่านได้เห็นชอบแล้ว ดังกล่าวข้างต้น แปลความง่ายๆว่า ผมซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบสตช.ทราบอยู่แล้วว่าครม.มีมติ ให้ดำเนินการจัดจ้างเป็นรายภาค ตามที่สตช.เสนอไป แต่ผมกลับไปเปลี่ยนแปลง วิธีการจัดจ้างเสียใหม่ ผมขอกราบเรียนว่า นี่เป็นความสับสน เป็นความเข้าใจผิดในข้อเท็จจริงของ คณะอนุกรรมการไต่สวนของป.ป.ช.เพราะข้อเท็จจริงคือว่า ทางสตช. ไม่เคยเสนอต่อครม.ให้พิจารณาวิธีการจัดจ้าง เพราะสตช.ทราบดีว่า ผู้ที่จะมีอำนาจพิจารณาเรื่องวิธีการจัดจ้างคือ ผบ.ตร.ซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการ เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยการพัสดุ

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า อนุกรรมการไต่สวนของป.ป.ช.ไปสับสนเรื่องที่สตช.เสนอครม.เปลี่ยนรูปแบบการลงทุนจากเดิมที่ครม.อนุมัติให้ใช้วิธีแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ให้บริษัทธนารักษ์ฯ ดำเนินการ แต่เมื่อครม.มีมติวิธีนั้นไว้แล้ว ครม.ได้สั่งสตช.ว่าไปดูในรายละเอียดไปปรึกษาสำนักงบฯ ปรึกษากระทรวงการคลัง ว่าทั้งหมดจะต้องใช้งบเท่าไร บทบาทแต่ละหน่วยงานเป็นอย่างไร สตช.ก็ไปตั้งคณะกรรมการแล้วทำหนังสือลงวันที่ 14 พ.ย.2551 เสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอต่อครม. แตสาระสำคัญในหนังสือฉบับนี้เขาอ้างมติครม.เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2550 เขาก็ไปทำตั้งคณะกรรมการ เสร็จแล้ว เขาเห็นว่า ถ้าใช้วิธีการลงทุนโดยการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ตามที่ บริษัทธนารักษ์ฯ เสนอนั้นในเวลา 5 ปี จะต้องใช้เงินแพงกว่า การตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีปกติถึง 4,717 ล้านบาท สตช.จึงบอกว่า แนวทางนี้ไม่เหมาะสมเป็นภาระผูกพันกับรัฐบาลสูงมากและไม่เหมาะตามข้อเสนอคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2551 จึงขออนุมัติครม. ขอให้สตช.ดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารสถานีตำรวจทดแทน

นายสุเทพ กล่าวอีกว่า โดยวิธีการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีและผูกพันงบประมาณ 3 ปี เขาเสนอขอเปลี่ยนรูปแบบวิธีการลงทุน อนุกรรมการไต่สวนของป.ป.ช.ไปคิดเอาเองว่าที่เสนอนี้คือการขอเปลี่ยนวิธีการจัดจ้าง เพราะฉะนั้นผมได้กราบเรียนคณะกรรมการป.ป.ช.ชุดใหญ่ว่าครม.ไม่เคยพิจารณาเรื่องวิธีการจัดจ้างและครม.ไม่เคยมีมติว่าด้วยการจัดจ้างเพราะฉะนั้นที่ อนุกรรมการไต่สวนของป.ป.ช.กล่าวหาว่าผมทราบอยู่แล้วว่าครม.อนุมัติวิธีการจัดจ้างไว้ จึงเป็นการเข้าใจผิดในข้อเท็จจริงครม.ไม่ได้เป็นคนอนุมัติการจัดต่าง แต่ผมเป็นคนอนุมัติเอง อนุมัติตามหนังสือที่ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ ผบ.ตร.เสนอเมื่อวันที่ 18 พ.ย.2552 ว่า ขอเสนอวิธีการจัดจ้างรวมเป็นสัญญาเดียว เพราะกฎหมายงบประมาณเขียนเอาไว้โครงการเดียวเงินก้อนเดียว

"ผมเป็นคนอนุมัติ เมื่อวันที่ 20 พ.ย.2552 และที่อนุกรรมการไต่สวนของป.ป.ช.บอกว่าผมทราบว่า ครม.เป็นผู้อนุมัติวิธีการจัดจ้าง ผมจึงบอกว่าของอนุกรรมการไต่สวนของป.ป.ช.เข้าใจผิด เพราะฉะเมื่อผมอนุมัติด้วยข้อเท็จจริง มันก็ไม่มีอะไรที่ต้องเป็นความผิดและที่จะเป็นหลักฐานยืนยันอีกชิ้นคือหนังสือยืนยันจากเลขาธิการครม.ที่ตอบไปยัง สตช.ว่า ตามที่เสนอขออนุมติโครงการก่อสร้างฯสถานีตำรวจนั้นครม.ได้ประชุมปรึกษากันลงวันที่17 ก.พ.2552 ลงมติอนุมัติหลักการโครงการก่อสร้างฯสถานีตำรวจ เขาอนุมัติหลักการวิธีการก่อสร้างไม่ได้อนุมัติวิธีการจัดจ้าง ความชัดเจนอยู่ในหนังสือของเลขาครม.ที่แจ้งมติครม.ไปให้ ผบ.ตร.ได้รับทราบตามที่ลงหนังสือในวันที่ 3 มีนาคม 2552"