เฟ้น 4 โครงงานวิจัยเตรียมส่งทดลองในอวกาศ

เฟ้น 4 โครงงานวิจัยเตรียมส่งทดลองในอวกาศ

จิสด้า - สวทช. เตรียมปลุกกระแสการศึกษาและทดลองด้านอวกาศให้คนไทยอีกครั้งกับโครงการการทดลองในอวกาศและสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงปีที่ 2 เพื่อนำผลการทดลองที่ได้มาสร้างเป็นนวัตกรรมอวกาศที่มีประโยชน์สำหรับมนุษย์

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. เตรียมปลุกกระแสการศึกษาและทดลองด้านอวกาศให้คนไทยอีกครั้งกับโครงการการทดลองในอวกาศและสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงปีที่ 2 หรือ National Space Exploration (NSE) เพื่อนำผลการทดลองที่ได้มาสร้างเป็นนวัตกรรมอวกาศที่มีประโยชน์สำหรับมนุษย์ นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการพัฒนานักวิจัยในประเทศให้มีศักยภาพ


ดร.อัมรินทร์ พิมพ์หนู หัวหน้าโครงการ National Space Exploration หรือ NSE จากจิสด้า กล่าวว่า แนวทางการวิจัยในปีนี้ เน้นการทดลองในหลากหลายสาขาทั้ง สาขาฟิสิกส์ วัสดุศาสตร์ เคมี หรือชีววิทยา เป็นต้น ที่สามารถดำเนินการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำหรือในอวกาศ ซึ่งที่ไม่เคยมีผู้ใดทำการทดลองมาก่อน สำหรับปี 2560 ที่ผ่านมา มีงานวิจัยที่ได้รับคัดเลือก 4 ผลงาน ได้แก่ การวิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์ของโปรตีน-สารยับยั้งและโปรตีน-โปรตีนสำหรับการพัฒนายาต้านมาลาเรีย (Analysis of Protein-Protein Interaction for Anti-malarial Drug Development) อาหารไทยไปอวกาศ (Thai Food to Space) การชักนำหัวของพืชสร้างหัวภายใต้สภาวะไร้น้ำหนัก (Micro-tuberization in tuber crop species under microgravity environments) และเครื่องพิมพ์สามมิติผลิตอาหารในอวกาศ (Personalized Food Fabrication in Space)


จิสด้า และสวทช. ได้ร่วมกันออกแบบและพัฒนาชุดทดลองสำหรับงานวิจัยทั้ง 4 ชิ้นงาน และได้ร่วมมือกับหน่วยงานด้านอวกาศประเทศจีน (CNSA) และหน่วยงานอวกาศประเทศญี่ปุ่น (JAXA) เพื่อทำการศึกษาความเป็นไปได้ของการทดลอง รวมถึงเตรียมส่งการทดลองขึ้นสู่อวกาศ โดยเบื้องต้นจิสด้า ได้จัดตั้งห้องปฏิบัติการอวกาศ ณ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ ศรีราชา จ.ชลบุรี เพื่อรองรับงานวิจัยด้านอวกาศที่จะเกิดขึ้นภายในประเทศไทย และเปิดโอกาสให้นักวิจัยได้ใช้อุปกรณ์ต่างๆ ภายในห้องปฏิบัติการ เช่น Clinostat หรือ Vacuum Chamber ในการทดสอบงานวิจัยในสภาวะอวกาศบนภาคพื้นดินก่อนที่จะส่งขึ้นไปดำเนินการจริงบนอวกาศ


“โครงการ NSE เป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันวงการวิจัยไทยและนักวิจัยชาวไทยให้มีโอกาสสร้างสรรผลงานและองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เพื่อก่อให้เกิดนวัตกรรมอวกาศที่สามารถนำไปใช้ได้จริง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทดลองในอวกาศและสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงได้เทียบเท่ากับต่างประเทศ เพื่อนำไปสู่พัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวไทยให้ดียิ่งขึ้น