7 สัญญาณอันตราย เสี่ยงมะเร็ง!

7 สัญญาณอันตราย เสี่ยงมะเร็ง!

7 สัญญาณอันตราย เสี่ยงมะเร็ง!

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สถานการณ์โรคมะเร็งในประเทศไทยจากสถิติพบว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 รองลงมา คือ อุบัติเหตุ และโรคหัวใจ

ซึ่งข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงสาธารณสุขยังพบว่าคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งประมาณ 70,000 คนต่อปี หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 8 ราย โดยโรคมะเร็งที่ทำให้เสียชีวิตมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ และ ทวารหนัก และ มะเร็งปากมดลูก ตามลำดับ การตรวจสุขภาพคัดกรองโรคมะเร็ง เพื่อค้นหาโรคหรือภาวะผิดปกติตั้งแต่ระยะเริ่มแรกสามารถรักษาให้หายได้ ซึ่งโรคมะเร็งแต่ละชนิดจะมีการดำเนินของโรคและวิธีการรักษาที่แตกต่างตามอวัยวะที่เป็นมะเร็งระยะของมะเร็งสภาพร่างกายและโรคประจำตัวของผู้ป่วยมะเร็ง

นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งจำเป็นต้องพิจารณาตามความเสี่ยงของแต่ละบุคคล เริ่มจากการซักประวัติทั่วไปเรื่องพฤติกรรมที่ไม่ดีสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งและมีอาการแสดงของ 7 สัญญาณอันตรายต่อเนื่องนานเกิน 2 สัปดาห์หรือไม่ อันได้แก่ ระบบขับถ่ายที่ผันแปร แผลที่ไม่รู้จักหาย ร่างกายมีก้อนตุ่ม กลุ้มใจเรื่องกินกลืนอาหาร ทวารทั้งหลายมีเลือดหรือสิ่งผิดปกติไหลไฝหรือหูดที่เปลี่ยนไปไอ หรือเสียงแหบเรื้อรัง การซักประวัติครอบครัวว่า มีใครเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตจากโรคมะเร็งหรือไม่ การตรวจร่างกายทั่วไปและการคลำหาก้อนผิดปกติ ในตำแหน่งที่มีต่อมน้ำเหลืองอยู่มากกว่าตำแหน่งอื่นเช่น ลำคอ ข้อพับต่างๆ รักแร้ ไหปลาร้า ขาหนีบ ข้อศอก ข้อเข่า การตรวจช่องท้องคลำตับคลำม้ามว่าโตผิดปกติหรือไม่ คลำหาก้อนผิดปกติในช่องท้อง ตรวจภายในทางทวารหนัก เพื่อค้นหาความผิดปกติของทวารหนักต่อมลูกหมากในเพศหญิงควรตรวจคลำหาก้อนผิดปกติบริเวณเต้านม รวมไปถึงการตรวจภายในเพื่อเอาเซลล์ปากมดลูกไปตรวจว่าผิดปกติหรือไม่

นอกจากนั้น คือการตรวจทางห้องปฏิบัติการเริ่มจากการเจาะเลือดตรวจปัสสาวะ อุจจาระ การตรวจเชื้อไวรัสตับอักเสบเรื้อรังชนิดบี หรือชนิดซี เพราะจะทำให้เกิดภาวะตับแข็งและกลายเป็นมะเร็งเซลล์ตับในที่สุด การตรวจหาเชื้อไวรัสหูดหรือไวรัสเอชพีวีจากสารคัดหลั่งในช่องคลอด ที่เป็นสาเหตุของเป็นมะเร็งปากมดลูกได้และการตรวจทางรังสีวินิจฉัยของอวัยวะต่างๆเพิ่มเติมของบุคคลนั้นๆ หลังจากประมวลผลข้อมูลทั้งหมดตั้งแต่ประวัติผลการตรวจร่างกาย และผลการตรวจต่างๆ ดังกล่าวก็จะทราบว่าบุคคลนั้นมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งอวัยวะใดมากกว่าคนปกติ โดยควรตรวจสุขภาพเพื่อค้นหาโรคมะเร็งระยะเริ่มต้นอย่างน้อยปีละครั้ง เพราะมะเร็งระยะเริ่มต้นมีโอกาสหายขาดสูง

7 สัญญาณอันตราย เสี่ยงมะเร็ง!