โคมส่องทารกตัวเหลือง ติดไอโอทีสั่งผ่านสมาร์ทโฟน

โคมส่องทารกตัวเหลือง  ติดไอโอทีสั่งผ่านสมาร์ทโฟน

เครื่องมือแพทย์ไทยทำเติมฟังก์ชั่นไอโอที ตอบโจทย์แก้ปัญหาทารกตัวเหลือง เป็นผลงานวิจัย รพ.พญาไท2 ช่วยผู้ดูแลสามารถควบคุมการส่องไฟรักษาผ่านโทรศัพท์มือถือในราคาถูกกว่าเทคโนโลยีนำเข้า 3 เท่า เตรียมเก็บข้อมูลเชิงลึกยื่นจดทะเบียนเครื่องมือแพทย์

หวังส่งต่อโรงพยาบาลทุกระดับให้คนไทยเข้าถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์

(ภาพจาก www.amarinbabyandkids.com)

“ปัจจุบันเราร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ในการวิจัยเพื่อเก็บเคสการรักษาให้ได้มากที่สุด โดยได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ระยะเวลา 2 ปี ทั้งนี้ จุดมุ่งหมายหลักของทีมวิจัยคือ การสร้างองค์ความรู้ของคนไทยในราคาที่เหมาะสมแล้วส่งต่อไปยังโรงพยาบาลทุกระดับ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาได้ทันท่วงที” ประภาศรี เบญจศิริลักษณ์ นักวิจัยจากศูนย์วิจัยและพัฒนาวิชาการ รพ.พญาไท2 กล่าว

ควบคุมการส่องไฟด้วย IoT

ภาวะตัวเหลืองในเด็ก เกิดจากสารสีเหลืองที่ชื่อว่า บิริลูบิน ในเลือดสูงกว่าปกติ หากไม่รีบรักษาจะส่งผลให้สมองพิการและเสียชีวิตได้ พบได้มากถึง 35% ของทารกแรกคลอด ใกล้เคียงกับอัตราที่พบใน รพ.พญาไท2 ก็สูงถึง 30% ของทารกแรกคลอดทั้งหมด

การรักษาที่เกิดผลกระทบแก่ทารกน้อยที่สุด คือการรักษาด้วยวิธีการส่องไฟ (Phototherapy) โดยใช้เครื่องส่องไฟที่นำเข้าจากต่างประเทศ และกว่า 80% ของเครื่องชนิดนี้จะใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์ ซึ่งมีข้อด้อยอยู่หลายประการ เช่น ความร้อนที่เพิ่มมากขึ้นตามความเข้มแสง ซึ่งอาจทำให้ทารกมีไข้และขาดน้ำ หลอดไม่สามารถควบคุมการปลดปล่อยแสงที่มีความยาวคลื่นจำเพาะได้ จึงเกิดแสงช่วงคลื่นอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต่อการรักษาและส่งผลเสียแก่ผิวหนังที่บอบบางของทารก หลอดมีอายุการใช้งานสั้นและหากแตกจะทำให้เกิดเศษแก้วและปล่อยไอปรอทออกมาเป็นขยะอันตราย

“เครื่องส่องไฟแองอีดีที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาสูง 2-3 แสนบาทต่อเครื่อง ทำให้โรงพยาบาลขนาดเล็ก หรือโรงพยาบาลชุมชนต้องส่งตัวเด็กมาที่โรงพยาบาลศูนย์ ซึ่งอาจใช้เวลานานกว่าที่จะได้รับการรักษา จึงวางโจทย์ในการพัฒนาเครื่องส่องไฟที่มีประสิทธิภาพเทียบเคียงเครื่องนำเข้าในราคาจับต้องได้”

แสงแอลอีดีประสิทธิภาพสูงควบคุมได้ด้วยระบบดิจิทัล เป็นคีย์เวิร์ดที่จะตอบโจทย์วิจัยนี้ เพราะเมื่อเป็นระบบดิจิทัลก็สามารถเชื่อมโยงและควบคุมการทำงานผ่านอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีไอโอที (IoT-Internet of Things) จึงนำมาสู่การพัฒนาระบบไอโอทีควบคุมเครื่องส่องไฟแอลอีดี โดยความร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ทั้งยังประยุกต์สู่การพัฒนาชุดควบคุมเครื่องส่องไฟแบบอัตโนมัติที่มีระบบสมองกลฝังตัวช่วยควบคุมการทำงานให้มีประสิทธิภาพ

ระบบสมองกลฝังตัวนี้จะเรียนรู้ลำดับการทำงานและเงื่อนไขการตัดสินใจ เพื่อให้สามารถปรับลดหรือเพิ่มความเข้มของแสงผ่านปุ่มควบคุมบนตัวเครี่อง หรือเรียกดูค่าการทำงานของโคมไฟในส่วนของความเข้มเชิงสเปกตรัม อุณหภูมิโคมไฟ ปฏิทินเวลาผ่านหน้าจอแสดงผล

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีไอโอทีเชื่อมต่อข้อมูลเครื่องมือแพทย์นี้ ทำให้สามารถเรียกดูหรือควบคุมการทำงานของเครื่องผ่านอุปกรณ์มือถือได้ ในกรณีที่ไม่ได้อยู่หน้างาน แถมยังติดตามผลได้อีกด้วย

เพิ่มคุณภาพชีวิตทารก

“ปัจจุบันเราสามารถพัฒนาเครื่องส่องไฟที่ปรับแสงและระดับความเข้มของแสงได้ตามที่แพทย์วินิจฉัยว่าเหมาะสมกับทารก ในขณะที่เครื่องนำเข้าสามารถปรับได้เพียง 2 ระดับ และหลอดแอลอีดียังสามารถเปล่งแสงที่มีความยาวคลื่นจำเพาะโดยไม่คายความร้อนและรังสีเหนือม่วงที่อาจมีผลข้างเคียงต่อทารกอีกด้วย”

ทั้งยังออกแบบตัวเครื่องให้สามารถถอดชิ้นส่วนเพื่อนำไปใช้ในรถพยาบาล ในขณะที่เครื่องส่องไฟเดิมที่มีอยู่ไม่สามารถทำได้ ส่วนต้นทุนจะถูกกว่าเครื่องนำเข้าราว 3 เท่า แต่มีประสิทธิภาพเทียบเคียงกัน ในขณะเดียวกันก็เติมฟังก์ชั่นที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องการใช้เพื่อช่วยทารกให้ดีที่สุด

โดยชุดโคมไฟแอลอีดีกำลังสูงเพื่อรักษาภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดนั้นได้รับการรับรองมาตรฐานจากสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ และเตรียมจะจดทะเบียนเครื่องมือแพทย์เพื่อต่อยอดการใช้งานให้แพร่หลาย นอกจากนี้ยังได้รับรางวัล Best Innovation ในการประชุมวิชาการบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ประจำปี 2561 (BDMS Academic Annual Meeting 2018) มีผู้เชี่ยวชาญทุกสาขาการแพทย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มาร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ให้บุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่สนใจ