'สุเทพ' แจงรายละเอียดสัญญาสร้างโรงพักทดแทน

'สุเทพ' แจงรายละเอียดสัญญาสร้างโรงพักทดแทน

"สุเทพ" แจงรายละเอียด สัญญาสร้างโรงพักทดแทน ย้อนถาม "อดีตผช.ผบ.ตร." เมื่อรู้ว่าโครงการมีทุจริตทำไมไม่ดำเนินคดี

เมื่อวันที่ 18 ส.ค.61 ที่อาคารทูแปซิฟิค นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย และ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ไลฟ์สดผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติแจ้งข้อกล่าวหาตนเองและพวกรวม 17 คน ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ กรณีสร้างแฟลตตำรวจ 163 แห่ง และโรงพักทดแทน 396 แห่ง ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ว่าวันนี้ (18ส.ค.) เป็นอีกวันที่ผมจะมากล่าวถึงรายละเอียดลึกๆ ในหนังสือ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอถึงผม แต่ละครั้งเขาเสนอด้วยเหตุผลอย่างไร ถึงทำให้ผมต้องให้ความเห็นชอบ ตามที่เขาเสนอ ฉบับแรก ฉบับวันที่ 29 พ.ค.2552 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.ในขณะนั้น เป็นผู้เสนอ ในหนังสือฉบับนี้ เขาเท้าเรื่องเดิมความถึงเรื่องที่ครม.อนุมัติให้ดำเนินการโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจ และข้อเท็จจริง ว่าครม.ประชุมปรึกษาเมื่อวันที่ 17 ก.พ. อนุมัติหลักการโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ

โดยให้ดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณ และให้ยกเว้นการปฏิบัติตาม มติครม.เมื่อวันที่ 10 ก.พ.เรื่องการปรับปรุงแก้ไขมติครม.ที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ และมาตราอื่นที่เกี่ยวข้อง ในข้อ 2 เขาบอกไว้เลยว่า สำนักงบฯมีความเห็นให้ สตช. ดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจในส่วนที่จำเป็นเร่งด่วนที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 30 ปีขึ้นไปจำนวน 396 หลังภายในวงเงิน 6,672 ล้านบาท ในลักษณะก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณระยะเวลา 3 ปี พ.ศ.2552-2554 โดยค่าใช้จ่ายในปีงบประมาณ 2552 ให้สตช.ปรับแผนปฏิบัติการของตัวเอง นำเงินมาใช้ในโครงการนี้ 333.6 ล้านบาทงบประมาณส่วนที่เหลือผูกพันงบประมาณรายจ่ายปี 2553 และ 2554 โดยให้สตช.เสนอขอตั้งงบประมาณประจำปีรองรับค่างานตามสัญญา ให้ไปตกลงรายละเอียดค่าใช้จ่ายกับสำนักงบฯอีกครั้ง แล้วต้องนำเสนอครม.เพื่อพิจารณาอนุมัติให้ก่อหนี้ผูกพันงบประมาณข้ามปีงบประมาณรายการดังกล่าว

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า ตรงนี้อยากจะเน้นกับประชาชนว่า ที่อ่านให้ฟังว่า สตช.ระบุว่า สำนักงบฯมีความเห็น จะเห็นว่าเกี่ยวกับเรื่องงบประมาณที่ใช้ในปี 2552 เอามาจากไหนงบประมาณปี 53-54 จะเอามาจากไหน จะต้องขออนุมัติครม.เรื่องการผูกพันงบประมาณข้ามปี ไม่มีเลยตรงไหนที่จะเขียนว่าสำนักงบฯจะมีความเห็นว่าต้องใช้วิธีการจัดจ้างแบบรายภาค 9 ภาค วิธีการจัดจ้างรายภาคแบบ 9 ภาคนั้นเป้นเรื่องที่ทางสตช.ไปตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาว่าแนวทางที่จะจัดจ้าง 1.รวมการในครั้งเดียวสัญญาเดียว 396 หลัง 2.รวมการครั้งเดียว แยกเสนอเป็นรายภาค ภาค 1-9 ทำสัญญา 9 สัญญา 3.จัดจ้างโดยตำรวจภูธรภาค 4.จัดจ่างโดยตำรวจภูธรจังหวัด กรรมการชุดนี้มี พล.ต.ท.พงศ์พัศ พงษ์เจริญ ผช.ผบ.ตร. เป็นประธานกรรมการ

นายสุเทพกล่าวต่อว่า การที่เอาชื่อ พล.ต.ท.พงศ์พัศ มาพูดถึงเพราะมีชื่ออยู่ในเอกสารนี้ และพล.ต.อ.พงศ์พัศ เป็นผู้สมัคร ของพรรคเพื่อไทยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่ากทม.พร้อมกับม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ในวันนั้นพรรคเพื่อไทยออกมาโจมตีว่าผมทุจริตโครงการนี้และเป็นบอกว่าพล.ต.อ.พงศ์พัศ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องนั้น ไม่จริง ในเอกสารนี้มี คณะกรรมการที่มีพล.ต.อ.พงศ์พัศ เป้นประธานได้พิจารณาข้อดีข้อเสียและมีมติว่าเห็นควรดำเนินการสร้างโดยแยกการเสนอราคาเป็นรายภาค พล.ต.อ.พัชรวาทก็เห็นชอบด้วย และก็นำเสนอผมพิจารณาว่า เห็นควรดำเนินการจัดจ้างโดยส่วนกลางครั้งเดียว

โดยแยกการเสนอราคาเป็นรายภาค เสนอให้พิจารณาให้ความเห็นชอบหรือเห็นควรประการใดได้โปรดสั่งการ ตรงนี้ถ้าประชาชนเป็นรองนายกรัฐมนตรี ที่รับผิดชอบ สตช.เหมือนอย่างผมในวันนั้น ฟังเหตุผลข้อเสนอขั้นตอนการปฏิบัติที่สตช.เสนอมา ผมก็เชื่อว่าประชาชนต้องให้ความเห็นชอบอย่างที่ผมให้ความเห็นชอบ ผมจึงได้สั่งการว่าเห็นชอบเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2552 นี่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ ตามปกติโดยสุจริตชอบธรรมไม่มีเป้าหมายอะไรแอบแฝง ผมเห็นชอบตามนี้แล้วไม่มีโอกาสทราบว่าใครเป็นผู้ได้รับสัญญาใครชนะประมูลประกวดราคาทั้ง9 ภาคนั่นเป็นเรื่อง ที่สตช.จะต้องดำเนินการเป็นกระบวนการที่สตช.จะต้องปฏิบัติและมีข้อกฎหมายมีระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยการพัสดุว่าด้วยวิธีผ่านอิเล็คทรอนิคกำหนดเอาไว้ ถ้าใครฝ่าฝืนหรือทำผิดจะต้องถูกดำเนินคดี

นายสุเทพ กล่าวอีกว่า หลังจากที่อนุมัติไม่เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2552 แล้ว สตช.ไปตั้งคณะกรรมการฯ กำหนดทีโออาร์ สเป็ก คุณสมบัติผู้เข้าร่วมประมูล วิธีการประมูลแบบอีอ๊อคชั่น จนเกือบจะได้ผู้ดำเนินการทาง อีอ๊อคชั่นแล้ว พล.ต.อ.พัชรวาทพ้นตำแหน่งไม่ได้เป็นผบ.ตร. พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ ได้รับการแต่งตั้งมาเป็นผู้รักษาราชการ ผบ.ตร. พล.ต.อ.ปทีป เข้าไปดูเรื่อง และบรรดาตำรวจที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่รับผิดชอบ เขาพิจารณาดำเนินการจัดจ้างและเขาเห็นปัญหาและทำหนังสือมาถึงผมใหม่เมื่อวันที่ 18 พ.ย.2552 ในการทำหนังสือมา ทางสตช.เสนอมาที่ผมว่าวิธีการจัดจ้างที่อนุมัติไปเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2552 จะปฏิบัติไม่ได้ ขัดต่อกฎหมายงบประมาณ โดยให้เหตุผลมาชัดเลยว่า พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี 2553 สตช. ได้รับการจัดสรรงบประมาณดำเนินโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่งในวงเงิน 6,298 ล้านบาท โดยเบิกจ่ายจากงบประมาณปี 2552 จำนวน 311 ล้านบาท และผูกพันงบประมาณรายจ่ายปี 2553 จำนวน 1,174 ล้านบาท และปี 2554 จำนวน 4,812 ล้านบาท

สตช.ยกระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยการพัสดุ วิธีการทางอิเล็คทรอนิค พ.ศ.2549 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐพ.ศ.2542 เอกสารแนบ 9 และทางสตช.บอกว่าได้พิจารณาตามระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็คทรอนิค และระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แล้วพบว่าโครงการก่อสร้างอาคารฯ 396 แห่ง ครม.อนุมัติเมื่อวันที่ 17 ก.พ.2552 เป็นโครงการที่ครม.อนุมัติในลักษณะโครงการเดียว ผูกพันงบประมาณ พ.ศ.2552-2553-2554 จำนวนเงิน 6,298 ล้านบาท การดำเนินการจัดจ้าง จึงจำเป็นต้องประกาศประกวดราคาจัดจ้างในครั้งเดียวแล้วถ้าทำอย่างนี้จะทำให้เปิดกว้าง และภาคเอกชนทุกรายสามารถเข้าเสนอราคาได้อย่างเป็นธรรม ทำให้ได้ผู้ประกอบการอย่างมีความพร้อม และมีความมั่นคงทางการเงินสามารถเสนอราคาได้ต่ำกว่างบประมาณทำให้ประหยัดงบประมาณ อาจก่อสร้างได้ในระยะเวลาที่กำหนด

สอดคล้องกับการเบิกจ่ายงบประมาณในปี 2552-2554 สตช.สามารถบริหารสัญญากับผู้ประกอบการายเดียว หรือผู้ประกอบกิจการหลายรายที่เสนอราคาร่วมกันในลักษณะกิจการร่วมค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสตช. และเขายกตัวอย่างเช่น อาทิก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา หรือการทิ้งงานจะต้องฟ้องร้องค่าเสียหายจากคู่สัญญา เขาให้เหตุผลมาอย่างนี้ข้อเท็จจริงคือวันที่ผมอนุมัติตามข้อเสนอของสตช.ที่พล.ต.อ.พัชรวาท เป็น ผบ.ตร.นั้น ยังไม่มีกฎหมายประมาณรายจ่ายปี 2553 เพราะผมอนุมติเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2552 งบประมาณรายจ่ายปี 2553 เกิดขึ้นในเดือนต.ค.2552 และ ผมไปเปิดดูรายการในเล่มที่ 10 อยู่ที่หน้า 134 เขียนเลยว่าค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้างโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่ง 1,174 ล้านบาท ตามที่ พล.ต.อ.ปทีป เสนอมา

เขาบอกเลยว่าประมาณทั้งสิ้น 6,298 ล้านบาท ปี 2552 ตั้งงบประมาณ 311 ล้านบาท ปี 2553 จำนวน 1,174 ล้านบาท และปี 2554 จำนวน 4,812 ล้านบาท เป็นโครงการเดียวจริงๆ ผมจึงเชื่อ เชื่อตามที่สตช.เสนอว่า เมื่อเป็นพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายแผ่นดินออกมาใช้บังคับแล้ว แก้ไขไม่ได้ ไม่สามารถที่จะเอาโครงการที่มีโครงการเดียว แตกย่อยเป็น 9 โครงการ ไปแยกประมูล ทำสัญญา 9 สัญญาได้ เหตุนี้เป็นเหตุผลที่สมัยพล.ต.อ.พัชวาท ไม่เคยเสนอผมพิจารณา เพราะในขณะนั้น ยังไม่มีพ.ร.บ.กฎหมายประมาณรายจ่ายปี 2553 ยังไม่มีการตั้งงบประมาณแยกเป็นปีๆ เพราะฉะนั้นเมื่อผมพิจารณาอย่างนี้ ผมก็ต้องเชื่อ พล.ต.อ.ปทีป เสนอ ผมก็อนุมัติตามที่เขาเสนอ

นายสุเทพกล่าวต่ออีกว่า การปฏิบัติหน้าที่ การสั่งราชการคราวนี้ ผมก็สั่งราชการ โดยใช้ดุลยพินิจด้วยเหตุ ด้วยผล ด้วยข้อเท็จจริงโดยบริสุทธิ์ใจ ไม่มีเจตนาทุจริต และผมอนุมัติไปเมื่อวันที่ 20 พ.ย.2552 ผมไม่มีทางที่จะทราบได้เลยว่า ในการไปดำเนินการไปประกวดราคาตามระเบียบที่สตช. ไปปฏิบัตินั้น จะได้ใครเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด จะได้ใครเป็นผู้รับจ้างเพราะผมอนุมัติวันที่ 20 พ.ย.เขาไปประกวดราคาวันที่ 29 ก.ค.2553 อีก 7 เดือนหลังจากนั้น เพราะฉะนั้นถึงได้บอกว่า หากพิจารณาตามข้อเท็จจริงตามเหตุผลตามหลักฐานเอกสารทางราชการไม่มีอะไรซับซ้อนไม่มีอะไรที่จะมาตั้งข้อสงสัยว่าผมทุจริตเลย เพราะทั้งหมด ผมพิจารณาตามเหตุผลตามข้อเสนอของสตช.และมีเหตุผลข้อเท็จจริงครบถ้วน

ส่วนที่พรรคเพื่อไทยได้กล่าวหาในช่วงที่พล.ต.อ.พงศพัศ หาเสียงเป็นผู้ว่ากทม.ว่า พล.ต.อ.พงศพัศ ไม่เกี่ยวข้อง พล.ต.อ.พงศพัศ ดำรงตำแหน่งเป็นผช.ผบ.ตร.เรื่องจะเสนอ พล.ต.อ.พัชรวาท เสนอ พล.ต.อ.ปทีป ต้องผ่านพล.ต.อ.พงศพัศ ถ้า พล.ต.อ.พงศพัศ เชื่อ อย่างที่พรรคเพื่อไทยกล่าวหาผม ว่าผมทุจริต โครงการนี้มีทุจริต ทำไม พล.ต.อ.พงศพัศ ที่มีตำแหน่ง ผช.ผบ.ตร .จึงเซ็นหนังสือให้ความเห็นชอบมาตามลำดับ ถ้าพล.ต.อ.พงศพัศ รู้ว่าผมทำผิด ทำไมไม่ดำเนินคดี การไม่ดำเนินคดีทั้งๆที่รู้ เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ทำไมป.ป.ช.ไม่สนใจประเด็นนี้ ทำไมมุ่งมาที่ผม ทั้งๆที่ในทุกขั้น ทุกตอนของการพิจารณาดำเนินการของสตช.เขามีความเหมาะสม มีความสมบูรณ์ อย่างนี้ ทุกขั้นทุกตอนทำอนุกรรมการไต่สวนป.ป.ช.จึงไปฟังพรรคเพื่อไทย แล้วไม่ฟังเหตุผลข้อเท็จจริงหลักฐานของผม ผมจึงมีสิทธิสงสัยว่า มีอคติกับผมหรือ ตอนต่อไปผมจะมาบอกประชาชนทำไมถึงอนุมัติให้เขาทำ โครงการนี้