จุฬาฯเปิดแล็บนวัตกรรมฮาลาล

จุฬาฯเปิดแล็บนวัตกรรมฮาลาล

จุฬาฯ เปิดตัวห้องปฏิบัติการวิจัยฮาลาล “ตันสรี ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ” ตอกย้ำไทยเป็นฮับด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลโลก นำร่องอุตสาหกรรมอาหารก่อนขยายไปยังเครื่องสำอางและยา

จุฬาฯ เปิดตัวห้องปฏิบัติการวิจัยฮาลาล “ตันสรี ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ” เพื่อเป็นเกียรติในคุณงามความดี ตอกย้ำไทยเป็นศูนย์กลางด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลโลก นำร่องอุตสาหกรรมอาหารก่อนขยายไปยังเครื่องสำอางและยา

รศ.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) เปิดเผยว่า “ห้องปฏิบัติการวิจัยและนวัตกรรมฮาลาล ตันสรี ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ” ตั้งขึ้นเป็นเกียรติแก่นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ ที่ได้สร้างคุณูปการต่อเรื่องฮาลาลประเทศไทยและประชาคมโลก โดยใช้งบลงทุนกว่า 500 ล้านบาท ประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการทางด้านเคมี ห้องปฏิบัติการทางด้านเครื่องสำอาง ห้องปฏิบัติการทางด้านนาโนเทคโนโลยีและห้องปฏิบัติการทางด้านดีเอ็นเอและชีวโมเลกุล รองรับการตรวจสอบการปนเปื้อนของดีเอ็นเอสุกรในผลิตภัณฑ์ สัดส่วนกรดไขมัน เอทิลแอลกอฮอล์และเจลาติน เป็นต้น

นอกจากนี้ ในอนาคตจะพยายามผลักดันให้ผู้ประกอบการไทย ขยายตลาดฮาลาลจากกลุ่มอาหารไปยังตลาดเครื่องสำอางและยามากขึ้น ตามแนวโน้มความต้องการของตลาดจากปัจจุบันสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่เข้ามาใช้บริการ 90%เป็นผลิตภัณฑ์อาหาร ที่เหลือ 10% เป็นเครื่องสำอางและยา เป้าหมายเพื่อตอกย้ำว่า ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลโลก

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2546 เพื่อตรวจสอบการปนเปื้อนในวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ เป็นที่แรกของโลก โดยพัฒนางานด้านนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาลขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม

“จากประสบการณ์ 15 ปี ยังไม่มีประเทศไหนที่สามารถตรวจผลิตภัณฑ์ได้เกิน 1 แสนผลิตภัณฑ์ แต่ที่ศูนย์ฯ สามารถตรวจผลิตภัณฑ์ไปแล้วกว่า 1.10 แสนผลิตภัณฑ์ จึงเป็นที่ยอมรับของทั่วโลกว่า เป็นที่หนึ่งในเรื่องการตรวจสอบความปลอดภัยด้านฮาลาลและเป็นต้นแบบทั่วโลก โดยมีประเทศต่างๆ ทั้งที่เป็นมุสลิมและไม่เป็นมุสลิมเข้ามาศึกษาดูงานและอบรมด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล ทั้งได้รับการประกาศเกียรติคุณว่าเป็นหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลแห่งแรกในโลก"

ตลาดสินค้าและบริการฮาลาลเป็นตลาดใหญ่ที่มีมูลค่าเพิ่มทุกปีรวมทั้งที่เป็นสินค้าเพื่ออุปโภค บริโภคและการให้บริการ ประมาณปีละ 2.3 ล้านล้านดอลลาร์หรือ 75.9 ล้านล้านบาท ประเทศไทยจำเป็นต้องมองผลิตภัณฑ์ฮาลาลใหม่ เพราะถ้าเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ไทยยังส่งออกน้อยเพราะมองว่า ตลาดฮาลาลเล็กมีสัดส่วนเพียงแค่ 17% ของตลาดอาหารโลก และกลุ่มลูกค้าหลักเป็นผู้บริโภคมุสลิมเท่านั้น แต่ปัจจุบันสัดส่วน 89% ของประชากรทั่วโลกเป็นผู้บริโภคอาหารฮาลาล

ดังนั้น จึงควรเร่งพัฒนาและให้ความรู้ว่าฮาลาลเป็นเรื่องของความปลอดภัย เพราะปัจจุบันผลิตภัณฑ์ฮาลาลมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และประชากรมุสลิมกำลังขยายตัวอย่างก้าวกระโดด คาดว่าในปี 2573 จะมีประชากรมุสลิมทั่วโลกกว่า 2,200 ล้านคน คิดเป็น 26.4% ของประชากรทั้งโลกจากปัจจุบันมีอยู่ 2,000 ล้านคนหรือ 25%

ที่สำคัญคือ ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพการผลิตอาหารถึงระดับส่งออกอาหารไปยังตลาดโลก ด้วยศักยภาพดังกล่าวส่งผลให้ไทยได้เร่งพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการ โดยมุ่งหวังผลักดันผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลไทยให้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในตลาดโลก จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งศูนย์วิทย์ฯฮาลาล นอกจากนั้นยังมีศูนย์วิทย์ฯ ในสังกัดอยู่ที่ สำนักงานปัตตานี รับผิดชอบงานในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) และ สำนักงานเชียงใหม่ รับผิดชอบงานในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางตอนบน และงานอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS)