วิตกศก.ยูโรโซน-ค่าเงินตุรกีฉุดหุ้นยุโรปปิดร่วง

วิตกศก.ยูโรโซน-ค่าเงินตุรกีฉุดหุ้นยุโรปปิดร่วง

ตลาดหุ้นยุโรป ปิดตลาดวันศุกร์ (10ส.ค.)ตามเวลาท้องถิ่น ปรับตัวลดลงอย่างหนักจากความกังวลว่าปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในตุรกีจะส่งผลกระทบไปถึงประเทศอื่นๆในยูโรโซน หลังจากที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการดิ่งลงของค่าเงินลีรา

ดัชนีสต็อกยุโรป 600 ร่วงลง 4.19 จุด หรือ 1.07% ปิดที่ 385.86 จุด และลดลง 0.9% ตลอดทั้งสัปดาห์ ดัชนีดีเอเอ็กซ์ ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 12,424.35 จุด ลดลง 251.76 จุด หรือ -1.99% ดัชนีซีเอซี-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,414.68 จุด ลดลง 87.57 จุด หรือ -1.59% และดัชนีเอฟทีเอสอี 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,667.01 จุด ลดลง 74.76 หรือ -0.97%

ตลาดหุ้นทั่วยุโรปปรับตัวลดลงอย่างหนักในวันศุกร์ ซึ่งรวมถึงดัชนีเอฟทีเอสอี เอ็มไอบี ของอิตาลีที่ร่วงลงไป -2.51% และดัชนีไอเบ็กซ์ 35 ของสเปนที่ลดลง -1.56% หลังจากที่หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทม์ส รายงานว่า ธนาคารกลางยุโรปได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการดิ่งลงของค่าเงินลีราของตุรกีที่จะมีต่อธนาคารยุโรป โดยเฉพาะธนาคารบีบีวีเอ ของสเปน, ธนาคารยูนิเครดิต ของอิตาลี และธนาคารบีเอ็นพี พาริบาส์ของฝรั่งเศส

ทั้งนี้ ลีราได้ทรุดตัวลง 33% เทียบดอลลาร์ตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และการที่รัฐบาลตุรกีใช้งบประมาณจำนวนมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งการที่นายเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี ได้เข้าแทรกแซงนโยบายการเงินของธนาคารกลาง

การดิ่งลงของค่าเงินลีราจะส่งผลกระทบต่อธนาคารยุโรปที่ได้เข้าไปทำธุรกิจในตุรกี โดยอีซีบีวิตกว่าการทรุดตัวของค่าเงินจะทำให้ภาคธุรกิจของตุรกีผิดนัดชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศ เนื่องจากจะทำให้ลูกหนี้ในตุรกีต้องชำระหนี้ในมูลค่าของลีราที่สูงขึ้น โดยหนี้สกุลเงินต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 40% ของสินทรัพย์ในภาคธนาคารของตุรกี

ข้อมูลจากธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (บีไอเอส) ระบุว่า ภาคธนาคารของสเปนได้ปล่อยสินเชื่อแก่ตุรกีคิดเป็นวงเงิน 8.33 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่ธนาคารฝรั่งเศสปล่อยสินเชื่อ 3.84 หมื่นล้านดอลลาร์ และธนาคารอิตาลีปล่อยสินเชื่อ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ ประเทศในยูโรโซน เกินดุลการค้ากับตุรกี โดยส่งออกคิดเป็นมูลค่า 6.3 หมื่นล้านยูโรในปีที่แล้ว ดังนั้น หากตุรกีประสบภาวะเศรษฐกิจล่มสลาย ก็จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของยูโรโซนเช่นกัน

ข่าวดังกล่าวฉุดเงินยูโรดิ่งหนักเทียบดอลลาร์ โดยร่วงลงไปถึงเกือบ 1% สู่ระดับต่ำกว่า 1.1500 ดอลลาร์เป็นครั้งแรกในรอบกว่าหนึ่งปี