กรมบัญชีกลาง ปรับปรุงวิธีปฏิบัติเบิกจ่ายตรงค่ารักษาฯผู้ป่วยนอกเพิ่มเติ

กรมบัญชีกลาง ปรับปรุงวิธีปฏิบัติเบิกจ่ายตรงค่ารักษาฯผู้ป่วยนอกเพิ่มเติ

"กรมบัญชีกลาง" ปรับปรุงวิธีปฏิบัติการเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกเพิ่มเติม เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ภายหลังจากกรมบัญชีกลางได้ปรับเปลี่ยนระบบการเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอก โดยใช้บัตรประชาชนแสดงสิทธิเพื่อประกอบการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลทุกครั้งที่เข้ารับการรักษา ตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2561 ในภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีบางกรณีที่ต้องปรับปรุงเพื่อให้เกิดความคล่องตัวของผู้ปฏิบัติงานและผู้มีสิทธิให้มากขึ้น กรมบัญชีกลางจึงได้กำหนดวิธีปฏิบัติเพิ่มเติม ดังนี้

1. หลังจากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาและทำธุรกรรมแล้ว จะได้รับใบแสดงรายการค่าใช้จ่าย (Sale Slip) เพียง 1 ใบ และไม่ต้องลงนามใน Sale Slip ซึ่งเดิมสถานพยาบาลต้องพิมพ์ Sale Slip จำนวน 2 ใบ ให้ผู้ป่วย 1 ใบ และสำหรับสถานพยาบาลเก็บไว้เอง 1 ใบ

2. ผู้ป่วยบางกรณีไม่ต้องแสดงตน ณ สถานพยาบาล ประกอบด้วย (1) ผู้ป่วยโรคจิตเวช (2) ผู้ป่วยที่ป่วยระยะสุดท้ายของโรค (Palliative Care) และ (3) ผู้ป่วยที่มีกำหนดนัดเข้ารับการรักษาประเภทผู้ป่วยนอก ณ สถานพยาบาลแห่งอื่น ในขณะที่ตนเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน ณ สถานพยาบาลอีกแห่งหนึ่ง ผู้ดูแลสามารถนำบัตรประชาชนของผู้ป่วยมาแสดงเพื่อเข้ารับการรักษาแทนได้ เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถดูแลผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวได้สะดวกยิ่งขึ้น

3. กำหนดหัวข้อการใช้งานระบบ KTB Corporate Online ให้โรงพยาบาลรับทราบว่าจะสามารถใช้งานได้ในกรณีใดบ้าง ดังนี้ (1) ผู้ป่วยฉุกเฉินและไม่ได้นำบัตรประชาชนมาด้วย (2) ผู้ป่วยที่ถูกพิพากษาให้ลงโทษจำคุก และ (3) ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษานอกเวลาราชการ และไม่มีเจ้าหน้าที่การเงินปฏิบัติงานในช่วงเวลาดังกล่าว โดยผู้ป่วยต้องลงชื่อในคำขอใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ณ สถานพยาบาลที่เข้ารับการรักษาเพื่อใช้ในการตรวจสอบ จากเดิมสามารถทำได้ในกรณีที่เครื่อง EDC (Electronic Data Capture) ไม่สามารถใช้งานได้ และกรณีที่มีการยกเลิกรายการที่ผิดพลาดภายหลังจากวันที่ทำการเบิกจ่ายตรงเท่านั้น

อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวในตอนท้ายว่า การกำหนดแนวปฏิบัติการเบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกเพิ่มเติมในครั้งนี้ เพื่อให้ผู้มีสิทธิ ส่วนราชการ และสถานพยาบาล เข้าใจวิธีการปฏิบัติในกรณีต่าง ๆ เป็นไปในแนวทางเดียวกัน สามารถใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงได้อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพมากขึ้น