‘วิทย์ติดถ้ำ’ ไฮไลท์มหกรรมวิทย์

‘วิทย์ติดถ้ำ’ ไฮไลท์มหกรรมวิทย์

13 ชีวิตทีมหมูป่าอคาเดมี่ติดถ้ำหลวงที่เชียงราย ถูกหยิบมาเป็น 1 ใน 9 ไฮไลท์ของงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ นำเสนอมุมมองเชิงวิทยาศาสตร์สหสาขาทั้งภูมิศาสตร์ ชีววิทยาและนวัตกรรมช่วยชีวิต พร้อมด้วยชุดอุปกรณ์ดำน้ำจากหน่วยซีลและแคปซูลของอีลอน มัสก์

มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2561 กับนโยบาย “วิทย์สร้างคน สร้างแรงบันดาลใจ 1.2 ล้านเยาวชนไทย” ระหว่างวันที่ 16-26 ส.ค.นี้ อิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อเฉลิมฉลองวาระสำคัญของวงการวิทยาศาสตร์ไทย “การครบรอบ 150 ปีของการเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคา ณ หว้ากอ” พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย ที่ทรงทำนายการเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง 18 ส.ค. 2411 ได้อย่างแม่นยำ

9ไฮไลท์อิงกระแสสนใจ

ผศ.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า ปีนี้ได้คัดเลือกกิจกรรมและนิทรรศการที่เนื้อหาอยู่ในกระแสความสนใจของประชาชนมาเป็นไฮไลท์สร้างแรงบันดาลใจ ประกอบด้วย 9 ไฮไลท์ พร้อมด้วยความร่วมมือจาก 10 ประเทศรวม 100 หน่วยงาน คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานมากถึงกว่า 1.2 ล้านคน

“วิทยาศาสตร์... ติดถ้ำ” (Scince in Cave) เป็น 1 ในไฮไลท์ดังกล่าว เพื่อให้ผู้เข้าชมได้เรียนรู้และเข้าใจถึงวิทยาศาสตร์ของถ้ำ (ด้านภูมิศาสตร์และธรณีวิทยา) เทคโนโลยีกู้ภัย (นวัตกรรมช่วยชีวิตมนุษย์) สภาพร่างกายเมื่ออยู่ในถ้ำ (ชีววิทยาที่เกิดขึ้นกับร่างกาย) และการเตรียมตัวเมื่อจะไปเที่ยวในถ้ำ โดยได้จำลองพื้นที่ถ้ำหลวงและได้รับความร่วมมือจากหน่วยซีลที่จัดส่งอุปกรณ์ช่วยเหลือทีมหมูป่ามาจัดแสดงภายในงานด้วย

นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมช่วยชีวิตอย่างผ้าห่มฟอยล์ฉุกเฉินหรือผ้าห่มอวกาศจากนาซ่า ใช้สำหรับป้องกันการสูญเสียความร้อนในร่างกาย ในกรณีที่อุณหภูมิในร่างกายเย็นจัดหรือหนาวสั่น ป้องกันการเป็นไข้เฉียบพลัน เรือดำน้ำจิ๋วหรือเรือดำน้ำหมูป่า ที่พัฒนาโดยทีมงานบริษัท สเปซเอ็กซ์ จำกัด ผู้พัฒนารถยนต์ไฟฟ้าเทสลา

ตัวเรือดำน้ำรูปทรงคล้ายแคปซูลนี้ดัดแปลงจากท่อส่งออกซิเจนเหลวของจรวดฟอลคอน9 เพื่อใช้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ในถ้ำที่สลับซับซ้อนและไม่มีประสบการณ์ดำน้ำ ด้วยขนาดและน้ำหนักที่เบาทำให้สามารถผ่านช่องแคบต่างๆ ได้ โดยการเคลื่อนย้ายจะใช้นักดำน้ำ 2 คน ทำหน้าที่ประคองแคปซูลนี้ ลัดเลาะไปตามช่องแคบต่างๆ กระทั่งออกจากถ้ำได้

ไฮไลท์อื่นๆ ยังรวมถึงนิทรรศการวิกฤติขยะ โรงภาพยนตร์ 4 มิติ นิทรรศการเทคโนโลยีเปลี่ยนชีวิต นิทรรศการยุคข้อมูลครองโลก นิทรรศการอาหารแห่งศตวรรษ (Super Food) เทรนด์ที่กำลังมาแรงในเรื่องการดูแลสุขภาพ และละครวิทยาศาสตร์ “ฟ้าสว่างที่หว้ากอ” สร้างสรรค์เนื้อหาและเทคนิคการนำเสนอขึ้นใหม่โดยคณะละครมรดกใหม่

หนุนสร้างคนรุ่นใหม่

สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ปี 2561 เป็นปีทองของวงการวิทยาศาสตร์ไทย โดยได้เริ่มต้นเปิดมิติแห่งการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปทั่วประเทศ เพื่อกระจายโอกาส เสริมความรู้ สร้างแรงบันดาลใจแก่เยาวชนไทย ด้วยการนำนิทรรศการและกิจกรรมเด่นๆ จากงานปีที่ผ่านมาไปจัดแสดงใน 4 ภูมิภาค เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา จัดแสดงในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. และปิดท้ายที่อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ ประจวบคีรีขันธ์ ในช่วงวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 18 สิงหาคมนี้

“ครั้งนี้เป็นการนำ 1 ในนโยบายหลักของกระทรวงวิทย์ฯ ”วิทย์สร้างคน“ มาสู่รูปธรรม มุ่งหวังว่าเด็กและเยาวชนตลอดจนสังคมไทยจะยกระดับความรู้ ได้รับแรงบันดาลใจ สร้างวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ให้เกิดขึ้น เพื่อนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาที่ก้าวหน้าด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมในอนาคตอันใกล้” สุวิทย์ กล่าว

ส่วนพรีเซนเตอร์ของงาน “เจมส์ จิรายุ” จะมาร่วมกิจกรรมในวันที่ 16 และในวันที่ 17 ส.ค.เป็นพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะมาร่วมกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนไทย