คอนสตรัคชั่น เทค จิ๊กซอว์นวัตกรรม ‘ช.การช่าง’

คอนสตรัคชั่น เทค  จิ๊กซอว์นวัตกรรม ‘ช.การช่าง’

จุดประกายไอเดียที่จะนำไปสู่การต่อยอดความร่วมมือระหว่างองค์กรใหญ่กับสตาร์ทอัพ

ในช่วง 1-2 ปีนี้คงต้องยกให้ “ดิจิทัล ดิสรัปชั่น” หนึ่งคลื่นลูกใหญ่ที่เป็นแรงกระทบให้หลายองค์กรธุรกิจในไทยต้องลุกขึ้นมาเตรียมความพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น

ช.การช่าง บริษัทก่อสร้างรายใหญ่ของไทยที่มีอายุยาวนานกว่า 40 ปี เป็นอีกองค์กรธุรกิจที่ลุกขึ้นมาประกาศความพร้อมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในระบบนิเวศสตาร์ทอัพในไทยผ่านกิจกรรม Hackathon จัดขึ้นในงานสตาร์ทอัพ ไทยแลนด์ 2018 ที่ผ่านมา

แนวทางและความตั้งใจ ช.การช่าง กับการเปิดทางให้นวัตกรรมใหม่ๆ จากนิสิตนักศึกษาและสตาร์ทอัพเข้ามาจุดประกายไอเดียในครั้งนี้เป็นอย่างไร และ จะนำไปสู่การต่อยอดความร่วมมือระหว่างองค์กรใหญ่กับสตาร์ทอัพได้ไกลแค่ไหนนั้น สุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) บอกถึงการเดินทางครั้่งนี้ว่า “สตาร์ทอัพไม่ใช่คู่แข่ง แต่เป็นส่วนหนึ่งของ Corporate Innovation”

ประเด็นหลักเป็นการเข้ามาช่วยส่งเสริมการพัฒนาของบริษัท โดยที่ผ่านมาทำ 2 ส่วนไปพร้อมๆ กัน คือพัฒนานวัตกรรมจากภายในองค์กร และค้นหานวัตกรรมใหม่ๆจากภายนอก ซึ่งสตาร์ทอัพถือเป็นกลุ่มธุรกิจคลื่นลูกใหม่ที่ได้สร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ให้กับหลายธุรกิจ 

โดยให้ความสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อนำมาเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในขั้นตอนการดำเนินงาน การช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนเพราะความปลอดภัยและการดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชน

อีกทั้ง ต้องการเห็นคนรุ่นใหม่ระดมความคิดสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยให้มีศักยภาพทางการแข่งขันสูง และเป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ด้วยจุดเด่นของสตาร์ทอัพที่มักจะมาพร้อมกับแนวคิดใหม่ๆ ที่เกิดจากความต้องการแก้ไข Pain Point เดิมๆ ที่องค์กรขนาดใหญ่มีความคล่องตัวน้อยกว่าในการแก้ไขปัญหา สตาร์ทอัพจะเข้ามาช่วยแก้ไขในจุดนี้ได้ในเวลาที่สั้นกว่า

รวมทั้ง เข้ามาช่วยส่งเสริมกลไกของอุตสาหกรรมนั้นๆ ให้ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น สตาร์ทอัพสร้างนวัตกรรมแก้ไขปัญหาเสียงรบกวนขณะก่อสร้าง ซึ่งเป็น Pain Point ของผู้รับเหมาส่วนใหญ่ต้องเจอ นวัตกรรมตรงนี้ก็จะเข้ามาช่วยยกระดับการก่อสร้างในภาพรวมให้ดีขึ้น เป็นต้น"

สำหรับ ช.การช่าง สุภามาส  มองโอกาสการทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพในอนาคตไว้ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการนำแนวคิดนวัตกรรมมาต่อยอด หรือจะเป็นการส่งเสริมให้ทุนแก่สตาร์ทอัพเพื่อพัฒนานวัตกรรมมาช่วยในการดำเนินการก่อสร้าง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับจังหวะและความเหมาะสม

การร่วมสนับสนุน Hackathon–Startup Thailand 2018 ในครั้งนี้ บริษัทโฟกัสในกลุ่มของ Construction Tech หรือเทคโนโลยีเพื่อการก่อสร้าง เนื่องจากตรงกับธุรกิจของ ช.การช่าง นอกจากนี้กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างในภาพรวมทั่วโลกถือเป็นธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีค่อนข้างน้อย ทำให้จึงรู้สึกตื่นเต้นที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและเปิดโอกาสให้เหล่าสตาร์ทอัพเข้ามานำเสนอแนวคิด นวัตกรรมใหม่ 

“จากงาน Hackathon ที่ผ่านมาต้องบอกว่า พอใจกับแนวคิดที่ผู้เข้าแข่งขันนำมาเสนอสำหรับอนาคต อาจจะขยายไปยังเทคโนโลยีใดๆ ที่มีส่วนช่วยในการดำเนินงานพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ในเชิงคมนาคม ไฟฟ้า ประปา ซึ่งตรงกับธุรกิจภายในเครือของ ช.การช่าง ด้วย”

ส่วนความเป็นไปได้ที่ ช.การช่าง จะลุกขึ้นมาทำ Accelerate program หรือ Corporate venture capital ในอนาคตนั้น สุภามาส บอก ในเบื้องต้น มองในระดับของการให้การสนับสนุนด้านองค์ความรู้และเงินทุนผ่านเวทีสตาร์ทอัพใหญ่ๆ เพื่อศึกษาแนวทางและให้เข้าใจถึงความเป็นสตาร์ทอัพอย่างแท้จริงก่อน   

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา ในองค์กรได้มีการพัฒนา Digital technology อย่างต่อเนื่อง ทั้งการนำเทคโนโลยีโปรแกรมด้านวิศวกรรม ด้านการบริหารโครงการและบริหารจัดการทรัพยากรมาใช้ รวมถึงส่งเสริมให้พนักงานคิดไอเดียใหม่ๆที่เน้นประสิทธิภาพในการทำงาน การันตีจากรางวัล “นวัตกรรมคอนกรีตสำหรับวัสดุก่อสร้างในอนาคต” จากสมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทยสำหรับการใช้คอนกรีตที่สามารถช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการนำ System Application Program(SAP) เข้ามาช่วยในด้านจัดซื้อจัดจ้าง เป็นต้น

เทคโนโลยีขจัดเสียงรบกวน

IDC รายงานว่า 1 ใน 3 ขององค์กรระดับ Top 20 จะถูก Disrupt โดยคู่แข่งหน้าใหม่ๆ ภายในเวลา 5 ปี

ขณะที่ ไมโครซอฟท์ และไอดีซี เอเชียแปซิฟิกทำ“รายงานปลดล็อคโลกเศรษฐกิจในยุคแห่งการปฏิรูปด้วยดิจิทัล” จากการรวมความเห็นผู้บริหารในองค์กรขนาดกลางและใหญ่ 1,560 คนใน 15 ประเทศพบ 82% ขององค์กรในไทยเริ่มเดินหน้า Digital Transformation

การร่วมเป็น 1 ใน 5 ผู้สนับสนุนกิจกรรม Hackathon การแข่งขันสร้างสรรค์แนวคิดนวัตกรรมภายใต้โครงการ“สตาร์ทอัพ ไทยแลนด์ 2018” จัดโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โดย ช.การช่าง ได้ร่วมสนับสนุนในส่วนนวัตกรรมที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง เป็นอีกหนึ่งแอ็คชั่นที่ทำให้เห็นว่า หากไม่ลุกขึ้นมาทำด้านนวัตกรรมตอนนี้ก็อาจจะช้าเกินไป

เพราะจากแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่สดใหม่ ใช้เวลาเพียงไม่นานของการจัดกิจกรรม Hackathon แต่ก็ทำให้ได้นวัตกรรมดีๆ ออกมาตอบปัญหาธุรกิจได้อย่างตรงจุด

ผู้ชนะจากผู้เข้าแข่งขัน 20 ทีม ได้แก่ทีม “Petch Gap Good and Friend” กลุ่มนิสิตชั้นปีที่ 3 ภาควิชาสารสนเทศและการสื่อสาร คณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคว้าเงินรางวัล 1 แสนบาทไปได้จากไอเดีย “Sa-Ngard” (สงัด) นวัตกรรมที่ประยุกต์ระบบ Active Noise Canceling การขจัดเสียงรบกวนที่เกิดจากพื้นที่ก่อสร้าง 

การคิดนวัตกรรมเพื่อเข้าแก้ไขปัญหามลพิษทางเสียงที่เกิดจากการก่อสร้างที่มักเป็นปัญหาปกติที่ทุกการก่อสร้างจะต้องมี แม้ว่าจะใช้วิธีก่อกำแพงป้องกันเสียง อย่างไรก็ตามเสียงที่เกิดจากการก่อสร้างอยู่ในช่วงคลื่นความถี่ต่ำ ไม่อาจถูกกักให้อยู่ภายในไซต์ก่อสร้างด้วยกำแพงได้ 

SA-NGARD เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยจัดการเสียงในช่วงคลื่นความถี่ต่ำ โดยประยุกต์ระบบ Active Noise Cancelling (การขจัดเสียงรบกวนโดยใช้พลังงานไฟฟ้า) ที่อยู่ในหูฟัง รับคลื่นเสียงจากการก่อสร้างเข้ามาทางไมโครโฟน ประมวลและแปลงคลื่นความถี่ผ่านชิพ และปล่อยคลื่นเสียงที่จะช่วยหักล้างเสียงดังจากการก่อสร้างออกมาผ่านทางลำโพง ทำให้เสียงรบกวนชุมชนและคนงานก่อสร้างหายไป

นอกจากทีมชนะเลิศแล้ว ยังมีอีก 3 รางวัลชมเชย ได้แก่ ทีม MAT-E (แมท - อี) จากคอนกรีตมวลเบาอนามัย โดยคณะอาจารย์และนักศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทีม UB::SAVE (ยูบี เซฟ) จากเทคโนโลยีเครื่องบำบัดน้ำเสียประหยัดพลังงาน และทีม Loops (ลูปส์) จากแอพลิเคชั่นรถตู้โดยสารสำหรับงานคอนเสิร์ต