แผ่นพื้นรองเท้าอัจฉริยะ สตาร์ทอัพสั่งตรงจากแล็บ

แผ่นพื้นรองเท้าอัจฉริยะ สตาร์ทอัพสั่งตรงจากแล็บ

สตาร์ทอัพรุ่นใหม่รับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต “แผ่นพื้นรองเท้าอัจฉริยะ” ผลงานวิจัยจาก มทส. ขอเวลาอย่างน้อย 1 ปีเรียนรู้ข้อมูลทางเทคนิค จากนั้นจึงจะทำการผลิตและจำหน่ายได้ โดยใช้ทุน 2 ล้านบาทจากกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund)

SuraSole สร้างจากเทคโนโลยีสวมใส่อัจฉริยะ และ IoT ใช้วัสดุอุปกรณ์ภายในประเทศ จึงประหยัดค่าใช้จ่ายได้อย่างมาก ออกแบบมาเพื่อช่วยให้แพทย์ นักกายภาพบำบัดและผู้ป่วยที่ทำกายภาพบำบัดด้านการเดินการทรงตัว สามารถติดตามดูพัฒนาการของการทำกายภาพบำบัดได้โดยไม่จำเป็นต้องมาที่โรงพยาบาล ช่วยทำให้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย

นวัตกรรมใช้ได้จริง

จุดเริ่มของสิ่งประดิษฐ์นี้มาจากการทำวิจัยเรื่อง การเก็บเกี่ยวพลังงานจากรองเท้า ที่ รศ.สุดเขตต์ พจน์ประไพ สาขาวิชาวิศวกรรมเซรามิก มทส. ได้ดำเนินการร่วมกับประเทศอังกฤษ โดยเป็นการอาศัยแรงกดจากการเดินเป็นพลังงานไฟฟ้าโดยใช้เซนเซอร์ในรองเท้า ทำให้นักวิจัยไทยมองเห็นโอกาสที่จะดัดแปลงและต่อยอดสู่การใช้สอยรูปแบบอื่นๆ

“เซนเซอร์ในรองเท้า นอกจากจะตรวจและเก็บพลังงานไฟฟ้าจากแรงกด ยังช่วยชี้ตำแหน่งแรงกดของฝ่าเท้า ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใกล้เคียงกัน แต่เป้าหมายการใช้งานต่างกัน โดยในช่วงแรก เราพัฒนาเป็นพื้นรองเท้าที่มีเซนเซอร์ เพื่อตรวจสอบการทรงตัวจากแรงกดที่ฝ่าเท้า”

พร้อมกันนี้ก็พัฒนาแอพพลิเคชั่นมือถือ ที่รับสัญญาณจากเซนเซอร์ในรองเท้า แล้วส่งข้อมูลเข้าไปเก็บเป็นฐานข้อมูลสำหรับแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด และยังมีฟังก์ชั่นพิเศษ สำหรับฝึกสมดุลการทรงตัว ที่สามารถตั้งค่าให้เตือนเมื่อตรวจพบการทรงตัวที่ไม่สมดุลจากแรงกดที่ฝ่าเท้า เพื่อให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ป่วยที่ต้องทำกายภาพบำบัด ฝึกการเดินและการทรงตัว นอกจากนี้ยังสามารถประยุกต์ใช้กับนักกีฬา เช่น วิเคราะห์การถ่ายน้ำหนักของฝ่าเท้าของนักวิ่ง สำหรับให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับการวิ่งแต่ละประเภท ลดความเสี่ยงการบาดเจ็บระหว่างการวิ่งหรือการซ้อม

ทั้งนี้ ทีมวิจัยมีทั้งวิศวกร นักวิทยาศาสตร์การกีฬา แพทย์และนักกายภาพบำบัด ที่ทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาแผ่นรองเท้าที่เป็นฮาร์ดแวร์ และแอพพลิเคชั่นที่เป็นซอฟต์แวร์ กระทั่งได้ต้นแบบที่พร้อมต่อยอดเชิงพาณิชย์

บุกตลาดนักกีฬา

กล้า จิระสานต์ กรรมการบริหารบริษัท สุระเทค จำกัด กล่าวว่า การทำตลาด “SuraSole แผ่นพื้นรองเท้าอัจฉริยะ” ในช่วงแรกจะมุ่งไปที่กลุ่มนักกีฬา โดยเฉพาะกลุ่มกีฬาที่ต้องเน้นท่าทางการทรงตัว อาทิ วิ่ง กอล์ฟ ส่วนตลาดเป้าหมายกลุ่มการแพทย์หรือกายภาพบำบัดนั้น ต้องใช้เวลาในการพัฒนาและทดสอบให้ละเอียดมากที่สุด

“ผลิตภัณฑ์ของเราน่าจะสามารถเข้าไปยังกลุ่มนักกีฬาอาชีพ ผ่านการเป็นเครื่องมือสำหรับโค้ช หรือเป็นโค้ชพกพา เนื่องจากตลาดวิ่งกำลังมา ทั้งกลุ่มฟันรัน (Fun Run) ฮาล์ฟมาราธอน ฟูลมาราธอน หรือแม้กระทั่งไตรกีฬา”

ด้วยความเป็นสินค้าสำหรับอุตสาหกรรมในอนาคต ดังนั้น ต้นทุนยังคงสูงอยู่ แต่เขามองเป็นความท้าทายหนึ่งที่หากสามารถผลิตเป็นสินค้าแมสได้ ก็จะทำให้ต้นทุนถูกและเข้าถึงได้ ดังนั้น เป้าหมายในปีแรกของสุระโซลคือ การส่งผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดให้ได้ โดยยังไม่ตั้งเป้ารายได้

รูปแบบในการทำธุรกิจจะผ่านทาง 2 ช่องทางคือ ความร่วมมือกับแบรนด์รองเท้าชื่อดัง โดยแผ่นรองเท้าอัจฉริยะนี้จะไปเป็นอุปกรณ์เสริม ถัดมาเป็นตลาดเฉพาะทางโดยเป็นสินค้าเกรดนักกีฬามืออาชีพ

“มีผลิตภัณฑ์ลักษณะนี้วางขายแล้วในต่างประเทศ ทั้งสหรัฐ เนเธอร์แลนด์ จีนหรืออินเดีย ที่ทำออกมาในเชิงแกดเจ็ท แม้เทคโนโลยีบางอย่างยังไม่ได้แอดวานซ์มากนัก แต่ก็มีมุมที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ เราก็ต้องหามุมที่จะตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย และเชื่อว่ามีช่องว่างที่จะไปสู่ตลาดโลกได้ในอนาคต ด้วยจุดแข็งเรื่ององค์ความรู้จากสหสาขา และบริการหลังการขาย”

หลังจากนี้จะทำธุรกิจนวัตกรรมอย่างจริงจัง พร้อมกับวิจัยและพัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มฟังก์ชั่นสำหรับกลุ่มเป้าหมายใหม่อย่างผู้สูงอายุ ที่ต้องการอุปกรณ์ช่วยเตือนการล้ม รวมถึงการประยุกต์ต่อยอดเป็นอุปกรณ์สวมใส่ (Wearable Device) ต่อไป