บทเพลงแห่งความภักดี

เสียงบทเพลง สยามินทร์วชิราลงกรณ์ และ วันพิเศษ ดังกึกก้องเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ครบ 66 พรรษา

คณะกรรมการจัดงาน ‘จิตรลดาสวามิภักดิ์’ เป็นผู้จัดทำสองบทเพลงดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนขับร้องในโอกาสมหามงคลต่างๆ โดยมี คุณหญิงมาลัยวัลย์ บุณยะรัตเวช ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) ประจำปีพ.ศ.2540 และ ดลชัย บุณยะรัตเวช อาจารย์พิเศษ CBS ปริญญาโท จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ประพันธ์เนื้อร้องและทำนองเพลงอันทรงคุณค่า 

ก่อนที่เพลง ‘สยามินทร์วชิราลงกรณ์’ จะเผยแพร่ออกมา คุณหญิงมาลัยวัลย์ และดลชัย นำเพลง ‘สยามมกุฎเกริกไกร’ ประพันธ์ขึ้นในปีพ.ศ.2557 เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระราชอิสริยยศขณะนั้น) ด้วยพระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่เพื่อเป็นหลักชัยของบ้านเมือง บรรจุในอัลบั้ม ‘ดั่งดวงใจจิตรลดา 60 ปี’ 

ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น สยามินทร์วชิราลงกรณ์ และเปลี่ยนคำร้องบางท่อน เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมารี เสด็จขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงได้นำเพลงดังกล่าวมาเรียบเรียงใหม่  

20180626235207296

คุณหญิงมาลัยวัลย์ และดลชัย  บุณยะรัตเวช

ดลชัย : "แผ่นดินก้าวมาสู่รัชสมัยที่ 10 แล้ว ผมกับคุณแม่ (คุณหญิงมาลัยวัลย์ บุณยะรัตเวช) อยากแต่งเพลงเพื่อให้ประชาชนนำไปร้องถวายพระเกียรติ พระบารมีอันเกริกไกรของพระองค์ อันเป็นศูนย์รวมใจของพสกนิกร เพลงแรกที่เราร่วมกันแต่งเพลง คือเพลง สยามินทร์วชิราลงกรณ์ 

คุณหญิงมาลัยวัลย์ : "ตอนแต่งเพลงนี้ ก็เริ่มจากทำนองก่อน ความที่ดิฉันเป็นนักเปียโนก็นึกถึงพระองค์ท่าน ทรงมีพระจริยวัตรแบบทหาร  ดังนั้นเพลงจังหวะกึ่งเพลงมาร์ชแบบเข้มแข็ง กระฉับกระเฉง กล้าหาญ เข้ากับความภาคภูมิ จึงเหมาะที่จะแต่งออกมาเป็นเพลงที่สะท้อนความสง่างาม พอเราได้เมโลดี้แล้ว คำก็มาแต่งกันทีหลัง อันนี้เป็นแนวทางการทำงานเพลงของสองแม่ลูก ไม่อย่างนั้นทำนองจะไม่ไพเราะ เพราะถ้อยคำจะบังคับเสียงโน้ตไปหมด ซึ่งไอ๋ (ดลชัย บุณยะรัตเวช) เป็นคนทำหน้าที่นี้ 

20180723171009263

ดลชัย : " แม่แต่งทำนอง ผมฟังปั้บก็อิมเมจินเนื้อร้อง อยากสะท้อนพระราชปณิธานอันแน่วแน่ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นหลักชัยของแผ่นดิน ความมุ่งมั่นในการสร้างชาติบ้านเมือง  เพราะฉะนั้นการใช้คำ ต้องใช้คำที่หนักแน่น แล้วก็ยิ่งใหญ่ เช่นคำร้องท่อนหนึ่ง ร้องว่า 

'พันธกิจอันยิ่งยง

ที่มั่นคงเพื่อผองไทย

ปณิธานอันเกริกไกร

เป็นหลักชัยของประชา' 

เราจะเห็นว่า ถ้อยคำที่เลือกมาใช้ เป็นคีย์เวิร์ดฟังดูแล้วหนักแน่น คำสั้นๆ ชัดเจน จดจำง่าย เพราะเราอยากให้เป็นเพลงที่ประชาชนนำไปร้องได้ในโอกาสมหามงคลต่างๆ "

คุณหญิงมาลัยวัลย์ : “แต่ก็มีขอแก้ทำนองนิดหน่อย คำไม่ลงตัว”

ดลชัย : "ขอรวบโน้ตได้มั้ยเพราะคำในภาษาไทย ถ้าวรรณยุกต์ผิดไปนิด เสียงจะผิดไปเลย แต่โดยมากเราไม่ขอแก้เพราะเราเคารพกัน แล้วพอทำเพลงสยามินทร์วชิราลงกรณ์เสร็จ ก็มาถึงขั้นตอนการร้องเสียงประสาน ที่เราชวนศิษย์เก่าโรงเรียนจิตรลดาหลายคน มาช่วยกันประสานเสียงเพลงนี้" 

ส่วนการอำนวยเพลงนับว่าเป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง ช่วยให้เพลง ‘สยามินทร์วชิราลงกรณ์’ สมบูรณ์มากที่สุด หน้าที่นี้ นาวาเอกภาสกร สุวรรณพันธ์ นำวงดุริยางค์ราชนาวี พร้อมนักดนตรีอีกหลายร้อยชีวิต ร่วมกันสร้างสรรค์งานชิ้นที่ดีที่สุด 

20180627000003625

 นาวาเอกภาสกร สุวรรณพันธ์ 

"ที่ผ่านมาวงดุริยางค์ราชนาวีเคยร่วมงานกับโรงเรียนจิตรลดาเมื่อครั้งที่จัดงานจิตรลดาสวามิภักดิ์ ในการแสดงคอนเสิร์ตชุดก้าวเดินต่อไป เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ณ พระลานพระราชวังดุสิต ครั้งนี้เราได้รับเกียรติให้เล่นเพลงสยามินทร์วชิราลงกรณ์ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถือเป็นเกียรติอย่างสูงสุดของวงดุริยางค์ราชนาวี...

จุดเด่นของเพลงนี้คือทำนองกับเนื้อร้องสั้นกระชับ เราใส่เครื่องดนตรีเกิดความฮึกเหิม เกิดความรักชาติ เทิดทูนพระองค์ท่าน เพราะฉะนั้นการใส่คอร์ดเน้นคอร์ดค่อนข้างกว้าง ฟังแล้วดูแกรนด์ อันนี้คือหัวใจของการทำเพลงนี้ที่ประพันธ์มาเพื่อการเฉลิมฉลอง ดังนั้นเครื่องดนตรีที่ใช้ในการเล่นประกอบเพลงนี้ เราใช้เครื่องดนตรีออเคสตร้าทั้งหมด 80 ชิ้น ซักซ้อมกันนานเป็นเดือนๆ แล้วบันทึกเสียงที่กองดุริยางค์ทหารเรือ นำนักร้องประสานเสียงทั้งที่เป็นนักร้องกิตติมศักดิ์และศิษย์เก่าของโรงเรียนจิตรลดา มาขับร้องเพลงนี้ให้เกิดความไพเราะยิ่งขึ้น"

20180709191717318

นักร้องประสานเสียง

นอกจากเพลง ‘สยามินทร์วชิราลงกรณ์’ แล้ว ยังมีเพลง วันพิเศษ โดย ‘ดลชัย’ เป็นทั้งผู้ประพันธ์เนื้อร้องและทำนองเช่นกัน 

"ตอนที่แต่งเพลงสยามินทร์วชิราลงกรณเสร็จแล้ว ก็อยากแต่งอีกเพลงหนึ่ง คือเพลง ‘วันพิเศษ’ ผมติดตามข่าวพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและทราบว่าพระองค์ทรงริเริ่มโครงการจิตอาสา ทำความ ดี ด้วยหัวใจ พระองค์ทรงม่ีพระราชประสงค์เชิดชูคนทำความดี เป็นกุศโลบายที่พสกนิกรควรดำเนินรอยตาม เพราะเรื่องทำความดี เราสามารถเริ่มได้จากตัวเรา เมื่อคนหนึ่งลงมือทำ อีกคนหนึ่งเข้ามาร่วมไม้ร่วมมือ ก็เกิดเป็นความสามัคคีของคนในชาติบ้านเมือง เป็นประโยชน์แก่แผ่นดิน... 

ผมเลยนำแนวความคิดนี้ นึกถึงคำที่เป็นแง่บวกว่า วันใหม่ๆ ในชีวิต ถ้าเราทำอะไรดีๆ จะเก็บอยู่ในความทรงจำ ทุกวันเราสามารถทำให้เป็นวันพิเศษได้ ไม่ต้องรอให้เป็นวันเกิดหรือวันอะไร เป็นการสร้างกำลังใจให้เราคนไทยลุกขึ้นมาทำความดีวันละนิดละหน่อย แล้วสิ่งดีๆ จะเกิดขึ้นกับเมืองไทย ซึ่งเพลงที่เราทำไปนั้นก็มีการจัดทำเป็นซีดี 10,000 แผ่น โน้ตเพลงอีก 10,000 ชุด มอบให้รัฐบาลนำไปเผยแพร่ทั่วประเทศ และผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อให้ไปถึงประชาชนในวงกว้าง" 

20180723171010629

เกี่ยวกับประวัติของ คุณหญิงมาลัยวัลย์ บุณยะรัตเวช ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) เคย ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระอาจารย์ถวายการสอนเปียโนแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เมื่อยังทรงพระเยาว์ 

เคยแสดงเปียโนคอนแชร์โตร่วมกับวงดุริยางค์หน้าพระที่นั่งในงานกาชาด 8 ครั้ง  เป็นผู้ก่อตั้งนักร้องประสานเสียงหลายคณะ และได้ประพันธ์เพลงเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และพระราชวงศ์ หลายบทเพลง รวมทั้งเพลงเพื่อองค์กรและสถาบันการศึกษาหลายครั้ง 

สำหรับ ดลชัย บุณยะรัตเวช เป็นนักวางกลยุทธ์และวิทยากรด้านการสร้างแบรนด์ให้กับองค์กร และหน่วยงานธุรกิจ ตลอดจนอาจารย์มหาวิทยาลัย มีผลงานประพันธ์เพลงหลากหลาย  เพลงเทิดพระเกียรติ เพลงประกอบละครและการแสดง รวมทั้งทำอัลบั้มเพลงเพื่อการกุศลอีกมากมาย  

(รายงานพิเศษนี้ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เซ็คชั่นปกกรุงเทพวันอาทิตย์ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2561)