'แคเรียวีซ่า ดิจิทัล'เลือกเส้นทางอาชีพที่ใช่บนออนไลน์

'แคเรียวีซ่า ดิจิทัล'เลือกเส้นทางอาชีพที่ใช่บนออนไลน์

เมื่อนำเอากระบวนการออฟไลน์ขึ้นสู่ออนไลน์  ทำให้สามารถสเกลได้อย่างรวดเร็วในวิถีของสตาร์ทอัพ ทั้งสร้างอิมแพ็คต่อสังคมได้ในวิถีของกิจการเพื่อสังคม

CareerVisa ซึ่งเดิมเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise-SE) จึงรุกสู่โลกออนไลน์ด้วย (ในหมายเหตุว่าทำควบคู่กันไปกับออฟไลน์) และกลายเป็นสตาร์ทอัพเทคในชื่อ " CareerVisa Digital" (แคเรียวีซ่า ดิจิทัล) ทั้งได้เป็น 1 ใน 11 ทีมที่ได้เข้ารอบโครงการ "ดีแทค แอคเซอเลอเรท ปีที่ 6" อีกด้วย

 ทีมงานหลักของแคเรียวีซ่า ดิจิทัล เวลานี้มีอยู่ด้วยกัน 3 คน ได้แก่   ธีรยา ธีรนาคนาท, อริสรา เพชรมณีวรรณ และ มิซา อิโซมูระ

ธีรยา ธีรนาคนาท กล่าวว่า เพื่อขยายผลกระทบทางสังคมไปสู่คนรุ่นใหม่จำนวนมากทั้งในไทยและประเทศในภูมิภาค แคเรียวีซ่า จึงพัฒนา Personalized Career Development Platform เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ได้ค้นหาอาชีพเส้นทางที่ใช่ในอนาคตได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่มีข้อจำกัด หรือต้องรอคอยอีเวนท์ที่จัดขึ้นเพื่อให้คำแนะนำแค่ปีละครั้งสองครั้ง

แพลตฟอร์มของ แคเรียวีซ่า ดิจิทัล จะมีกระบวนการค้นหาเส้นทางอาชีพที่ใช่ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ โดยมีอยู่ด้วยกัน 4 ส่วนได้แก่

1. ทำความรู้จักอาชีพใหม่ๆ โดยการปรึกษาตัวต่อตัว กับผู้มีประสบการณ์จริงในหลากหลายอาชีพและประสบการณ์การศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก และผ่านคลิปสัมภาษณ์

2. ประเมินอาชีพที่เหมาะสม โดยระบบจะวิเคราะห์จาก 5 ด้านของผู้ใช้ ผ่านแบบทดสอบจากหลักสูตร แคเรียดีไซน์

3. พัฒนาตนเองเพื่อไปสู่อาชีพที่เหมาะสม โดยระบบจะให้คำแนะนำ

4. สมัครงานในตำแหน่ง หรือองค์กรที่เป็นเป้าหมายอาชีพของตนเอง

"ตอนนี้เราจะเริ่มต้นในส่วนของการให้คนได้เปิดโลกทำความรู้จักกับอาชีพต่างๆ อาชีพใหม่ๆ ก่อน ในรูปแบบของคลิปวิดีโอ เพราะแคเรียวีซ่าดำเนินการมา 4 ปีแล้ว ที่ผ่านมาเราได้ไปสัมภาษณ์ผู้คนในอาชีพต่างๆ มาเป็นจำนวนมาก ก็ให้ผู้ที่สนใจเข้าไปดูได้ว่า การทำงานของแต่ละอาชีพเป็นอย่างไร และเมื่อดูจบแล้วเขาก็ต้องมีข้อสงสัย มีคำถาม เขาก็จะสามารถเลือกคุยกับโค้ชที่อยู่ในแพลตฟอร์มได้เลยทันที" 

ยอมรับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ยากและท้าทายที่สุด  เพราะหมายถึงการเปิดฉากทำธุรกิจในรูปแบบบีทูซี  คิดค่าบริการจากยูสเซอร์   เพราะดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น แคเรียวีซ่าเดิมทีเป็นกิจการเพื่อสังคม เวลามีการจัดอีเวนท์ก็จะเปิดฟรีไม่คิดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ที่มาร่วมงาน ดังนั้นก็ไม่เคยต้องเสียเงินค่าจ้างให้โค้ชที่มาให้คำแนะนำ ทุกอย่างว่าด้วยเรื่องของ "จิตอาสา"

แต่เพราะได้ลงพื้นที่สำรวจแล้วพบความจริงว่าในโลกปัจจุบันมีผู้ที่อยู่ในอาการซัฟเฟอร์กับการทำงาน  คือไม่ชอบงาน รู้สึกว่าสิ่งอยากทำกับสิ่งที่กำลังทำอยู่คนละเรื่อง  มีหลายๆคนตั้งคำถามกับตัวเองทุกวันว่ามาทำอะไรอยู่ตรงนี้เป็นจำนวนมาก ในขณะที่ก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองเหมาะกับอาชีพอะไร

 " ในแพลตฟอร์มของเราจะมีเมนทอร์ซึ่งจะมีโปรไฟล์ประวัติการศึกษา การทำงานและประสบการณ์ความเชี่ยวชาญของแต่ละคนเพื่อให้ยูสเซอร์ได้เลือกวิดีโอคอลขอคำแนะนำ  บางคนก็อาจเลือกเมนเทอร์ที่เรียนและเชี่ยวชาญในสายงานที่เขากำลังทำอยู่ หรือบางคนก็อาจเลือกโค้ชที่ทำงานมีประสบการณ์ที่ต่างไปแต่น่าจะมีเคล็ดลับดีๆที่จะแชร์ให้กับเขาได้ ซึ่งเราตั้งค่าบริการไว้ 250 บาทต่อวิดีโอคอลในแต่ละครั้งๆละ 30 นาที"

ทำไมต้องปรึกษาเมนเทอร์?  ธีรยาอธิบายว่า ในความเป็นจริงก็คือ เด็กหรือผู้ที่กำลังหาเส้นทางอาชีพที่ใช่มักไม่ได้รู้จักคนมากไม่ได้กว้างขวางในสังคม ดังนั้นพวกเขามักขอคำปรึกษาจากคนแค่ 3 กลุ่มก็คือ รุ่นพี่ พ่อแม่ และอาจารย์ ซึ่งในโลกปัจจุบันนั้นมีกระแสความเปลี่ยนแปลงต่างๆเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงเกิดอาชีพใหม่ๆ ที่คนในโลกยุคก่อนๆไม่เคยรู้จัก  จึงจำเป็นต้องเปิดโลกให้กว้างขึ้นกว่าเดิม  จากคำแนะนำของเมนเทอร์ในหลากหลายอาชีพ เพื่อค้นหาเส้นทางที่ใช่ ที่ชอบอย่างแท้จริง

"เรากำลังพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้กระบวนการมีครบทั้ง 4 ส่วน ซึ่งสิ้นปีมีเป้าหมายว่าแคเรียวีซ่า ดิจิทัลจะต้องมีเมนเทอร์บนแพลตฟอร์มทั้งหมด 200 คน โดยเราจะการคัดกรองสกรีนคนที่มีความตั้งใจให้คำนะนำและจะให้เขาลองโค้ช ให้คำแนะนำว่าเป็นอย่างไร ประการสำคัญเขาต้องมีแอดติจูดที่โอเคไม่สำคัญตัวเองว่าดีเลิศ มองคนอื่นว่าคงทำไม่ได้แบบเขา และต้องโอเพ่น ไม่ห่วงภาพลักษณ์ เล่าถึงด้านบวกและด้านลบของสิ่งที่เขาเคยทำมา"

ตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นเป้าหมายของแคเรียวีซ่า ดิจิทัลเช่นกัน เพราะมองว่าปัญหาการเลือกเส้นทางอาชีพที่ใช่เกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่ทั่วโลก แต่จะเป็นสเต็ปถัดไปจากที่สามารถตั้งต้นได้ดีแล้วที่ประเทศไทย อย่างไรก็ดี   ธีรยา ยอมรับว่าแม้จะเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่เป็นชีวิตในอนาคตแต่ในตลาดประเทศไทยโมเดลธุรกิจนี้ก็ไม่ง่ายซึ่งมันว่าด้วยเรื่อง "ทัศนคติ"

"คนไทยอาจไม่เข้าใจว่าการปรึกษาเส้นทางอาชีพทำไมต้องเสียเงินด้วย  แต่เขาลืมไปว่าเวลาไปหาหมอดูก็ต้องเสียเงินซึ่งเขายอม ไม่น่าเชื่อว่าคู่แข่งของเราก็คือหมอดู  หรือเมนเทอร์บางคนก็มองว่ายินดีให้คำแนะนำฟรีไม่อยากคิดเงินใคร แต่สำหรับเรามองว่าค่าบริการจะทำให้ผู้มาใช้บริการเห็นคุณค่า มีความตั้งใจ  แต่ถ้าไม่คิดเงินพอนัดแล้วเขาก็อาจเทได้ หรือไม่ก็ไม่ได้เตรียมตัวหรือเตรียมคำถามมารอให้ป้อนอย่างเดียว ขณะที่ทางฝั่งของเมนเทอร์เองก็จะคอมมิทมากกว่า เพราะการเป็นจิตอาสาอาจเกิดการละทิ้งงาน คนที่ขอคำปรึกษาก็อาจรอเก้อ"

แคเรียวีซ่า เป็นองค์กรพัฒนาศักยภาพทางอาชีพ ที่มีภารกิจในการช่วยให้นิสิต นักศึกษา และคนรุ่นใหม่ค้นหาอาชีพที่ใช่ เพิ่มทักษะและประสบการณ์เพื่อทำอาชีพ ตั้งแต่ปี 2558 โดยเปิดโอกาสในคนรุ่นใหม่ได้รู้จักกับอาชีพผ่านกิจกรรม 1 วัน   Career Ready Boot Camp ทดสอบสมมติฐานทางอาชีพผ่านโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ 9 สัปดาห์ในการฝึกงานแบบ project-based ผ่านโครงการ Career Launcher และช่วยคนรุ่นใหม่วิเคราะห์ตัวเอง และอาชีพใน 5 ด้านด้วย Career Design Framework ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในวิชา Professional Development and Design Thinking ในหลักสูตร EBA จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

แคเรียวีซ่า ประกอบไปด้วยเฟรมเวิร์ค  ชื่อว่า  "5 Shades of life" ที่จะช่วยให้เราทบทวนตัวเอง และวิเคราะห์อาชีพใน 5 ด้านด้วยกัน ดังนี้ 1.Skill and Interest ทักษะและความสนใจ 2.Personality and people to work with บุคลิกภาพ และคนที่เราเหมาะจะทำงานด้วย 3.Working condition สภาพแวดล้อมในการทำงาน 4.Lifestyle  รูปแบบการใช้ชีวิต 5.Personal Core Value ค่านิยมของตัวเรา สิ่งที่เราให้ความสำคัญในชีวิต