“เศรษฐกิจหมุนเวียน” เปลี่ยนโลกโตยั่งยืน

“เศรษฐกิจหมุนเวียน” เปลี่ยนโลกโตยั่งยืน

หลังจากโลกขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบเส้นตรง นำทรัพยากรผลิตใช้แล้วทิ้ง อุตสาหกรรมเริ่มเห็นสัญญาณภาวะทรัพยากรขาดแคลนในอีก 30 ปีข้างหน้า บริษัทระดับโลกจึงลุกขึ้นมาเปลี่ยนสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนผลิตใช้ซ้ำ เพื่อให้โลกใบเดียวกันนี้อยู่กับเราไปนานๆอย่างยั่งยืน

สถานการณ์โลกที่ไม่เหมือนเดิม ทั้งสภาพอากาศแปรปรวน ทรัพยากรร่อยหรอ เศรษฐกิจเริ่มเติบโตต่ำ จึงเป็นที่มาของการหาแนวร่วมจากบริษัทน้อยใหญ่ รวมถึงภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคมและวิชาการ ตื่นตัวลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจ ผ่านงาน "SD Symposium 2018" ภายใต้แนวคิด “Circular Economy : The Future We Create” จัดโดยเอสซีจี เปิดเวทีแลกเปลี่ยนแนวคิดสร้างโลกยั่งยืนผ่านมุมมองอุตสาหกรรมหลากหลายแขนง

ปีเตอร์ บากเกอร์ (Peter Bakker) ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (WBCSD) ให้มุมมองว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนคือคำตอบของการดำรงอยู่ของทุกคนบนโลกให้ยั่งยืนที่สุด ภาคเศรษฐกิจจึงต้อง ปฏิวัติโมเดลธุรกิจ จากขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบเส้นตรง (Linear Economy) “ผลิต ใช้ทิ้ง ขายได้กำไร” มาสู่ ”เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) นำทรัพยากรที่ใช้แล้วมาผลิตใช้ใหม่ ทางรอดปลดล็อกอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่เริ่มโตต่ำ

เขายังชี้ให้เห็นหายนะของการเดินอยู่บนเศรษฐกิจแบบเดิมว่า ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาโลกใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า เป็นผลมาจากการขยายตัวของคนชั้นกลาง หากเป็นเช่นนี้ต่อไปคาดการณ์ว่าภายในปี 2050 โลกจะมีความต้องการทรัพยากรเพิ่มขึ้นถึง 130,000 ตัน จากปี 2014 ที่ใช้ทรัพยากร 50,000 ตัน

“นั่นหมายถึงความต้องการใช้มากกว่าความสามารถในการผลิตบนโลกกว่า 400% ในอีกกว่า 30 ปี ถ้าเป็นเช่นนี้ทุกปีทรัพยากรจะมีต้นทุนที่สูงขึ้นสำหรับภาคการผลิต ซึ่งท้ายที่สุดปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ” เขาให้มุมมอง ปลุกทุกภาคส่วนมาแสวงหาความร่วมมือ โดยเริ่มจากภาคธุรกิจ

ปีเตอร์ ยังระบุถึง 5 โมเดล ธุรกิจที่จะแปลงจากเศรษฐกิจหมุนเวียน ประกอบด้วย 1. พัฒนานวัตกรรมที่ยืดอายุสินค้า (Product Life Extension) เช่น ซ่อมแล้วนำกลับมาขายใหม่ 2.เศรษฐกิจแบ่งปัน(Sharing Economy) เชื่อมต่อคนมาสู่การแบ่งปันสินค้าที่ไม่ใช้ 3.นำทรัพยากรกลับมาผลิตใหม่ (Resource Recovery) เช่น นำขยะกลับเป็นวัตถุดิบ 4.ขายสินค้าพร้อมบริการ (Product as a Service)จากการขายอย่างเดียวเป็นการบริการด้านอื่นช่วยสินค้าใช้งานนานขึ้น เช่น ซ่อมแซม และ 5.การสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน (Circular Supplies)

ด้าน รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ฉายแนวคิดถึงที่มาของเศรษฐกิจหมุนเวียนว่า เป็นอนาคตที่จะนำพาให้ทุกคนบนโลกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้อยู่กันได้อย่างยั่งยืน เพราะเป็นทางออกที่ทำให้ทรัพยากรที่มีจำกัดถูกนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่มีของเหลือทิ้งในกระบวนการผลิตในอนาคต หากคิดวางแผนอย่างครบวงจรตั้งแต่การผลิต การบริโภคจนถึงการจัดการสินค้าที่หมดอายุ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือตั้งแต่ภาคธุรกิจ ผู้บริโภค และภาครัฐ ในประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นจึงต้อง“จุดประกาย”ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม

“ในไทยมีทรัพยากรถูกใช้แล้วทิ้งจนเป็นขยะจำนวนมาก คนไทย 1 คน สร้างขยะเฉลี่ยวันละ 1.1 กิโลกรัม ทรัพยากรถูกนำกลับมาใช้ใหม่เพียง 31% ทั้งที่ในความเป็นจริงขยะนำกลับมาเป็นทรัพยากรได้ใหม่มากกว่า 60% ทุกภาคส่วนจึงต้องตื่นตัวและลุกขึ้นมามีส่วนร่วมสร้างความยั่งยืนไปด้วยกัน” เขาให้ข้อมูล

โดยที่ผ่านมา เอสซีจีได้แปลงเศรษฐกิจหมุนเวียนกลับมาใช้ในองค์กรใน 3 ด้าน คือ การลดการใช้ทรัพยากรการผลิต (Reduced material use และ Durability) เช่น กระดาษลูกฟูกที่ใช้วัตถุดิบน้อยลง 25% แต่แข็งแรงเท่าเดิม 2.พัฒนานวัตกรรมทดแทนวัตถุดิบชนิดเดิม (Upgrade และ Replace) เช่น ปูนโครงสร้างใหม่ที่ใช้วัตถุดิบเผาผลาญน้อยลง และ 3. หมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse และ Recycle) รวบรวมวัสดุที่ใช้แล้วกลับมาผลิตใหม่ เช่น ขวดแก้ว, กระดาษ และพลาสติก

นอกจากนี้เอสซีจียังพัฒนากลุ่มธุรกิจใหม่ร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพที่มีแนวคิดพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ที่พัฒนาโลกให้ยั่งยืนขึ้น พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สมบูรณ์ ล่าสุดจับมือกับบริษัท ดาว ประเทศไทย นำพลาสติกรีไซเคิลมาเป็นส่วนผสมทำถนนยางมะตอย เพื่อลดขยะพลาสติกและยังช่วยเพิ่มความคงทนของถนน รวมไปถึงการขยายเครือข่ายขับเคลื่อนร่วมกันกับภาคธุรกิจอื่น อาทิ บางจาก, ดาว เคมิคัล, เทสโก้ โลตัส, และ พานาโซนิค ร่วมมือกันหาทางออกให้กับโลก

ขณะที่บนเวทีเสวนากลุ่มย่อยระดมความเห็นจากกลุ่มธุรกิจระดับโลก (Global Sharing) ฉายให้เห็นงานวิจัย 97% ระบุว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนเริ่มเข้ามามีส่วนสำคัญมากขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

“กลไกสำคัญ” ผลักดันแนวคิดนี้ได้สำเร็จ ต้องมาจาก “ผู้บริโภค” ยอมเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค และมีกฎระเบียบจากภาครัฐมาเป็นแรงสนับสนุน ตลอดจนผู้บริหารธุรกิจมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนกำหนด “การพัฒนายั่งยืน” เป็นกลยุทธ์องค์กร

เคส ราเดอร์ เอกอัคราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย เผยว่า ประเทศเนเธอร์แลนด์ได้ประกาศนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเริ่มจากภาครัฐ ที่ตั้งเป้านำวัตถุดิบกลับมาใช้ให้หมดภายในปี 2050 โดยคาดการณ์ว่าภายในปี 2023 ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในเนเธอร์แลนด์ จะสร้างมูลค่ามากกว่า 7.3 พันล้านดอลล่าร์ และสร้างงานได้กว่า 54,000 ตำแหน่ง คนจะเริ่มตั้งราคาสินค้าในราคาที่แท้จริง รวมเอาต้นทุนแฝงของการใช้ทรัพยากรอากาศ และทรัพยากรธรรมชาติมารวมด้วย

“ตัวอย่างการใช้ถุงพลาสติกในเนเธอร์แลนด์ เช่น รัฐบาลเริ่มคิดเงินค่าถุง ทำให้คนรู้สึกว่า มันมีต้นทุน ท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นนิสัยของประชาชนไปเอง หรือกระทั่งกระแสสินค้าออแกนิกส์ ผู้บริโภคก็ต้องตระหนักว่าเป็นสิ่งที่ดีจึงยอมจ่ายมากขึ้นเพื่อให้ได้สินค้าที่ดี”

ขณะที่เมืองไทยได้ประกาศการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยธนา ยันตรโกวิท รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่องค์กรปกครองท้องถิ่นฯ มีกว่า 7,851 แห่งทั่วประเทศไม่รวมกทม. บอกว่า ตั้งเป้าหมายลดขยะลง 5% โดยตั้งชุมชนต้นแบบจัดการขยะมูลฝอย 40% มีการขยะอันตรายในชุมชนได้ 100% และจัดการขยะอุตสาหกรรมได้ 100%

นอกจากนี้ยังพัฒนาชุมชนที่เป็นต้นแบบสู่การพัฒนายั่งยืน ให้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาสู่การท่องเที่ยวชุมชน เป็นต้นแบบของการใช้ทรัพยากรอย่างรู้ค่า อาทิ ชุมชนไม้หมอนฟาร์ม จ.เชียงราย เป็นชุมชนที่เกิดการแบ่งสันปันส่วนการทำสมุนไพร โดยนำเศษสมุนไพรมาผสมโดยไม่ปล่อยให้เกิดขยะเหลือทิ้ง รวมไปถึงการดัดแปลงต้นกระถินที่อยู่ริมรั้ว เมื่อต้องตัดทิ้งเพื่อตกแต่งนำมาดัดแปลงเป็นดินสำหรับเพาะกล้าต้นไม้ เป็นต้น