รมว.แรงงาน ชี้แจงกรณีการผลักดันไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ฉบับที่ 188

รมว.แรงงาน ชี้แจงกรณีการผลักดันไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ฉบับที่ 188

"รัฐมนตรีแรงงาน" ชี้แจงกรณีการผลักดันไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ฉบับที่ 188

 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่สื่อมวลชนนำเสนอว่า สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย นำโดยนายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคม พร้อมนายกสมาคมประมง 22 จังหวัดชายทะเล เตรียมยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อร้องเรียนเนื่องจากประสบความเดือดร้อน จากการที่รัฐบาลได้ออกกฎหมายการประมง เพื่อแก้ปัญหาไอยูยู ซึ่งการที่กระทรวงแรงงานจะผลักดันประเทศไทยให้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญา C 188 นั้น จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อชาวประมงภายใน 1-5 ปีข้างหน้า ในเรื่องนี้ขอชี้แจงว่า การให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานภาคการประมง ค.ศ. 2007 (2550) กระทรวงแรงงานมีเจตนารมณ์ความมุ่งมั่นที่จะสร้างหลักประกันการทำงานบนเรือประมงให้เกิดสภาพการทำงานที่มีคุณค่า (Decent Work) ซึ่งเป็นสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับการปกป้องดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในการทำงานอย่างเหมาะสมตามหลักปฏิบัติสากล

พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวต่อว่า สาระสำคัญของอนุสัญญาฯ (ILO) ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานภาคการประมง ค.ศ. 2007 จะทำให้คนงานประมง มีสภาพการทำงานที่มีคุณค่าตามข้อกำหนดขั้นต่ำในการทำงานบนเรือประมง อาทิ มีข้อกำหนดขั้นต่ำในการทำงานที่ชัดเจน ทั้งในเรื่องอายุขั้นต่ำ มีใบรับรองแพทย์ก่อนลงเรือ มีเวลาพักขั้นต่ำ 10 ชั่วโมงจาก 24 ชั่วโมง และ 77 ชั่วโมงใน 1 สัปดาห์มีทะเบียนลูกจ้าง สัญญาจ้าง การจ่ายค่าตอบแทนผ่านระบบบัญชีธนาคาร มีที่พัก อาหาร น้ำดื่มที่เพียงพอเหมาะสม มียารักษาโรคเบื้องต้นกรณีเจ็บป่วย มีช่องทางการติดต่อสื่อสารกับบนฝั่ง มีอุปกรณ์ป้องกันเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน ได้รับสิทธิความคุ้มครองด้านการประกันสังคม และเข้าถึงการดูแลรักษาทางการแพทย์ เป็นต้น

รัฐบาลได้กำหนดนโยบายเร่งด่วนสำคัญที่จะต้องแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานบนเรือประมง ซึ่งเป็นข้อห่วงกังวลของทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในประเด็นการใช้แรงงานบังคับ การค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ควบคู่กันไปกับการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) การค้ามนุษย์ในเรือประมงและข้อกล่าวหาต่าง ๆ ในมิติด้านสิทธิมนุษยชนและการกีดกันทางการค้า ซึ่งปัจจุบันรัฐบาล โดยกระทรวงแรงงานอยู่ในระหว่างรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อนำมาหาจุดสมดุลที่ถูกต้องเหมาะสมควบคู่กัน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมเสมอภาคกับทุกฝ่าย ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง ภาครัฐ เอกชน และประชาชนทุกคน

“ขอให้ผู้ประกอบการและแรงงานประมงมั่นใจได้ว่า รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะยังคงมุ่งมั่นดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมงไปอย่างต่อเนื่อง โดยพัฒนากลไกการดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองสิทธิของแรงงานให้สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานสากลเพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวในท้ายสุด