‘YoungHappy’ สูงวัยหัวใจแอคทีฟ

‘YoungHappy’ สูงวัยหัวใจแอคทีฟ

ต้องการนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยอำนวยความสะดวกทำให้ "ผู้สูงวัย" มีชีวิตที่ง่ายขึ้น มีคุณค่า มีความสุข

คือที่มาของธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise-SE) ที่ชื่อ "YoungHappy" (ยังแฮปปี้)


โดยผู้ร่วมก่อตั้งมีอยู่ด้วยกัน 3 คน ได้แก่ ธนากร พรหมยศ ,ณฎา ตันสวัสดิ์ และจุติพร อู่ไพบูลย์ ซึ่งต่างล้วนมีประสบการณ์ตรงกัน ตรงที่คุณพ่อคุณแม่อยู่ใน “วัยเกษียณ” ไม่ได้ทำงานไม่ได้พบปะผู้คน มีเวลาว่างเหลือเฟือ กระทั่งปรับตัว ปรับใจไม่ทัน ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะซึมเศร้า เหงา เครียด


ธนากร หนึ่งในผู้ก่อตั้งเล่าว่า ยังแฮปปี้ก่อตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ในปีที่ผ่านมา ช่วงนั้นก็เป็นเวลาที่คุณพ่อของเขาเพิ่งเกษียณจากการทำงานมาไม่นาน และคล้ายกับนักศึกษาที่เดินทางไปร่ำเรียนที่ต่างประเทศคือมีอาการ “Culture Shock” ทำให้ตัวเขาเองที่เป็นลูกคนเดียวของครอบครัวจึงคิดหาทางว่าต้องทำอย่างไร


"ส่วนตัวชอบธุรกิจแนว SE เพราะคุณแม่ผมทำงานให้กับกาชาดมาโดยตลอด เลยอินกับการทำงานเพื่อช่วยเหลือสังคม อยากทำงานในองค์กรการกุศลมาตั้งแต่เด็กๆ และเมื่อโตขึ้นก็รู้ว่าเราทำได้ในรูปแบบของSE โดยไม่จำเป็นต้องรวยหรือมีเงินถึงทำได้ แต่เราต้องเรียนรู้ว่าและหาทางที่จะทำให้มันยั่งยืน"


แน่นอนว่าสำหรับเขาต้องเป็น SE ที่มุ่งช่วยเหลือผู้สูงวัย ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงปัญหาของตัวธนากรเท่านั้น แต่ถือเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมโลกเลยทีเดียว


"ยังแฮปปี้จะโฟกัสผู้สูงวัยที่อยู่ในเมืองเป็นหลัก เพราะผลวิจัยพบกว่า ผู้สูงวัยที่อาศัยอยู่ในเมืองมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าสูงกว่าผู้สูงวัยที่อยู่ต่างจังหวัดถึง 60% เป็นเพราะชีวิตคนในเมืองมีความโดดเดี่ยว ต่างคนต่างอยู่"


นอกจากนี้ยังมีการผู้สูงวัยเป็น 3 กลุ่ม คือ หนี่ง กลุ่มที่ยังแอคทีฟ ปฏิบัติตัวได้เหมือนคนปกติทั่วไป สอง กลุ่มติดบ้านอาจจะมีภาวะพึ่งพิงบางอย่าง และสามกลุ่มติดเตียงไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้


“จุดมุ่งหวังของเรา ก็คือจะเข้าไปช่วยยืดช่วงเวลาของผู้สูงวัยกลุ่มแอคทีฟ เพราะเรามองว่าความแอคทีฟไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัย แต่อยู่ที่มุมมองความคิด ”


ดังนั้น ยังแฮปปี้ จึงเริ่มต้นด้วยการสร้างคอมมูนิตี้ ชุมชนที่ให้คนสมัครเข้ามาเป็นสมาชิก โดยมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเรียนถ่ายรูป ดูหนัง ท่องเที่ยว เต้นลีลาศ เรียนร้องเพลง เรียนเขียนโปรแกรม ฯลฯ เพื่อให้คนสูงวัยมาพบเจอกัน ได้ร่วมสนุก ได้ความรู้และได้คลายเหงา


"ความท้าทายที่พบในช่วงแรกๆ ก็คือ พวกเรายังไม่เข้าใจผู้สูงวัยดีพอ เราก็คิดแต่ในมุมของเรา คิดว่ากิจกรรมที่ทำมันต้องดีกับพวกเขา เช่น เราจัดให้เล่นบอร์ดเกม ผู้สูงวัยเขาก็ไม่เข้าใจและไม่สนใจ แต่พอได้มาเล่นจริงๆ พวกเขาก็บอกว่ามันก็เหมือนการเล่นไพ่และสนุก เพราะเราไม่ได้ให้ข้อมูล หรือสร้างความเข้าใจกับเขาก่อนว่า ที่อยากให้เขาเล่นเพราะอะไร เราเองจึงปรับกรอบความคิดตัวเองใหม่เปลี่ยนเป็นการทำแบบสอบถามความต้องการก่อนทุกครั้งว่า พวกเขาต้องการให้เราจัดกิจกรรมอะไร เขาอยากจะทำอะไรในเดือนนี้"


สเต็ปต่อมา ยังแฮปปี้มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการจะทำให้ชีวิตผู้สูงวัยได้เข้าถึงความสะดวกสบาย เช่นเดียวกับคนรุ่นใหม่ หรือวัยรุ่นที่ใช้เทคโนโลยีมาสร้างความสะดวก ความสนุกให้กับชีวิต


"เราพัฒนาแอพขึ้นเมื่อ 4-5 เดือนก่อน แต่ก็พบปัญหาเดิมว่า เรายังคิดในมุมของเราอีก แอพเรามีปุ่มที่เยอะเกินไป เราเลยกำลังจะปรับเวอร์ชั่นใหม่ บางฟีเจอร์ที่ไม่สำคัญไม่มีการใช้จริง ๆเราก็จะยกเลิกไป ต้องยอมรับว่าเราอยู่ในช่วงของการเลิร์นนิ่ง"


ทางตรงข้าม ทีมงานของยังแฮปปี้รวมถึงคนส่วนใหญ่อาจคิดว่ามีเทคโนโลยีบางอย่างที่ดูเหมือนจะไฮเทค หรือซับซ้อนเกินไป ดูเหมือนว่าผู้สูงวัยอาจใช้ไม่ได้ ธนากรยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะหากมีการสอนการใช้งานให้ พวกเขาจะสามารถใช้ได้ในที่สุด ที่ผ่านมายังแฮปปี้ก็เคยเปิดคลาสสอนวิธีเรียกแกร๊บแท็กซี่ เรียกไลน์แมน ซึ่งเมื่อทำเป็น ผู้สูงวัยต่างก็พูดว่าเรื่องพวกนี้ “ง่ายนิดเดียว”


"แอพของเราตอนนี้หลักๆ จะว่าด้วยเรื่องของข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้สูงวัย เช่นสิทธิประโยชน์ต่างๆ อาหารการกิน ความรู้ความเข้าใจในดิจิทัล เช่น เรามีวีดีโอสอนการแต่งรูปด้วยมือถือ พอผู้สูงวัยทำเป็นเขาก็แต่งรูปส่งไปอวดเพื่อน จริง ๆแล้วมันทำให้พวกเขารู้สึกว่าพอทำได้แล้วตัวเองยังมีคุณค่า ยังเป็นคนที่มีความสำคัญ"


ธนากรบอกว่ายังแฮปปี้มีแผนสร้างความสุขเพื่อผู้สูงวัยอีกหลายด้าน ปัจจุบันกำลังทดลองบริการ “ผู้ช่วยส่วนตัว” เนื่องจากทุกวันนี้มีผู้สูงวัยที่อยู่คนเดียวตามลำพังอยู่เป็นจำนวนมากราว 1 ล้านคนเลนทีเดียว


" แอพเราจะมีปุ่มคอลเซ็นเตอร์ให้ผู้สูงวัยโทรเข้ามาหา ซึ่งเราจะมีทีมงานซึ่งเป็นคนวัยเกษียณแต่ยังมีความรู้ความสามารถอยู่ 2-3 คน คอยหมุนเวียนรับสาย ที่ผ่านมาก็มีอยู่หลายเคสที่ผู้สูงวัยอยู่บ้านคนเดียวแล้วเจอปัญหา เช่น เจอผึ้งต่อย เจอรังผึ้งในบ้าน ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็โทรมาและทางเราก็ช่วยหาข้อมูลว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร หรือช่วยติดต่อประสานงานหน่วยงานเข้าไปช่วยเหลือ"


นอกจากนี้ยังมี “Caring Call” ที่ในแต่ละวันทางทีมงานยังแฮปปี้จะเป็นฝ่ายโทรไปหาผู้สูงวัยเพื่อไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบ ให้อารมณ์ความเป็นเพื่อนเป็นมิตรแท้


"เราจะให้ผู้สูงวัยมาลงทะเบียนเพื่อรับบริการ และทีมงานของยังแฮปปี้จะเป็นฝ่ายโทรไปหาเขาทุกวัน ๆละ 5-10 นาที ต้องบอกว่าเสียงโทรศัพท์ภายในบ้านของผู้สูงวัยแต่ละคนอาจไม่ดังมานานแล้ว พอมันดังเขาก็จะรู้สึกดีใจ และเป็นโทรศัพท์จากเราที่เชื่อถือได้ ให้เขาได้ระบาย บอกเล่าความในใจ จะทำให้เขาไม่เหงา ไม่ซึมเศร้า ทำให้เขายังรู้สึกว่ามีตัวตน"


ประการสำคัญ ในอนาคตรายได้ของยังแฮปปี้จะเกิดจากสองบริการดังกล่าว ธนากรบอกว่าเวลานี้ยังแฮปปี้มีผู้สูงวัยอยู่ในระบบ 2 พันคน แต่ภายในสิ้นปีนี้มีเป้าหมายว่าจะต้องเพิ่มขึ้นเป็น 5 พันคน


"เมื่อพูดถึงการเติบโต ในมุมของ SE จะว่าด้วยเรื่องของอิมแพ็คการสร้างผลกระทบต่อสังคมและเรื่องของรายได้ ซึ่งมันก็ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ อย่างไรก็ดี เราวางแผนว่าจะขยายไประดับภูมิภาคอาเซียนและเอเชียแปซิฟิคตามลำดับ เพราะมองว่าในภาพรวมของผู้สูงวัยในเอเชียมีความคล้ายคลึงกัน"


เพื่อจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ธนากรบอกว่าต้องอาศัยพาร์ทเนอร์ และนักลงทุนใจดีที่ไม่หวังผลตอบแทนเป็นเรื่องเงินแต่มองเรื่องของการสร้างประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งที่ผ่านมายังแฮปปี้ได้รับเงินทุนจากตลาด mai มาใช้ในการพัฒนาแอพ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการพัฒนาศักยภาพความสามารถของตัวเอง โดยยังแฮปปี้กำลังจะเข้า “เมจิก” แอคเซอเลอเรทของประเทศมาเลเซียเร็วๆนี้


"เราอาจยังไม่รีเทิร์นง่ายๆในแง่ของรายได้ แต่ในแง่การสร้างผลกระทบของสังคม ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า เราจะต้องพิสูจน์ถึงความสุขของผู้สูงวัยที่อยู่ในระบบ 1.5 หมื่นคน ว่าการได้มาทำกิจกรรมต่าง ๆร่วมกับเราทำให้เขายังเป็นผู้สูงวัยที่แอคทีฟ ดูแลตัวเองได้ โดยไม่เจ็บป่วย ไม่ต้องเสียเงินจ้างคนมาดูแลและรักษาตัว สมมุติว่าถ้าแต่ละคนต้องเสีย 3 หมื่นบาทต่อเดือน ถ้าเราเอาค่ารักษาต่อเดือนคูณจำนวนปี และคูณจำนวนผู้สูงวัยในระบบของเรา ก็หมายถึงว่าเราช่วยเซฟเงินได้อย่างมหาศาล"