เปิดเส้นทาง SMEs ตัวเล็ก จับปลามหาสมุทรใหญ่

เปิดเส้นทาง SMEs ตัวเล็ก จับปลามหาสมุทรใหญ่

ตลาดที่ขึ้นชื่อว่าเป็นน่านน้ำสีคราม (Blue Ocean) โอกาสมหาศาลในการขายสินค้า คือจีนและอินเดีย อาเซียนคนตัวเล็กที่เริ่มเข้าไปจับปลาจึงต้องไปพร้อมกับช่องทางที่ถูก เซ็คเมนท์ที่ใช่ สินค้าไทยจึงเอาชนะใจสองแผ่นดินใหญ่ที่แม้กำลังซื้อสูง แต่ช่างเลือก

ในงานสัมมนา “ติดปีก SMEs ไทยบินไกลสู่ตลาดโลก” จัดโดยกระทรวงพาณิชย์ เพื่อต้องการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) เป็นกองทัพสินค้าไทยกระจายกำลังบุกทั่วทุกมุมโลก 

ในเวที “ช่องทาง SMEs Go INTER เจาะตลาดจีน อินเดีย และอาเซียน ตลาดที่มีศักยภาพสูง ขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยอินเดียประชากรกว่า 1,300 ล้านคน และจีนมีประชากรกว่า 1,400 ล้านคน ขณะที่อาเซียนมีประชากรกว่า 600 ล้านคน กฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการเท็นเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด ตัวแทนกลุ่มธุรกิจจีน เจ้าของแพลตฟอร์มออนไลน์ขนาดใหญ่ ประกอบด้วย วีแชท(Wechat) ที่มีผู้ใช้ทั่วโลก 1,040 ผู้ใช้ (User) เป็นคนจีน 700 ผู้ใช้ , วูฟ (Voov) ไลฟ์สดในจีน และยังเป็นผู้นำเข้าเกม รวมไปถึงซื้อกิจการ สนุกดอทคอม (Sanook), และจู๊คซ์ (Joox) เล่าว่า 

จีนมีกำลังซื้อมหาศาล ที่สำคัญยังนิยมสินค้าไทย โดยเชื่อว่าสินค้าไทยมีคุณภาพ โดยเฉพาะสินค้าบริโภค ชื่อเสียงสินค้าไทยจึงถูกยกเป็นสินค้าพรีเมี่ยมที่ได้รับความนิยม

ขณะที่ช่องทางที่ควรเข้าไปตลาดจีน ออนไลน์ถือเป็นช่องทางสำคัญ เพราะประชากรชาวจีนเข้าถึงอินเตอร์เน็ทมากถึง 752 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของประชากร เพียงแต่ต้องเข้าในแพลตฟอร์มที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของสินค้าได้อย่างแท้จริง

“คนจีนไม่มีเฟซบุ๊ค ไลน์ กูเกิ้ล ยูทูป ผู้ผลิตสินค้าที่ต้องการนำสินค้าไปจำหน่ายในจีน จึงต้องรู้ว่าแพลตฟอร์มในจีนแบบไหนที่เหมาะกับลูกค้าเป้าหมาย เช่น เสิร์ซเอ็นจิ้น อย่างไป่ตู้ (Baidu) และหรือโปรแกรมแชทอย่าง วีแชท”

ที่สำคัญพฤติกรรมคนจีนทำธุรกรรมครบจบที่เดียวบนมือถือ ตั้งแต่ชอปปิง กินข้าว ฯลฯ ล่าสุดแม้กระทั่งให้อั่งเปา ยังหักบัญชีผ่านมือถือ รวมถึงการให้เงินขอทาน โดยโปรแกรมวีแชทเป็นหนึ่งในช่องทางธุรกรรมที่ใช้แพร่หลายในจีน ตั้งแต่แชท ยันจ่ายเงิน ซื้อสินค้า 

“คนจีนมักทำทุกอย่างผ่านมือถือเพราะสะดวก และหลีกเลี่ยงการสัมผัสธนบัติ หรือเหรียญ ที่อาจจะปลอมปนมากับการแพร่กระจายเชื้อโรค”

ด้าน พัชรพร สิริทรัพย์วงศ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ ไป่ตู้ (Baidu) ประเทศไทย เว็บไซต์ เสิร์ซเอ็นจิ้นที่ใหญ่ที่สุดในจีน เทียบได้กับกูเกิ้ล เล่าพฤติกรรมคนจีนว่า ยังคงเน้นการเลือกซื้อใช้สินค้าและบริการ ผ่านการหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ทเป็นหลัก โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ซึ่งเมืองไทย เป็นประเทศยอดนิยมที่คนจีนค้นหาเป็นอันดับหนึ่ง แซงหน้าเกาหลี ญี่ปุ่น และสิงคโปร์

“คนจีนมาเที่ยวไทยเฉลี่ยปีละ 10 ล้านคน และใช้เสิร์ซเอ็นจิ้นหาข้อมูลเป็นอันดับหนึ่ง แต่ประชากรจีนมีถึง 1,400ล้านคน ตัวเลขนักท่องเที่ยวมาเที่ยวไทยยังไม่ถึง 10% จึงยังมีโอกาสอีกมกา” เธอชี้ช่องพร้อมแนะว่า

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีควรออกแบบเนื้อหาที่จะสื่อสารให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ช่องทางที่มีอิทธิพลในการชี้นำการตัดสินใจซื้อของกลุ่มผู้นำความคิด หรือ ผู้มีอิทธิพล (KOL- Key Opinion Leader)

“สินค้าบริการเลือกช่องทางการเผยแพร่ผ่าน KOL ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่มีคุณภาพคนจีนเชื่อถือ เช่น รถยนต์ เครื่องสำอาง ต้องนำสินค้าเข้าไปรีวิวตรงกับกลุ่มเป้าหมาย จึงจะเกิดการตัดสินใจซื้อ" 

ด้าน ราเกซ ซิงห์ กรรมการสภาธุรกิจ ไทย อินเดีย ย้ำว่า อินเดียคือน่านน้ำสีครามที่เต็มไปด้วยโอกาสสำหรับสินค้าไทย ท่ามกลางช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ประเทศที่มีความทันสมัย ประชากรกว่าพันล้านคนมีอายุเฉลี่ย 27.3 ปี ถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่มีความต้องการสินค้าจำนวนมาก และกำลังก้าวเข้าสู่สังคมเมือง ในปี 2573 หรือในอีก 12 ปีจากนี้

สิ่งที่อินเดียน่าสนใจที่สุดคือ อัตราการบริโภคที่เติบโตล้วนมาจากความต้องการที่แท้จริง (Real Demand) ไม่ต้องอัดโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขายมากนัก

ทว่ายังมีบางเรื่องที่ต้องเอสเอ็มอีไทยต้องเข้าใจพฤติกรรมการซื้อสินค้าแดนภารตะ กับมีทัศนคติเฉพาะตัว แม้เขาจะต้องการสินค้าจำนวนมาก แต่ของที่จะซื้อนั้นต้องถูก ดี คุ้มค่า จึงต้องกำหนดราคา และหาสินค้าให้เหมาะสม

คนอินเดีย มักมีนวัตกรรมมหัศจรรย์ ประดิษฐ์สินค้าใช้งานเฉพาะตัว เช่น การใช้พัดลม โดยครอบกางเกงเพื่อปล่อยลมแยกเป็น 2 ทาง หรือแบ่งช่องห้องในบ้านติดตั้งเครื่องปรับอากาศ 1 ตัว เพื่อให้แอร์กระจายไปทั้งสองห้อง เขาเล่าความน่าทึ่งของนวัตกรรม

นอกจากนี้ควรศึกษาพฤติกรรมการกินของคนอินเดีย อย่างแบรนด์ เคลล็อก (Kellogg’s) แม้เป็นแบรนด์ดังขายดี ก็ต้องมาตกม้าตายในอินเดีย เพระคอร์นเฟลกส์ นั้นต้องทานกับนมเย็น แต่คนอินเดียชอบทานนมร้อน ปรากฎว่า คนอินเดียนำนมร้อนราดคอร์นเฟลกส์ ผลลัพธ์ที่ได้คอร์นเฟลกส์จากกรอบเปลี่ยนเป็นอ่อนยวบ หมดรสชาติ ยอดขายจึงตกในอินเดีย

ด้าน พรวิช ศิลาอ่อน ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) แนะนำว่า สถาบันก่อตั้งขึ้นเพื่อจัดอบรมและเชื่อมธุรกิจของไทยกับต่างประเทศ จึงจัดอบรมไม่เพียงการให้ความรู้แต่เป็นการเชื่อมต่อกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อมุ่งหวังที่จะเกิดการสร้างเครือข่ายทางการค้าเพื่อรองรับโลกยุคใหม่ในอนาคต โดยเฉพาะตลาดอาเซียน มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกันกับไทยและรู้จักสินค้าไทยดี

“เครื่องมือและอาวุธครบทั้งอบรม สร้างเครือข่าย หาโอกาสในตลาดที่มีความต้องการสินค้าไทย เพื่อให้เอสเอ็มอีเข้ามาใช้ลุยตลาดได้เต็มที่ โดยใช้ทูตพาณิชย์ที่กระจายอยู่ทั่วโลก เป็นแขนขา”

------------------------

SMEs ไทยบุกตลาดโลก

-เลือกตลาดบูมจีน อินเดีย อาเซียน

-จับจุดออนไลน์ เชื่อมลูกค้าเป้าหมาย

-เข้าใจความพิเศษของแต่ละชาติ

-เลือกกลยุทธ์ให้เหมาะกับสินค้า-ลูกค้า