จ่อคุ้มครอง ‘แรงงานไทย’ ในเกาหลีนับแสนราย

จ่อคุ้มครอง ‘แรงงานไทย’ ในเกาหลีนับแสนราย

อธิบดีคุ้มครองสิทธิฯบินเกาหลีทำบันทึกข้อตกลงคุ้มครองแรงงานกว่าแสนราย กรณีต้องคดีอาญา-ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม ส่วนกรณีการเสนอให้ยูเอ็นปรับลดรายชื่อบุคคลสูญหาย ยังต้องลงพื้นที่ให้ญาติยืนยันไม่ติดใจสงสัย 

เมื่อวันที่ 12 ก.ค.61 น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม  กล่าวว่า ปัจจุบันมีแรงงานชาวไทยเดินทางไปทำงานในประเทศเกาหลีมากกว่าแสนคน ตนจึงเดินทางไปทำบันทึกข้อตกลงกับอธิบดีแรงงานของสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อขอให้มีการคุ้มครองแรงงานไทยในกรณีที่มีปัญหาต้องคดีอาญาหรือตกเป็นเหยื่อถูกทำร้ายร่างกาย ควรได้รับการเยียวยาตามกฎหมายของประเทศเกาหลี เช่นเดียวกับคนเกาหลีที่เดินทางมาทำงานในประเทศไทยก็จะได้รับการดูแลตามกฎหมายของไทยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม กฎหมายของทั้ง 2 ประเทศ จะให้ความคุ้มครองเฉพาะผู้ที่เข้าเมืองโดยถูกต้องเท่านั้น

น.ส.ปิติกาญจน์ กล่าวถึงการเสนอให้องค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น เพิกถอนรายชื่อบุคคลสูญหายในประเทศไทยจาก 82 รายชื่อ เหลือ 78 รายชื่อ ว่า คณะทำงานสหประชาติว่าด้วยการบังคับหายสาบสูญโดยถูกบังคับหรือไม่สมัครใจ( WG). ระบุว่ายูเอ็นไม่จำเป็นต้องเพิกถอนรายชื่อ เพราะคณะทำงานอาจเก็บรายชื่อไว้ก่อน เมื่อญาติของผู้สูญหายแสดงความประสงค์ว่าไม่ติดใจสงสัยแล้ว จึงจะเพิกถอนรายชื่อ
 
ทั้งนี้ผู้ที่ถูกระบุในบัญชีรายชื่อผู้สูญหายจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 35 ซึ่งติดตามตัวพบจำนวน 4 ราย โดย 2 รายยังมีชีวิตอยู่และอีก 2 ราย เสียชีวิตหลังผ่านเหตุการณ์พฤษภาทมิฬมาแล้วถึง 10 ปี จึงต้องให้ญาติแสดงความจำนงว่าไม่ติดใจสงสัย ส่วนรายชื่อบุคคลสูญหายที่เหลือจำนวนหนึ่งเป็นผู้สูญหายจากการประกาศสงครามกับยาเสพติด ปี 2546 จำนวน 38 ราย. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนชนเผ่าในพื้นที่ภาคเหนือ
 
ที่ผ่านมากรมคุ้มครองสิทธิฯได้ลงพื้นที่พบปะครอบครัวของผู้สูญหาย โดยญาติไม่ได้ติดใจสงสัย ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ปรากฏในคำสั่งศาล ส่วนที่เหลือเป็นผู้สูญหายจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ว่าญาติจะไม่ติดใจหรือข้องใจกับการหายตัวไปของคนในครอบครัว แต่กรมคุ้มครองสิทธิฯยังต้องลงพื้นที่เพื่อให้ญาติยืนยันเจตนาเป็นลายลักษณ์อักษร ก่อนเสนอให้ยูเอ็นเพิกถอนจากบัญชีรายชื่อ