นายกฯ ขอบคุณบราซิล รับซื้อยางพาราจากไทย

นายกฯ ขอบคุณบราซิล รับซื้อยางพาราจากไทย

นายกฯ ขอบคุณบราซิล รับซื้อยางพาราจากไทย พร้อมมีความร่วมมือในการซื้อขายยางพาราแบบรัฐ ต่อ รัฐ

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2561 เวลา 13.30 น. นางอานา ลูซี เชนทิล กาบรัล เพเทอร์เซิน (H.E. Mrs. Ana Lucy Gentil Cabral Petersen) เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิลประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีในโอกาสเข้ารับหน้าที่ ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

นายกรัฐมนตรี กล่าวต้อนรับ และยินดีที่ได้พบอีกครั้ง หลังจากที่ได้พบกับเอกอัครราชทูตเมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 ในโอกาสที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบราซิลเดินทางเยือนไทย แทนประธานาธิบดีบราซิล นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่าหวังว่าจะมีโอกาสในการต้อนรับประธานาธิบดีบราซิลที่ประเทศไทยในเร็ววัน โดยเชิญประธานาธิบดีบราซิลเดินทางเยือนไทยในโอกาสแรก ทั้งสองฝ่ายชื่นชมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกันที่มีมาด้วยดี อย่างยาวนานโดยจะครบ 60 ปี ในปี พ.ศ. 2562 นี้ ซึ่งพร้อมที่จะจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองครบรอบความสัมพันธ์ระหว่างกัน

เอกอัครราชทูต ขอบคุณที่นายกรัฐมนตรีอนุญาตให้เข้าเยี่ยมคารวะในวันนี้ และแสดงความยินดี และชื่นชมที่รัฐบาลไทยได้ให้การช่วยเหลือ นักฟุตบอลและผู้ฝึกสอนทีมหมูป่าอะคาเดมี แม่สาย รวม 13 คน ซึ่งติดอยู่ภายในวนอุทยานถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย พร้อมกันนี้ได้กล่าวว่าพร้อมที่จะตั้งใจทำงานเพื่อกระชับคามสัมพันธ์ไทย และบราซิลให้แนบแน่นมากยิ่งขึ้น เพราะบราซิลให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์กับประเทศไทย เป็นประเทศที่มีศักยภาพ มีภูมิศาสตร์ที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางในภูมิภาคที่สำคัญ

นายกรัฐมนตรี ชื่นชมว่าบราซิลเป็นประเทศที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ประสงค์ที่จะมีการค้า การลงทุนกับบราซิลเพิ่มขึ้น ขอบคุณที่ฝ่ายบราซิลรับซื้อยางพาราจากประเทศไทย ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกยางพารารายใหญ่ที่สุดในโลก ยางพาราไทยมีคุณภาพสูง และมีจำนวนเพียงพอแก่ความต้องการของบราซิล นายกรัฐมนตรีประสงค์ให้บราซิลส่งเสริมการใช้ยางไทยในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม และผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคในบราซิล และยินดีหากบราซิลจะมีการพิจารณาการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ กอปรกับ ทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะมีความร่วมมือด้านการซื้อขายน้ำตาลมากขึ้น

ในส่วนของการลงทุนรัฐบาลไทยมีมาตรการเพื่อสนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติ โดยได้ดำเนินโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีนักลงทุนหลายประเทศร่วมลงทุนในโครงการนี้แล้ว นโยบาย Thailand 4.0 ขับเคลื่อนนโยบายด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม ตลอดจนนโยบาย Thailand + 1 เพราะประเทศไทยต้องการให้ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคได้รับประโยชน์ และมีการพัฒนาไปพร้อมกัน ซึ่งเอกอัครราชทูตบราซิลกล่าวว่าเห็นถึงศักยภาพของไทย และพร้อมสนับสนุนให้นักลงทุนชาวบราซิลร่วมลงทุนในโครงการ EEC และโครงการอื่นๆ ในประเทศไทย ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้มีการจัดการพบปะกันระหว่างเอกชน หรือ Business matching เพื่อขยายความร่วมมือด้านการลงทุนในสาขาที่มีศัยภาพ

นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพการจัดการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy : ACMECS) ครั้งที่ 8 เมื่อเดือน มิถุนายนที่ผ่านมา ที่ประชุมได้เห็นชอบ แผนแม่บท ACMECS (ACMECS Master Plan) ระยะ 5 ปี (ค.ศ. 2019 – 2023) โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศให้ข้อมูลเกี่ยวกับการประชุม ACMECS และ ASEAN ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพในปี 2562 เพื่อให้ฝ่ายบราซิลพิจารณาความร่วมมือต่อภูมิภาคนี้ต่อไป

ในตอนท้าย เอกอัครราชทูตบราซิลกล่าวว่า ยินดีที่ได้มาประจำการในประเทศไทย เพราะเห็นว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในสถานที่ที่น่าอยู่มากที่สุดในโลก