ทปอ.เร่งประชาพิจารณ์ 4 แนวทางคัดเด็กเข้ามหาวิทยาลัยปี 62

ทปอ.เร่งประชาพิจารณ์ 4 แนวทางคัดเด็กเข้ามหาวิทยาลัยปี 62

ทปอ.วาง 4 แนวทางประชาพิจารณ์ฟังความเห็นคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยปี 62 ภายในเดือนก.ค.นี้ ปรับลดเวลาสั้นลงเหลือ 4 เดือน-รอบ 3 ให้เรียงลำดับ-สาขาในกลุ่ม กสพท นับเป็น 1 ตัวเลือก-หลังยืนยันสิทธิ์ สละสิทธิ์และยืนยันใหม่ได้ครั้งเดียว

เมื่อวันที่ 6 ก.ค. นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ในฐานะนายกสมาคม ทปอ. แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารทปอ. เรื่อง แนวทางการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ระบบทีแคส (TCAS) ปีการศึกษา 2562 ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบตามที่ นายชูศักดิ์ ลิ่มสกุล ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา เสนอแนวทางการดำเนินงานของระบบทีแคส ประจำปีการศึกษา 2562 เพื่อนำไปดำเนินการประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นใน 4 แนวทาง ดังนี้ 1.ลดระยะเวลาของการคัดเลือกให้สั้นลงจาก 10 เดือน ระหว่างเดือนต.ค.-ก.ค. ให้เหลือเพียง 4 เดือน ระหว่างเดือนก.พ.-พ.ค. 2.ทีแคสรอบ 3 รับตรงร่วมกัน ให้เปลี่ยนจาก 4 ตัวเลือกที่ไม่มีลำดับ เป็น 4 ตัวเลือกที่มีลำดับและประกาศผลเพียงสิทธิ์เดียวเท่านั้น


3.สาขาวิชาที่เคยรวมกลุ่มในตัวเลือกของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท) จะถูกนับเป็นตัวเลือกหนึ่ง เหมือนกับสาขาวิชาที่อยู่นอกกลุ่ม กสพท เช่น คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จะถูกนับเป็นตัวเลือกเช่นเดียวกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ4.เมื่อมีการยืนยันสิทธิ์แล้ว การสละสิทธิ์เพื่อสมัครและยืนยันสิทธิ์ในรอบต่อไปทำได้เพียง 1 ครั้งเพื่อไม่ให้กระทบสิทธิ์ของผู้อื่น


“ทั้ง 4 แนวทางเป็นข้อเสนอที่จะต้องนำไปประชาพิจารณ์ความเห็นก่อน ซึ่งทปอ.จะดำเนินการกับทุกกลุ่มเป้าหมายทั้งนักเรียน ครูแนะแนว อาจารย์มหาวิทยาลัยและผู้ปกครอง จัดขึ้นทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยร่วมกับหน่วยงานและเว็บไซต์พันธมิตรด้านการศึกษาภายในเดือนก.ค.นี้ จากนั้นจะทำบทสรุปการพัฒนาระบบทีแคส 2562 เข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร ทปอ.ในวันที่ 3 ส.ค.2561 คาดว่าจะสามารถแถลงข้อมูลการรับสมัครบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาปีการศึกษา 2562 ในเดือนส.ค.2561”นายสุชัชวีร์ กล่าว


นายสุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การดำเนินงานของทีแคสจะสำเร็จได้ ต้องได้รับความร่วมมือกับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ข้อมูลที่เป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบในการคัดเลือกเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ทันเวลากับแต่ละรอบการคัดเลือก เช่น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สถาบันทดสอบทางการศึกษา (สทศ.) ซึ่งหากมีการลดระยะเวลาการคัดเลือกลงเหลือ 4 เดือนจะต้องปรับตารางการสอบต่างๆทั้งการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต,วิชาสามัญ 9 วิชา, การทดสอบความถนัดทั่วไป (แกต), ความถนัดทั่วไปทางวิชาการ/วิชาชีพ (แพต) หรือไม่นั้น ต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะเชิญนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ มาร่วมเป็นประธานการหารือดังกล่าว เบื้องต้นระยะเวลาการสอบต่าง ๆ จะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ภายใต้หลักการว่าเด็กจะต้องอยู่ในห้องเรียนจนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6


ด้าน นายประเสริฐ คันธมานนท์ เลขาธิการ ทปอ. กล่าวว่า เนื่องจากทีแคสรอบ 3 เป็นรอบที่เกณฑ์การคัดเลือกแต่ละคณะมีความแตกต่างกัน ดังนั้นข้อเสนอใหม่ที่ให้เลือก 4 คณะและเรียงลำดับ วิธีการเรียงลำดับจะไม่เหมือนวิธีการของรอบที่ 4 แอดมิชชั่นใช้ แต่แนวทางนี้จะเพิ่มกระบวนการทำงานมากกว่าปกติ จึงต้องได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยที่ร่วมรับในทีแคสรอบ 3 เพราะปัจจุบันคณะต่างๆจะตอบแค่ว่า คนนี้ได้ หรือไม่ได้ ไม่มีลำดับของคนเหล่านั้นมา เพราะฉะนั้น ในปีหน้าถ้าจะเรียงลำดับให้ได้ ทุกมหาวิทยาลัย ทุกสาขาวิชา จะต้องจัดเรียงลำดับคนมา มีคนสมัครกี่คนในสาขาวิชาของเขา เขาต้องจัดเรียงลำดับตามมาทุกคนตามเกรฑ์และจำนวนที่รับ อย่างไรก็ตาม ตรงนี้ยังไม่ใช่ข้อยุติเป็นแนวทางหนึ่งต้องฟังเสียงจากการประชาพิจารณ์ก่อน