'อาฟเตอร์ ยู' พลิกเกมสู้ จับนักท่องเที่ยว & นอกบ้าน

'อาฟเตอร์ ยู' พลิกเกมสู้ จับนักท่องเที่ยว & นอกบ้าน

แหล่งทำเงินในประเทศซบเซา หลังผู้บริโภคยังไม่มีอารมณ์จับจ่ายใช้สอย 'แม่ทัพ ต. สุวรรณ' หุ้นใหญ่ 'บมจ. อาฟเตอร์ ยู' จำต้องหาเส้นทางเติบโตใหม่ หันโฟกัสกลุ่มนักท่องเที่ยว & ตลาดนอกบ้าน

ยังมองไม่เห็น 'กำลังซื้อ' ในประเทศฟื้นตัว สะท้อนผ่านความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคที่ปัจจุบันให้ความสำคัญไปที่การชำระหนี้ก่อน ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขการเติบโตของ 'ยอดขายของสาขาเดิม' (Same Store Sales) ในไตรมาส 1 ปี 2561 เพิ่มขึ้น 'แค่ 1.53%' เท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้จะหวังหาการเติบโตในประเทศคงทำได้ยากมาก...!!

บมจ.อาฟเตอร์ ยู หรือ AU ผู้ประกอบการธุรกิจร้านของหวานภายใต้แบรนด์ของ 'อาฟเตอร์ ยู' จำต้องปรับ 'กลยุทธ์ธุรกิจใหม่' ด้วยการออกไปชอปปิงในต่างแดน น่าจะช่วยผลักดันฐานะการเงินได้ดีกว่านั่งรอกำลังซื้อในประเทศฟื้นตัวที่ไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไหร่...? แม้ว่าปัจจุบันตัวเลข 'ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี' จะเติบโตระดับ 4% ขึ้นไปก็ตาม 

'แม่ทัพ ต.สุวรรณ' กรรมการผู้จัดการ บมจ.อาฟเตอร์ ยู หรือ AU เล่าให้ฟังว่า ยอมรับว่าปัจจุบันผู้บริโภคในประเทศกำลังซื้อยังไม่กลับมา...! แต่บริษัทยังรักษาการเติบโตได้ต่อเนื่องนั้นมาจาก 'กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน' ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในเมืองไทยจำนวนมาก และใช้เงินจับจ่ายในเมืองไทย และหนึ่งในนั้นก็มาใช้บริการร้านขนมหวานของอาฟเตอร์ ยู ด้วย   

สอดคล้องกับสาขาที่จังหวัดเชียงใหม่ได้รับกระแสตอบรับจากลูกค้ากลุ่มนักท่องเที่ยวเกินคาด ทำให้มองว่ามีโอกาสขยายสาขาเพิ่มในเชียงใหม่อีก 2-3 แห่ง 'เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก โดยเฉพาะจีนที่นิยมมาเที่ยวกัน'  

สะท้อนผ่านตัวเลขรายได้ไตรมาส 1 ปี 2561 อยู่ที่ 201.54 ล้านบาท กำไรสุทธิ 31.17 ล้านบาท เติบโต 43.39% จากช่วงเดียวกันปีก่อน 

ปัจจุบัน 'อาฟเตอร์ ยู' แบ่งธุรกิจออกเป็น 2 อย่าง ประกอบด้วย 'ธุรกิจร้านขนมหวาน' โดยบริษัทเป็นผู้ประกอบการร้านขนมหวานภายใต้เครื่องหมายการค้าอาฟเตอร์ ยู ซึ่งมีแนวการตกแต่งร้านที่ให้บรรยากาศอบอุ่นเหมือนอยู่กับครอบครัว และสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย ทำให้กลุ่มผู้บริโภค มีหลากหลายครอบคลุมทุกเพศ วัยและอายุตั้งแต่เด็กนักเรียนไปจนถึงผู้สูงอายุ 

'ธุรกิจการบริการจัดงานนอกสถานที่ และการรับจ้างผลิต' บริษัทได้มีการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าไปสู่การบริการจัดงานเลี้ยงนอกสถานที่ เช่น งานสังสรรค์ งานแต่งงาน งานจัดกิจกรรมต่างๆ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์หลักที่ได้ให้บริการ ได้แก่ ชิบูย่า ฮันนี่โทส ช็อคโกแลตลาวา สตรอว์เบอร์รีครัมเบิ้ล และอื่นๆ นอกจากนี้ บริษัทยังได้มีการรับจ้างผลิตสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัทให้กับลูกค้ากลุ่มต่างๆ เช่น ผู้ประกอบการสายการบิน และร้านอาหาร ซึ่งมีผลิตภัณฑ์หลักที่จำหน่าย อาทิ พาย คุกกี้ ขนมปัง ของหวานต่าง ๆ

ขณะที่ การเติบโตใน 'ต่างประเทศ' หนึ่งในผู้ก่อตั้ง AU บอกว่า บริษัทจะขยายการลงทุนในต่างประเทศผ่านการขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์ โดยคาดว่าจะเซ็นสัญญาขายแฟรนไชส์ให้พันธมิตรประเทศมาเลเซียภายในไตรมาส 3 ปี 2561 และคาดว่าน่าจะเห็นสาขาแรกของแบรนด์ อาฟเตอร์ ยู ในมาเลเซียราวไตรมาส 2 ปี 2562   

นอกจากนี้ หลังจากขยายสาขาในมาเลเซียแล้ว บริษัทยังมองหาโอกาสในประเทศอื่นๆ โดยมีเป้าหมาย 5 ปีข้างหน้า (2561-2565) จะเห็นสาขาของแบรนด์ อาฟเตอร์ ยู ในภูมิภาคเอเชีย อาทิ จีน ,ฮ่องกง , สิงคโปร์ และอีกประเทศที่สนใจคือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เป็นต้น ซึ่งบริษัทคาดหวังว่าจะสามารถเปิดสาขาให้ได้อย่างน้อยปีละประเทศ 

สำหรับการเติบโตในบ้าน 'แม่ทัพ' บอกว่า ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตรทางธุรกิจกับร้านอาหาร เพื่อทำเป็นลักษณะ Co-Branding เพื่อเพิ่มยอดขายให้เติบโต ซึ่งคาดว่าจะได้ความชัดเจนไตรมาส 3 ปี 2561 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาอยู่ประมาณ 2 ราย  

ทั้งนี้ หลังจากบริษัทได้ร่วมมือกับแบรนด์สตาร์บัคส์ (Starbucks) นำขนมหวานเมนูยอดนิยมของแบรนด์อาฟเตอร์ ยู นั่นคือ ชิบูย่า , ฮันนี่โทสต์ , ชอคโกแลตบราวนี่ และ ไอศกรีม เข้าไปอยู่ในร้านกาแฟสตาร์บัคส์ ถือว่ามีการตอบรับที่ดีจากลูกค้าจำนวนมาก โดยล่าสุดทางสตาร์บัคส์ได้ให้ AU นำส่งขนมหวานให้สาขาอื่นๆ เพิ่มเติมอีกด้วย ส่งผลทำให้ขณะนี้บริษัทกำลังจะขยายเข้าไปในร้านสตาร์บัคส์เพิ่มขึ้นเป็น 8-11 สาขาในปีนี้ 

'หลังจากบริษัทมีการทำ Co-Branding กับแบรนด์ สตาร์บัค ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 2 สาขา และอยู่ระหว่างการทำร่วมกันอีก 8-11 สาขาในปีนี้ อีกทั้งก็อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรธุรกิจร้านอาหารจำนวน 2 ราย เพื่อทำธุรกิจลักษณะ Co-Branding คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในเดือนต.ค.นี้'

นอกจากนี้บริษัทเตรียมนำขนมหวานไปให้บริการบนเครื่องบิน แก่สายการบินอื่นเพิ่มเติมอีก 1 ราย โดยคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในไตรมาส 3 ปี 2561 จากปัจจุบันบริษัทเป็นพันธมิตรกับสายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ ในการนำขนมหวานไปให้บริการบนเครื่องบินเพียง 1 แห่งเท่านั้น

สำหรับการขยายสาขาในประเทศ เขาบอกว่า ตั้งเป้าเปิดสาขาใหม่ปีนี้ 8-10 สาขา ปลายปีจะมีสาขาทั้งหมด 37 สาขา จากปีก่อน 27 สาขา โดยในไตรมาสแรกเปิดไปแล้ว 3 สาขา ได้แก่ สาขาดอนเมือง, เซ็นทรัลเวิลด์ , จ.เชียงใหม่ และในเดือนมิ.ย.นี้ จะเปิดสาขาที่จังหวัดอุดรธานี และไตรมาส 3 ปี 2561 จะเปิดเพิ่มที่เซ็นทรัลพระราม 2 , ไตรมาส 4 ปี 2561 ที่จังหวัดภูเก็ต , พัทยา และสุขุมวิท 101 รวมถึงยังอยู่ระหว่างคัดเลือกทำเลเพิ่มเติมอีก ขณะเดียวกันยอดขายจากสาขาเดิมก็ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน 

'การลงทุนขยายสาขาคาดว่าจะใช้เงินราว 6-7 ล้านบาทต่อสาขา ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดและพื้นที่ในการให้บริการลูกค้า'

'แม่ทัพ' กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทอยู่ระหว่างการลงทุนก่อสร้างห้องเย็นเก็บสินค้า บนพื้นที่โรงงานเดิม เพื่อรองรับปริมาณงานจากต่างประเทศและต่างจังหวัด ที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยวางงบลงทุนไม่เกิน 90 ล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จได้ภายในไตรมาส 2 ปี 2562

'เราตั้งเป้าหมายภายใน 3-5 ปีจากนี้ สัดส่วนรายได้ที่มาจาก Co-Branding, แฟรนไชส์, Take a way และเดลิเวอรี่ จะขยับเพิ่มขึ้นมาในระดับใกล้เคียงกับรายได้ที่มาจากสาขา หรือประมาณ 50% จากปัจจุบันบริษัทยังมีรายได้หลักมาจากสาขาประมาณ 95%'

สำหรับ การการขยายหน้าร้าน , การทำ Co-Branding และ การขยายแฟรนไชส์ ยังทำไปตามแผนงานที่วางไว้ เพื่อผลักดันการเติบโตให้สูงขึ้น โดยในปี 2561  บริษัทตั้งเป้ายอดขายปีนี้เติบโต 'ไม่ต่ำกว่า 20%' จากปีก่อนอยู่ที่ 735.38 ล้านบาท เป็นไปตามการขยายสาขาภายใต้แบรนด์ อาฟเตอร์ ยู ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่เพิ่มขึ้น 

ด้านทิศทางผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2561 ยังต้องรอดูตัวเลขอีกครั้ง แต่ยอมรับว่าช่วงฤดูฝนมีผลกระทบต่อสาขาแน่นอน เพราะว่าลูกค้าไม่สะดวกมารับประทาน แต่ว่าบริษัทจะมียอดขายในส่วนของการ Take a Way หรือ การสั่งซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น แกร็บกับไลน์แมน ที่จะเข้ามาเสริมตรงส่วนนี้แทน รวมทั้ง บริษัทได้ใช้ช่องทางอีเมลจากข้อมูลสมาชิกของร้านอาฟเตอร์ ยู เป็นอีกช่องทางในการนำเสนอสินค้าใหม่ๆ หรือสินค้าตามเทศกาลต่างๆ และยังเชื่อว่าการทำตลาดแบบปากต่อปาก หรือผ่านสังคมออนไลน์เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่เหมาะสมกับธุรกิจของบริษัททำให้เกิดการกระตุ้นยอดขาย และมีประสิทธิภาพสูง เนื่องจากสามารถกระจายตัวได้อย่างรวดเร็วและมีอิทธิพลกับการตัดสินใจของลูกค้าสูง

ท้ายสุด 'แม่ทัพ' ทิ้งท้ายไว้ว่า เราจะรุกไปยังสินค้าใหม่ๆ เช่นประเภท ซื้อกลับบ้าน Take a Way และการโคแบรนด์ในกลุ่มสายการบินถือเป็นการสร้างฐานลูกค้าในระยะยาวเพิ่ม และสามารถผลักดันรายได้ให้เติบโตต่อเนื่อง

โบรกฯแนะ 'ซื้อ' รับไตรมาส2โต

บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง หรือ BLS ระบุว่า แนะนำ 'ซื้อเก็งกำไร' หุ้น AU คาดว่าผลประกอบการจะเติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยปกติไตรมาส 2 จะเป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจ รวมทั้งบริษัทมีแผนการขยายสาขาในครึ่งปีหลังชัดเจน  

อย่างไรก็ตาม มีมุมมองว่าราคาหุ้น AU จะปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าในเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา ราคาหุ้น AU เคลื่อนไหวลดลงกว่า 6% แต่มองว่าเป็นโอกาสในการทยอยซื้อสะสม โดยให้ราคาเป้าหมายปี 2561  อยู่ที่ 15 บาทต่อหุ้น อ้างอิง PEG ที่ 2 เท่า 

ขณะที่กำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2561 เป็นไปตามคาดการณ์ที่มีกำไร 31 ล้านบาท เติบโต 43% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ลดลง 10% จากไตรมาส 4/2560 สำหรับแนวโน้มไตรมาส 2 ปี 2561 เป็นช่วงไฮซีซั่นคาดว่าจะส่งผลให้กำไรหลักของบริษัทเติบโตต่อเนื่อง