ไทยใช้เงิน 9 แสนล้าน จัดการศึกษาชาติ สพฐ.เยอะสุด

ไทยใช้เงิน 9 แสนล้าน จัดการศึกษาชาติ สพฐ.เยอะสุด

บอร์ดกอปศ. เผยข้อมูลไทยใช้เงินเกือบ 9 แสนล้านจัดการศึกษาชาติ สพฐ.เยอะสุดปี 61 งบกว่า 3 แสนล้าน เฉพาะงบบุคลากรกว่า 2 แสนล้าน ชงปฏิรูปเงินอุดหนุนส่งตรงถึงโรงเรียน

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.61 นายชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ กรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ที่มีนายจรัส สุวรรณเวลา เป็นประธานเกี่ยวกับหมวด 6 ระบบทรัพยากรเพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ว่า จากข้อมูลพบว่าประเทศไทยใช้ทรัพยากรทางการศึกษาเกือบ 9 แสนล้านบาท คิดเป็น 6.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ หรือ จีดีพีและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยปีละ 2.9% โดยหน่วยงานที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานมากที่สุด คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประมาณ 70% ทั้งนี้ เมื่อดูงบประมาณปี 2561 ของสพฐ. จำนวนกว่า 3 แสนล้านบาท จำนวนนี้ 3 ใน 4 เป็นงบด้านบุคลากรกว่า 2 แสนล้านบาท คิดเป็น 73.01% ในจำนวนนี้เป็นงบค่าวิทยฐานะและค่าตอบแทนอื่นๆของครู ปีละ 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งสพฐ.มีข้าราชการเกือบ 5 แสนคนคิดเป็น 1 ใน 4 ของข้าราชการทั้งประเทศ

ขณะที่จำนวนนักเรียนเข้าเรียนลดลงสวนทางกับค่าตอบแทนครูที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปี 2550 มีสัดส่วนครูต่อนักเรียนอยู่ที่ 1: 20 คน แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 1: 16 ทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น ประกอบกับตั้งแต่ปี 2561-2565 จะมีครูเกษียณอายุราชการปีละ 2 หมื่นคน รวม 1 แสนคน ดังนั้น ควรต้องมาปฏิรูประบบทรัพยากรเพื่อการศึกษาใหม่ ซึ่ง กอปศ.มีข้อเสนอให้มีการการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาผ่านผู้เรียน รวมถึงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนต้องมีแผนอัตรากำลังที่ชัดเจนและเร่งด่วน และควรมีการปรับอัตราเงินอุดหนุนให้แก่สถานศึกษาเอกชนเพื่อกระตุ้นความต้องการเรียนโรงเรียนเอกชน

“ที่ประชุมได้ให้ไปศึกษาอัตราเงินอุดหนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ ซึ่งปัจจุบันการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวเพราะอัตราที่ใช้อยู่ปัจจุบันคำนวณมาตั้งแต่ปี 2545 หรือใช้มา 12 ปีแล้ว โดยจัดสรรตามจำนวนนักเรียนปกติของสถานศึกษา จัดเพิ่มเติมสำหรับโรงเรียนดูแลนักเรียนยากจน จัดเพิ่มเติมตามจำนวนนักเรียนพักนอนเดินทางลำบาก และเพิ่มเติมสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก”

ด้าน ศ.นพ.จรัส กล่าวว่า กอปศ.เห็นว่าถ้ามีการปรับโครงสร้างการใช้ทรัพยากรโดยให้ตรงไปที่โรงเรียนเพื่อจะได้เพิ่มประสิทธิภาพ และลดความเหลื่อมล้ำ ส่วน สพฐ.เขตพื้นที่ฯจะมีหน้าที่เพียงการสนับสนุนดูแลไม่ใช่ปฏิบัติโดยตรง อย่างไรก็ตาม ส่วนของเงินที่ใช้ด้านบุคลากรซึ่งดูเหมือนจะยังไม่มีประสิทธิภาพ เช่น เงินวิทยฐานะ ซึ่งสพฐ.ใช้ปีละประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท โดยใช้ไปมากสำหรับผู้ที่มีวิทยฐานะชำนาญการ 77,135 คนและชำนาญการพิเศษ 197,880 คน แต่ระบบวิทยฐานะยังไม่เอื้อไปสู่คุณภาพ เพราะไปอิงผลงานในอดีต อิงการเข้าร่วมการอบรมพัฒนา ต้องมีการปรับระบบวิทยฐานะให้มีความหมายมากยิ่งขึ้นและให้มีการประเมินเพื่อคงวิทยฐานะ ซึ่งอาจไม่สามารถทำได้กับผู้ที่มีวิทยฐานะอยู่แล้ว แต่จะเริ่มใช้สำหรับผู้ที่จะเข้าสู่วิทยฐานะ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ กอปศ.จะมีพิจารณาว่าส่วนใดจะต้องบรรจุไว้ในพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ส่วนใดจะอยู่ในแผนการปฏิรูปที่จะออกมาคู่กับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ

ด้าน ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า การจัดสรรงบประมาณที่จะเสนอในประเด็นการปฏิรูปประเทศ 1.งบลงทุนก่อสร้างครุภัณฑ์ให้ดูสภาพตามความจำเป็นของแต่ละที่ 2.งบดำเนินงาน ปัจจุบันอยู่ที่ส่วนกลาง 6.4 พันล้านบาท เขตพื้นที่ฯ 1.8 พันล้านบาท ซึ่งความจริงเขตพื้นที่ฯควรจะได้มากและควรมากสุดที่สถานศึกษา ปัจจุบันสถานศึกษา 30,324 โรง มีงบฯดำเนินการประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งการให้โรงเรียนใช้จ่ายได้อย่างคล่องตัวอาจต้องปรับเป็นเงินอุดหนุนหรือเงินรายจ่ายอื่น และการจัดสรรงบฯจะไม่มีการเฉลี่ยเท่ากันหมด แต่จะดูตามความแตกต่างเรื่องบุคคล เช่น ฐานะ ความพิการ สถานศึกษา เช่น สถานที่ตั้ง ขนาดโรงเรียน และความแตกต่างระหว่างรัฐและเอกชน