ศูนย์วิจัยกราฟีน..เทรนด์ลงทุนใหม่ในวงการวิจัยวิทยาศาสตร์

ศูนย์วิจัยกราฟีน..เทรนด์ลงทุนใหม่ในวงการวิจัยวิทยาศาสตร์

กราฟีน วัสดุมหัศจรรย์พลิกโฉมโลกในอนาคตอันใกล้นี้ ดร.อดิสรแห่งเนคเทคอัพเดตข้อมูลการลงทุนวิจัยในประเทศเทคโนโลยีของโลก เริ่มจากอียูลงทุน 1 พันล้านยูโร สิงคโปร์ก็ตั้งศูนย์วิจัยแห่งแรกในทวีปเอเชียด้วยเงินลงทุน 1,000 ล้านบาท…แล้วไทยเราจะว่าอย่างไร

 ทำไม? ศูนย์วิจัยกราฟีนผุดเป็นดอกเห็ดทั่วโลก เนื่องจาก กราฟีน  (Graphene) เป็นวัสดุคาร์บอนที่มีโครงสร้าง 2 มิติ นับเป็นวัสดุมหัศจรรย์ที่เปลี่ยนแปลงโลกในหลากหลายด้าน ตั้งแต่ ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ไปจนถึงอวกาศ 

 

ในสหภาพยุโรป มีการจัดตั้งโครงการเรือธงกราฟีน (Graphene flagship project)  ซึ่งเป็นโครงการวิจัยขนาดใหญ่ที่สุดของยุโรปที่ไม่เคยมีมาก่อน  มีเงินสนับสนุนวิจัยสูงถึง 1 พันล้านยูโร หรือประมาณ 40,000 ล้านบาท เป็นระยะเวลาโครงการทั้งสิ้น 10 ปี โดยมีการวิจัยใน 23 ประเทศทั่วยุโรป

 

ในอาเซียน ประเทศมาเลเซียเพื่อนบ้านของเราก็มีโครงการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านกราฟีนแห่งชาติ ปี 2020 (National graphene action plan 2020) โดยมุ่งเน้นการวิจัยที่สามารถตอบโจทย์อุตสาหกรรมภายในประเทศของตนให้ได้ สิงคโปร์ก็มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยด้านกราฟีน (Graphene research center)  โดยมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์เป็นแห่งแรกในทวีปเอเชียในปี 2010 ด้วยเงินลงทุน 40 ล้านเหรียญดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 1,000 ล้านบาท หลังจากสิงคโปร์แล้ว จะเห็นได้ว่าประเทศทั่วโลกต่างตื่นตัวกับการจัดตั้งศูนย์วิจัยเฉพาะทางด้านวัสดุกราฟีน ไม่ว่าจะเป็นประเทศเกาหลีใต้ มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยด้านกราฟีนหลายแหล่งกระจายไปทั่วประเทศ ในหลายมหาวิทยาลัย รวมทั้ง KAIST Graphene Research Center, Seoul National University หรือล่าสุดที่จัดตั้งคือ ศูนย์วิจัยกราฟีนที่มหาวิทยาลัย UNIST เมืองอุลซาน โดยรัฐบาลลงทุนวิจัยเป็นเงิน 100 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3,500 ล้านบาท) เป็นต้น

 

มีการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมอุตสาหกรรมด้านกราฟีนที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมุ่งเน้นความเป็นเลิศด้านวัสดุผสมกราฟีน ในประเทศจีน มีบริษัทที่วิจัยและมีสินค้าเกี่ยวกับกราฟีนมากกว่า 500 บริษัท  และมีมากกว่า 4,800 บริษัท ที่นำกราฟีนไปใช้ในธุรกิจของตน โดยที่จีนตั้งเป้าจะเป็นผู้นำด้านกราฟีน เนื่องจากปัจจุบันจีนมีสิทธิบัตรด้านกราฟีน มากกว่าร้อยละ 58 ของสิทธิบัตรด้านกราฟีนทั่วโลก ตามแผนเศรษฐกิจแห่งชาติของจีน รัฐบาลจีนตั้งใจจะสร้างระบบการผลิตกราฟีนในอุตสาหกรรมให้ได้ภายในปี 2020  มีการจัดตั้ง China Innovation Alliance of Graphene Industry ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเครือข่ายด้านการพัฒนากราฟีนไปสู่อุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งศูนย์วิจัยกราฟีนที่เมืองเซินเจิ้น โดยตั้งตามชื่อ นักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบกราฟีน Andre Geim  โดยใช้ชื่อว่า Shenzhen Geim Graphene Research Center จัดตั้งโดยมหาวิทยาลัย Tsinghua ร่วมกับมหาวิทยาลัย California Berkeley และรัฐบาลเมืองเซินเจิ้น  โดยมุ่งหวังเป็นดึงการลงทุนด้านอุตสาหกรรมกราฟีนจากทั่วโลกมาที่เมืองเซินเจิ้น  นอกจากนี้สาธารณประชาชนจีนยังมีการจัดตั้ง Jiangnan Graphene Research Institute ที่เมืองเจียงนาน  ซึ่งมีการลงทุนเครื่องมือวิจัยจากรัฐบาลท้องถิ่นเป็นมูลค่า 23 ล้านหยวน (ประมาณ 115 ล้านบาท) 

 

โดยล่าสุดเมื่อการเยือนสหราชอาณาจักรในปี 2015 ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ก็ได้ไปเยือน National Graphene Institute  ที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของการค้นพบกราฟีน โดยนักวิจัยรางวัลโนเบล Prof. Geim และ Novoselov โดยศูนย์วิจัยเฉพาะทางด้านกราฟีนแห่งนี้ รัฐบาลอังกฤษได้ลงทุนเป็นเงินมากกว่า 61 ล้านปอนด์  หรือ ประมาณ 2,800 ล้านบาท และภายหลังได้ลงทุนเพิ่มอีก 60 ล้านปอนด์เพื่อสร้าง Graphene Engineering and Innovation Center  นับเป็นการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มากที่สุดที่รัฐบาลอังกฤษเคยลงทุนมา

 

ประเทศไทยเราก็มีกลุ่มเครือข่ายนักวิจัยและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับกราฟีนมาตั้งแต่ปี 2010 นำโดย สวทช. มีบริษัทต่างชาติมาลงทุนในบ้านเรา แล้วประเทศไทยจะมีศูนย์วิจัยกราฟีนแห่งแรกเมื่อไร ถึงเวลาแล้วหรือไม่

*บทความโดย ดร. อดิสร  เตือนตรานนท์ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ