ถอดบทเรียนร้อยปี ดันข้าวไทย"โตแกร่ง"

ถอดบทเรียนร้อยปี ดันข้าวไทย"โตแกร่ง"

เปิดเส้นทาง 100 ปีข้าวไทย บนวังวนการเมืองแทรกฉุดโตเปราะบาง แม้ขึ้นชื่อผู้ส่งออกข้าวอันดับต้นโลก ในยุคผ่านสู่“ศตวรรษใหม่ "กูรู"ระดมสมอง ฟันธง ช่วยข้าวไทยต้องพ้นบ่วงการเมือง ปั้นแบรนด์สู่พรีเมียม ก่อนสายเกินแก้..!!

ข้าวเป็นสินค้าเกษตรหลักของไทยที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรกว่า 30 ล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรไทยกว่า 67 ล้านคน 

ความที่ข้าวเกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก ที่สำคัญเป็นคนที่มีรายได้น้อย จึงมักเป็นสินค้าที่ถูกนำไปผูกโยงนโยบายบริหารจัดการ เพื่อหวังผลทางการเมือง ไม่เท่านั้นข้าวยังเป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยมายาวนานร้อยปี 

เรียกว่า สินค้าข้าวฟันฝ่ามาหลายวิกฤติทางเศรษฐกิจ และการเมือง ! ที่อาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่ธุรกิจต้นน้ำ-ปลายน้ำ ตั้งแต่ ชาวนา โรงสี พ่อค้า ผู้ส่งออก และผู้บริโภค

ทว่า จนถึงปัจจุบันข้าวไทยยัง“คงยืนหยัด”เป็นหนึ่งในผู้เล่นสำคัญในตลาดข้าวโลก (เคยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ปััจจุบันคือ ผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลก)  

ในจัดงานเสวนา ร้อยปีที่ฟันฝ่า ร้อยปีแห่งตำนานส่งออกข้าวไทย” ที่จัดโดยสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กูรูในวงการข้าวได้บอกเล่าถึง จุดเปลี่ยน” ของวงการข้าวไทยในแต่ละยุคแต่ละสมัยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ย้อนรอยประวัติศาสตร์ข้าวไทยว่า “ข้าว” ถือเป็นสินค้าส่งออกสำคัญตั้งแต่สมัยอยุธยา มีการบันทึกไว้ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ว่าไทยค้าขายข้าวกับจีน จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 1-2 ก็ยังค้าขายข้าวกับจีน จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 4 ยังมีบันทึกประวัติศาสตร์ก็เกี่ยวกับข้าว โดยการค้าขายข้าวยังเป็นระบบค้าเสรี 

จนกระทั่งมาถึงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐรวบอำนาจในการผูกขาดการส่งออกข้าวไว้ถึง 3-4 ปี จนทำต่อไม่ไหวจึงเปิดให้เอกชนส่งออกต่อในระบบโควต้า ต้องขอใบอนุญาต (License) เป็นผู้ส่งออกข้าว

“การค้าข้าวไม่ได้สวยหรู ปัญหามากมายทั้งการจำกัดโควตา สำรองข้าว และเก็บค่าข้าวพรีเมี่ยมจากผู้ส่งออก”

กระทั่งปี 2512 มีการเปิดตัวข้าวไม่ไวแสง ขยายฤดูกาลทำนาจากปีละ 1 ครั้ง เป็นปีละ 3 ครั้ง กลายเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนในการเพิ่มปริมาณการผลิตข้าวในตลาดอย่างก้าวกระโดด

ตั้งแต่นั้นมาราคาข้าวก็ตกมาตลอด เพราะตลาดเป็นของผู้ซื้อกำหนดราคา เมื่อการผลิตมีมากกว่าความต้องการ โดยในช่วงปี ปี 2551 เป็นยุคราคาข้าวแพง ประเทศที่เป็นคู่แข่งค้าข้าวงดส่งออก เช่น เวียดนาม และอินเดีย

ปี 2554 รัฐบาลเข้าใจว่าไทยเป็นผู้กุมราคาข้าวได้ฐานที่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก จึงกวาดข้าวมาไว้หน้าตัก เพื่อผูกขาดโดยรัฐอีกครั้ง เพหวังดันราคาข้าว กลายเป็นจุดเริ่มต้นของหายนะ !! ดร.สมพร เชื่อเช่นนั้น 

ปี 2557 ผลจากการเก็บกวาดสต็อกมาเก็บไว้ในโกดังข้าวในการดูแลของรัฐ ทำให้ไทยต้องแบกสต็อกข้าวไว้ถึง 30 ล้านตัน จนต้องใช้เวลาก3 ปีกว่าจะปลดล็อกสต็อกข้าวไทยในปี 2560

นี่เป็นอุทาหรณ์สำคัญที่ต้องรู้ตัวว่า "ประเทศไทยไม่ได้มีอำนาจเหนือตลาดข้าวโลก แม้จะมีส่วนแบ่งทางการตลาด 24% แต่ทั่วโลกมีข้าวหลากหลายสายพันธุ์ และหลายชนิดเป็นทางเลือก 

แผนการดันราคาข้าวในปี 2554 จึงล้มไม่เป็นท่า

ขณะที่นักวิชาการผู้ที่ทำวิจัยเรื่องข้าว อย่าง รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เห็นถึงวังวนปัญหาข้าวไทยขึ้น-ลงตลอดช่วง 100 ปีว่า “ข้าว”เป็นสินค้าการเมือง ! 

ที่ผ่านมาจึงบริหารจัดการด้วยกลไกทางการเมือง ที่มีความซับซ้อนกว่ากลไกทางเศรษฐศาสตร์ บนหลักการประสานผลประโยชน์ทุกฝ่าย

“ความยุ่งยากซับซ้อนในวงการข้าว เพราะการเมืองซับซ้อนมากกว่า ในการรักษาสมดุลของผลประโยชน์ทั้งนักการเมือง และวงราชการ”

เขายังแบ่งยุคเปลี่ยนผ่านวงการข้าวไทย เป็น 5 ยุคในช่วงกว่า 100 ปีที่ผ่านมา

1.ยุคแทรกแซงตลาดส่งออก ยุคค้าข้าวเสรีเกิดขึ้นตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ 4 จนถึงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มมีการแทรกแซงตลาด ควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน กดราคาข้าว เพื่อดูแลข้าราชการที่มีเงินเดือนน้อย ทำให้ชาวนาถูกกดราคาข้าว เกิดปัญหาการทุจริต

2.ยุคประชาธิปไตย หลัง 6 ต.ค. 2519 รัฐบาลเข้ามากุมอำนาจ ในการสำรองข้าวสาร มีการบังคับซื้อและขายข้าวโดยองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) หน่วยงานดูแลข้าว โดยรัฐมนตรีในยุคนั้นได้ทำประกันราคาข้าวโดยไม่ใช้เงินกองทุน แต่กู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ 4,500 ล้านบาท ผลที่ตามมาก็คือ “ขาดทุนมโหฬาร”

3.ยุคประชาธิปไตยเต็มใบ มีการประกันราคาข้าวโดยพึ่งพาโรงสีเป็นกลไก เพราะเป็นหัวคะแนนในการช่วยหาเสียงในพื้นที่

4.ประชานิยม ยุคพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ให้บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริเทรดดิ้ง เป็นเครื่องมือสร้างกลไกผูกขาดตลาดรับจำนำข้าวแล้วนำมาบริหารจัดการเพียงรายเดียว จนเข้าสู่ของยุคนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ยังคงใช้นโยบายจำนำข้าวในแบบเดียวกันกับผู้พี่ แต่หนักกว่าด้วยการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดแบบไม่จำกัดปริมาณ

ทำใหรัฐขาดทุนจากโครงการนี้กว่า 6 แสนล้านบาท เกิดการทุจริตจากการขายข้าวมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท 

นี่คือผลผลิตของการแก้ไขปัญหาโดยใช้กลไกทางการเมืองนำ !

5.ยุคคสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) เป็นยุคของการเร่งระบายข้าวในสต็อกกว่า 30 ล้านตัน ที่เหมือนเป็นพันธนาการ เพราะถูกผู้ซื้อต่างประเทศกดราคาข้าวไทยมาตลอด เพราะรู้ว่าไทยแบกสต็อกข้าวไว้จำนวนมาก 

ภายหลังระบายสต็อกจนหมด จึงเกิดการ นับหนึ่งในการวางยุทธศาสตร์ข้าวไทย

ทว่า การวางยุทธศาสตร์ยังไม่เป็นรูปธรรม เพราะยังขัดขาตัวเอง แม้ยุทธศาสตร์ต้องการจะลดผลผลิตข้าว เพื่อดันราคาขึ้น และเน้นเพิ่มคุณภาพข้าว แต่ขณะเดียวกัน กลับมีนโยบายจำนำยุ้งฉางมาอุ้มเกษตรกรอีกรอบ

นักเศรษฐศาสตร์ สรุปถึงการเปลี่ยนผ่านวังวนข้าวไทย 5 ยุคว่า ล้วนมีการเมืองแทรกแซง เพียงเพื่อคำนึงถึงผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม บางยุคผลประโยชน์ตกอยู่ในมือโรงสี บางยุคอุ้มผู้ส่งออก นักการเมือง สุดท้ายตลาดข้าวไทยก็เจ็บตัวไปตามกัน

สำทับจาก อภิรดี ตันตราภรณ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผู้ที่นั่งกำกับดูแลการระบายข้าว 3 ปี จึงเกลี้ยงสต็อก เมื่อราคาข้าวต้องอิงการผลิตและความต้องการของโลก ทำให้บางช่วงต้องยอมขายขาดทุน

การผลิตและความต้องการ ถือเป็นผู้กำหนดราคาข้าวที่แท้จริง เป็นมือที่มองไม่เห็น ที่ไม่มีใครคาดเดาสถานการณ์ผลผลิตแต่ละปีได้

ส่วนมือที่มองเห็นที่กำหนดราคาข้าวคือ “รัฐบาล” ซึ่งช่วงที่ผ่านมาเข้ามาแทรกแซงราคาในประเทศ ผ่านการรับจำนำราคาสูง 

เธอเปรียบว่า บทบาทภาครัฐในความจริงเหมือนกับการมีลูกหลายคน ที่จะต้องเกลี่ยผลประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้องในวงการข้าวให้สมดุล ตั้งแต่ เกษตรกร โรงสี พ่อค้าข้าว และผู้บริโภค ให้อยู่ร่วมกันได้ ซึ่งในความเป็นจริงเป็นเรื่องยากมากที่จะทำให้ข้าวเปลือกราคาแพง เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ดี และทำให้ข้าวสารราคาถูกเพื่อให้ผู้บริโภคไม่เดือดร้อน 

ด้าน วิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย มองว่า พ่อค้าข้าว และผู้ส่งออกข้าวไทย ตกเป็นจำเลยสังคมเพราะถูกมองว่ากดราคาข้าวมาตลอด 

แต่ในความจริงกลไกกำหนดราคาไม่ใช่ผู้ส่งออก ที่เป็นผู้ตั้งราคา แต่เกิดจากการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขาย ที่จะไปเซอร์เวย์เจรจากับผู้ซื้อในตลาดก่อนว่าหากราคา 430 ดอลลาร์ต่อตัน (FOB) ซึ่งแปลงเป็นเงินบาท ราคารับซื้อข้าวเปลือกที่ 8,500 บาทต่อตัน หากเกษตรกรไม่ขาย ก็ต้องกลับไปตกลงราคาใหม่กับผู้ค้าขยับขึ้นเป็นราคา 435 ดอลลาร์ต่อตัน เป็นต้น 

โดยสถานการณ์ราคาในแต่ละช่วงไม่มีใครกำหนดได้แม้แต่ผู้ซื้อและผู้ขาย แต่มีตัวเลขในใจภายหลังคำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยนของแต่ละคน ช่วงไหนที่เงินบาทแข็งอย่างรวดเร็วพ่อค้าขายข้าวก็ต้องยอมรับผลขาดทุน

นี่คือความจริงของสถานการณ์ราคาข้าวไทยและในตลาดโลกในยุคที่ผ่านมา

--------------------------------------

ปลดล็อกวังวนข้าวไทย สู่ ศตวรรษที่2”

หลังจาก 100 ปีแรกข้าวไทย กลับไปกลับมาระหว่างยุคเสรี และยุคผูกขาด รวมถึงการอุดหนุนโดยการประกันราคาหรือรับจำนำ ข้าวไทยจึงเติบโตบนฐานที่เปราะบางโดยอิงประโยชน์ทางการเมือง บางครั้งเอียงไปเข้าข้างทางเกษตรกร บางช่วงโรงสี และผู้ค้าข้าว

ทั้ง 4 กูรู จึงนำเสนอแนวคิดปลดล็อกวังวนข้าวในปัญหาเดิมซ้ำไปมา สู่การค้าข้าวในมิติใหม่ที่เติบโตยั่งยืน มีกำไรทั้งซัพพลายเชน 

อภิรดี ตันตราภรณ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มองว่า ไทยเป็นประเทศที่ผลิตข้าวได้หลากหลายชนิดตามที่ตลาดต้องการ มีทั้งข้าวขาว ข้าวพื้นนิ่ม ข้าวหอมมะลิ สำหรับกลุ่มพรีเมี่ยม และข้าวสีสำหรับคนรักสุขภาพ

เทรนด์การรับประทานข้าวในปัจจุบันมีหลายประเทศเริ่มหันมาทานข้าวหอมมะลิมากขึ้น เพราะคนมีรายได้มากขึ้น ก็ทานข้าวกลุ่มพรีเมี่ยมมากขึ้น

การเดินสู่ตลาดข้าวพรีเมียมจึงถือว่า “ถูกทาง” โดยมุ่งไปสู่การยกระดับคุณภาพข้าว แทนการแข่งขันราคากับข้าวขาว

“อนาคตต้องผลิตข้าวคุณภาพ และหลากหลายป้อนตลาด นโยบายมีส่วนสำคัญที่ทำให้เดินถูกทาง ตัดสินใจให้ชัดเจนไม่เห็นประโยชน์แก่คนบางกลุ่ม”

สิ่งสำคัญที่สุดคือก่อนกำหนดนโยบาย ต้องรับฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่เกษตรกร โรงสี ผู้ค้าข้าว และผู้ส่งออก มาฟังปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหา เพื่อให้ข้าวยังคงเป็นสินค้ายุทธศาสตร์ของไทยต่อไป

ด้าน วิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย มองว่า บทบาทของรัฐบาล ไม่ควรมายุ่งกับ "ราคาข้าว" เพราะไม่ใช่หน้าที่รัฐ และปัจจุบันราคาข้าวถือว่าดีดตัวขึ้นสูงมากตามความต้องการของตลาด เป็นผลมาจากสต็อกข้าวที่หายไป

“ราคาข้าวดีอยู่แล้ว ซึ่งกำหนดโดยคนสองฝั่งผู้ซื้อและผู้ขาย ที่สูงไปก็ขายไม่ได้ ต่ำไปชาวนาก็ไม่ปลูกข้าว เป็นกลไกที่ดูแลผลประโยชน์ให้ยุติธรรมและลงตัวในระยะยาวที่สุด”

สิ่งสำคัญที่ภาครัฐควรมีหน้าที่เข้ามาช่วยดูแล เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของข้าวไทย ได้แก่ การช่วยหาหนทางลดต้นทุนการเพาะปลูกและลงทุนด้านระบบขนส่ง รวมถึงพัฒนาพันธุ์ข้าว ให้เหมาะสมกับความต้องการตลาด

โอกาสทางการตลาดที่เห็นชัดในปัจจุบันคือ ตลาดจีนมีประชากรเกือบ 1,400 ล้านคน เป็นตลาดที่ใหญ่ ซึ่งจีนกำลังประสบปัญหาไม่ทานข้าวที่ตัวเองปลูก เพราะเชื่อว่ามีสารเคมีปนเปื้อน ที่สำคัญที่สุด จีนกำลังต้องการสำรองข้าวในปริมาณมาก เพื่อป้องกันภัยแล้ง ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ จนปัจจุบันหลายพื้นที่ในจีนไม่สามารถปลูกข้าวได้

“คนจีนไม่สนใจกินข้าวที่ตัวเองปลูกเพราะบางพื้นที่ปลูกโดยใช้เคมี ทำให้ปนเปื้อนในแหล่งน้ำ มีเคมีผสม ข้าวในมณฑลยูนนานจึงขายข้ามมณฑลไม่ได้”

ปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งน้ำ ภัยแล้ง และสารเคมีปนเปื้อน เป็นโอกาสที่จะนำข้าวจากไทยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะคนจีนมีฐานะร่ำรวย มีรายได้เพิ่มขึ้น จึงนิยมกินข้าวหอมมะลิ มากขึ้น

ภาครัฐจึงต้องเข้าไปส่งเสริมการปลูกข้าวหอมมะลิ ให้เพียงพอกับความต้องการในตลาดที่เพิ่มขึ้น พร้อมกันกับปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้มีความหอมเพิ่มขึ้น

ขณะที่ รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ มองว่า ก้าวสู่การพัฒนาเกษตรยุค 4.0 เทคโนโลยีเป็นตัวแปรสำคัญในการพัฒนาสินค้าเกษตรให้ก้าวหน้า เช่นเดียวกันกับ จีนและอินเดียที่มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวไฮบริด

ตลาดพันธุ์ข้าวพื้นนิ่ม เป็นเทรนด์ความต้องการโลกที่ไทยมีโอกาสมหาศาล เมื่อความต้องการสูงขึ้นหลายประเทศที่มีเศรษฐกิจดีขึ้น มีรายได้สูงขึ้นก็หันมาทานข้าวนิ่มเพิ่มขึ้น อาทิ ตลาดแอฟริกา และจีน รวมถึงเอเชียในหลายประเทศ รวมไปถึงข้าวหอมมะลิ คนเปลี่ยนพฤติกรรมทานมากขึ้น จนความต้องการสูงขึ้น ราคาข้าวหอมมะลิขยับไปถึง1,200 ดอลลาร์ต่อตัน

สำหรับกลุ่มประทเศที่ปลูกข้าวหอมมะลิ มีเพียง 3 ประเทศที่ผลิตได้ คือ กัมพูชา เวียดนาม และไทย ความต้องการจึงสูงขึ้นหากเทียบกับกำลังการผลิต และขีดแข่งขันของประเทศเหล่านี้ยังตามไทย

รวมไปถึงตลาดข้าวเพื่อสุขภาพ กลุ่มข้าวเฉดสี กำลังขยายตัว ข้อมูลปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกข้าวเฉดสีต่างๆ ถึง 10,000 ตัน เป็นโอกาสที่จะขยายไปตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่มุ่งเน้นคุณค่าทางโภชนาการ

ไทยไม่ควรลงไปแข่งขันกับข้าวพื้นแข็งที่การแข่งขันสูง สู้กันด้วยราคาต่ำเป็นหลัก

ปรากฎการณ์ที่จีนเก็บสต็อกข้าวเพิ่มขึ้นจาก 60 ล้านตันเป็น 90 ล้านตัน ยังสะท้อนได้ว่าจีนต้องการข้าวมาเก็บไว้เพื่อความมั่นคงทางอาหาร เพื่อเตรียมการรับมือวิกฤติทางธรรมชาติที่ไม่แน่นอน ผลผลิตในอนาคตอาจจะน้อยลง รวมไปถึงการเตรียมการรับมือกับภัยหนาวเย็นที่ยาวนานขึ้น น้ำน้อย และภัยแล้ง

ด้าน รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกรนักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองว่า หน้าที่รัฐบาลต้องส่งเสริมเรื่องใหญ่เป็นหลัก คือการยกระดับข้าวพื้นนิ่ม ซึ่งเป็นประโยชน์กับเกษตรกรทั้งในด้านของการขายข้าวได้ราคา และเทรนด์ตลาดกำลังมีความต้องการสูงมาก

จุดแข็งสำหรับข้าวไทย คือมีพื้นที่เพาะปลูกมากกว่าเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่ง รวมไปถึงเอกชนมีความเข้มแข็ง มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มีความรู้ เริ่มก้าวเข้าสู่อาชีพเกษตรมากขึ้น

สำหรับอุปสรรคคือ เกษตรกรในไทยเริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย อายุเฉลี่ยมากว่า 50 ปี และพ่อค้า เกษตรกรบางกลุ่มยังอิงอยู่กับการเมือง เป็นปัญหาที่ทำให้ไทยยังหลุดไม่พ้นวังวนปัญหา

ในยุคที่ข้าวไทยต้องเผชิญกับความท้าทายหลากหลายด้าน ตั้งแต่ต้นทุนทางเทคโนโลยีที่สูงขึ้น จึงควรนำผลวิจัยเข้ามาประกอบการตัดสินใจ เพราะสิ่งที่ภาครัฐยังขาดคือ “ข้อมูล”ที่สอดคล้องกับความจริง เพื่อมาประกอบการตัดสินใจและกำหนดนโยบายได้ตรงจุด

“ข้อมูลผลผลิต และตลาดยังคลาดเคลื่อนไม่รู้แน่นอนว่าเท่าไหร่ มีเพียงจำนวนที่คาดคะเน ดังนั้นจึงควรลงทุนด้านเทคโนโลยีเข้ามาช่วยปรับปรุงระบบข้อมูลให้ชัดเจน เพื่อมาใช้ตัดสินใจในการกำหนดนโยบายได้ตรงกับความจริง”

------------------------------------

เปิดแนวรบ..ชิงตลาดพื้นนิ่มเวียดนาม

  ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผยถึงโอกาสของตลาดข้าวพื้นนิ่มที่เติบโตขึ้นทุกปี จนติดตลาด ทำให้เวียดนามส่งออกไปในจีนรวมถึง 4 ล้านตันจากนำเข้าข้าวในจีนปีละ 6 ล้านตัน 

โดยเวียดนามส่งออกข้าวพื้นนิ่มถึง 1ล้านตัน จนตลาดข้าวพื้นนิ่มเป็นที่ต้องการของลูกค้าชาวจีนถามหา แล้วลามไปยังประเทศอื่นๆ เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์

เวียดนามเริ่มส่งออกข้าวพื้นนิ่มในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากหลักหมื่นตันขยับมาเป็น 1 แสน และเริ่มชัดเจนว่า มีตลาดใหญ่ขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จนทำให้ไทยเสียโอกาส และยังเข้าชิงตลาดข้าวขาวของไทยที่ไม่ได้ส่งออกไปจีน มีเพียงการส่งออกข้าวหอมมะลิ หลักแสนตัน

“เหตุที่ต้องผลักดันข้าวขาวพื้นนิ่ม จากที่เราไม่เคยสนใจเซ็กเมนท์นี้ เดิมเราส่งออกข้าว 3 ประเภท คือ ข้าวขาวพื้นแข็ง ข้าวนึ่ง และข้าวหอมมะลิ โดยข้าวขาวขายรวมกันไม่เคยแยกพื้นแข็งและพื้นนิ่มทำให้ไทยเสียเซ็กเมนท์นี้ไปให้กับเวียดนามที่พัฒนาได้เร็วมาก จนได้รับความนิยม ลูกค้า ให้รู้สึกว่าหากส่งออกยั่งยืนต้องเปลี่ยนรูปแบบแยกเซ็กเมนท์ให้หลากหลาย มีข้าวพื้นนิ่มด้วย”

ปัจจุบันราคาข้าวขาวทั่วไปอยู่ที่ 400 ดอลลาร์ต่อตัน ขณะที่ข้าวขาวพื้นนิ่มของเวียดนามอยู่ที่ 500 ดอลลาร์ต่อตัน ส่วนตลาดข้าวหอมของไทยก็มีราคาสูงกว่าข้าวขาวสูงมาก โดยข้าวหอมปทุมอยู่ที่ 700-800 ดอลลาร์ต่อตัน ส่วนข้าวหอมมะลิของไทยราคาอยู่ที่ 1,200 ดอลลาร์ต่อตัน

นี่คือช่องว่างทางราคาที่ทำให้ข้าวไทยต้องเสียเซ็กเมนท์ข้าวขาวพื้นนิ่มให้กับเวียดนามในราคาที่ยอมจ่ายแพงกว่าข้าวขาวเล็กน้อย แต่ได้ข้าวนิ่มกว่า โดยกลยุทธ์การทำตลาดของเวียดนาม ก็ส่งผลดันราคาข้าวขาวเวียดนามขยับขึ้นมาราคาเท่ากับข้าวขาวไทย จากเดิมที่ราคาถูกกว่าไทย 30-50 ดอลลาร์ต่อตัน

ทางสมาคมผู้ส่งออกข้าว ได้หารือกับภาครัฐ ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ ให้วางแผนส่งเสริมตลาดข้าวพื้นนิ่มตั้งแต่พันธุ์ข้าวจนถึงการส่งเสริมการตลาดอย่างจริงจัง เพราะเป็นตลาดใหญ่ หากเทียบกับตลาดข้าวสี และตลาดข้าวหอมมะลิ ตลาดข้าวพื้นนิ่มมีความต้องการสูง และเติบโต จึงควรรุกเข้าไปชิงตลาดอย่างจริงจัง ก่อนเวียดนามครองตลาดไปจนตามไม่ทัน

ข้าวขาวพื้นนิ่มเป็นเซ็กเมนท์ที่ต้องเริ่มผลักดันอย่างจริงจังเป็นโอกาสในการขายได้ถึงปีละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตัน

“เรามีธนาคารพันธุ์ข้าวอยู่แล้ว และปลูกอยู่แล้วแต่ยังไม่แยกเซ็กเมนท์ หรือบางพันธุ์ต้องไปทดลองปลูกซึ่งมีรายการข้าวพันธุ์พื้นนิ่มที่น่าส่งเสริมไปสู้กับเวียดนามประมาณ 4-5 พันธุ์ คือ ข้าวพันธ์กข,59, พันธ์กข.21, พันธุ์กข.77 และพันธุ์กข. 79 ซึ่งต้องทดลองปลูก เพื่อดูปริมาณผลผลิตและความคุ้มค่าเชิงพาณิชย์แล้วจึงเลือกพันธุ์ที่จะนำไปแนะนำให้เกษตรกรปลูกอย่างจริงจังเพื่อสร้างโอกาสในการทำตลาด”

สำหรับแผนการรุกตลาดนั้น สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยจะเริ่มเดินทางไปตลาดโดยนำพันธุ์ข้าวพื้นิ่มของไทยไปจัดโปรโมททดลองชิมในปลายปีนี้ เพื่อแนะนำให้ลูกค้าที่ซื้อข้าวหอมมะลิเดิมรู้จักก่อนขยายไปยังตลาดลูกค้าอื่นๆ คาดว่าปีหน้าจะเริ่มจำหน่ายได้หลักแสนตัน และขยายเป็น 1 ล้านตันภายใน 5 ปี

ลูกค้าจีนไม่ซื้อข้าวขาวจากไทยเลย ซื้อแต่ข้าวหอม จึงต้องใช้เวลาในการแนะนำข้าวพื้นนิ่มจากไทยให้เป็นที่รู้จัก ในขณะที่เวียดนามติดตลาดในจีนอยู่แล้ว แต่ก็ยังดีกว่ายังไม่เริ่ม หลังเข้าไปทำตลาดและเห็นของจริงแล้วซึ่งเราเห็นดีมานด์แล้วแต่ก็ขอดูของจริง จึงรู้การตอบรับตลาดและกลับมาทำแผนกลยุทธ์การพัฒนาตลาดข้าวพื้นนิ่มอย่างเป็นรูปธรรม โดยส่งเสริมร่วมกันทั้งระบบกับภาครัฐ