ส่องขุมทรัพย์ 'บีทีเอส' โครงการในมือ & อนาคต

ส่องขุมทรัพย์ 'บีทีเอส' โครงการในมือ & อนาคต

แหล่งทำเงินในประเทศกำลังเฟื่องฟู ผ่านโครงการบิ๊กไซด์ภาครัฐมูลค่าระดับ 'แสนล้าน' ปัจจัยบวก 'บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์' มือการเงิน 'สุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์' เปิดแผนธุรกิจพร้อมโลดแล่น แย้มเมืองไทยยังมีสัดส่วนคนใช้ระบบรางไม่ถึง 10%

ความหวังจะมีรายได้รวมทะยานแตะ '30,000 ล้านบาท' เติบโตเฉลี่ยปีละ 29%  ภายใน 5 ปี (59/60-64/65) หลักๆ มาจาก 'ธุรกิจขนส่งมวลชน' (MASS TRANSIT) ที่ตั้งเป้าโตเฉลี่ยปีละ 25% จากโครงการเมกะโปรเจค และปัจจุบันกำลังจ่อซื้อซองประมูลโดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) มูลค่ากว่า 1.6 แสนล้านบาท ของ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ BTS แผนการใหญ่นี้ยังมีความเป็นไปได้หรือไม่...!! 

สะท้อนผ่าน ปัจจุบันประเทศไทยยังมีการใช้บริการระบบขนส่งมวลชนระบบราง 'ไม่ถึง 10%' หากเทียบกับต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ ฮ่องกง ที่มีสัดส่วนการใช้ระบบขนส่งระบบรางมากกว่า 50% ขึ้นไป  ขณะที่สหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 42%

ฉะนั้น โอกาสการเติบโตของระบบขนส่ง MASS TRANSIT ในเมืองไทย ยังสามารถเติบโตไปได้อีกหลายปี...!!!  

'สุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ BTS เล่าให้ฟังว่า ในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ บริษัทจะเข้าซื้อซองประมูลโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะทาง 220 กิโลเมตร ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการคุยกับพันธมิตรมาร่วมทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งต้องได้ข้อสรุปก่อนวันที่ 12 พ.ย.2561 เพื่อให้มีความพร้อมก่อนที่จะยื่นซองประมูล 

'เราคุยกับพันธมิตรทุกรายที่สนใจลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ตามที่มีกระแสข่าวออกมาเป็นระยะๆ ทั้งในและต่างประเทศ เรามีความถัดในเรื่องระบบขนส่งมวลชนทั้งเดินรถไฟฟ้า จัดหาขบวนรถไฟฟ้า และงานซ่อมบำรุง'      

โดยเบื้องต้นจะมี 'กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์' (BSR Joint Venture) ร่วมมือกันเข้าประมูลโครงการนี้ อนึ่ง BSR Joint Venture เป็นการร่วมมือระหว่าง BTS,  บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น หรือ STEC และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง หรือ RATCH 

'ในปีนี้ BTS จะเข้าประมูลทุกโครงการระบบขนส่งของภาครัฐ ผ่านกลุ่ม BSR หลังจากกลุ่ม BSR ชนะประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง'

ขณะเดียวกันบริษัทมีความสนใจที่จะเข้าลงทุนจุดเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าสายสีชมพูกับสายสีเหลืองเข้าด้วยกัน ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุนราว 2,000 ล้านบาท

สำหรับธุรกิจของบริษัทประกอบด้วย 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1.ธุรกิจระบบขนส่งมวลชน (MASS TRANSIT) 2.ธุรกิจสื่อโฆษณา (Media) 3.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (Property) และ และ 4.ธุรกิจบริการ (Services)อย่างไรก็ตาม ในปี 2561/2562 บริษัทตั้งเป้าหมายการเติบโตของรายได้จากหลากหลายส่วนธุรกิจ

โดยในส่วนธุรกิจแรก คือ 'ธุรกิจขนส่งมวลชน' (MASS TRANSIT) คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 65%คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตในส่วนของจำนวนผู้โดยสารราว 4-5% จากปีก่อน มีปัจจัยหลักจากการเติบโตด้วยทรัพยากรหรือสินทรัพย์ที่มีอยู่ของบริษัท (Organic growth) และการเปิดให้บริการเต็มรูปแบบส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้ (แบริ่ง–สมุทรปราการ) ระยะทาง 12.6 กิโลเมตร ในเดือน ธ.ค.นี้ 

ขณะที่ ในส่วนของอัตราค่าโดยสารโดยเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้น 1.5-2% จากปีก่อน รวมทั้งการเปิดบริการส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้ (แบริ่ง–สมุทรปราการ) จะเป็น 'ปัจจัยสนับสนุน' ในการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง คาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 30% และคาดว่าในปีนี้จะรับรู้รายได้จากงานติดตั้งระบบและจัดหารถไฟฟ้าขบวนใหม่สำหรับส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต–คูคต) และใต้จำนวน 7,000-9,000 ล้านบาท  

นอกจากนี้ ยังมีการรับรู้รายได้ค่าก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) จำนวน 20,000-25,000 ล้านบาท รวมทั้งรายได้ดอกเบี้ยรับจากงานจัดหาขบวนรถไฟฟ้าและงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ประมาณ 600-700 ล้านบาท 

'ซีเอฟโอบีทีเอส' บอกต่อว่า สำหรับรายได้จากธุรกิจระบบขนส่งมวลชนปี 2560/2561 อยู่ที่ 9,112 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 115% เทียบกับปีก่อน เนื่องจากรายได้จากงานให้บริการจากการติดตั้งงานระบบ และการจัดหาขบวนรถไฟฟ้าใหม่มีสัดส่วนมากสุดถึง 65% และรายได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงราว 20% และสัดส่วนเงินลงทุนใน BTSGIF  ราว 10% ซึ่งการเพิ่มขึ้นของรายได้มีปัจจัยหลักมาจาก

1.การบันทึกรายได้จากการให้บริการติดตั้งงานระบบและการจัดหารถไฟฟ้าขบวนใหม่โครงการส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือและใต้จำนวน 5,800 ล้านบาท 2.รายได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงที่เพิ่มขึ้น 12% จากปีก่อน เป็น 1,865 ล้านบาท เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของสัญญาค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายสายสีเขียว รวมถึงการเดินรถและซ่อมบำรุงที่เพิ่มเปิดดำเนินการไป และ 3.ส่วนแบ่งกำไรสุทธิเงินลงทุนใน BTSGIF ที่เพิ่มขึ้น 0.4% จากปีที่แล้ว เป็น 949 ล้านบาท 

ขณะที่ ในส่วนของต้นทุนระบบขนส่งมวลชนเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 6,274 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหลักจากการบันทึกต้นทุนในการให้บริการงานติดตั้งระบบ และจากการจัดหารถไฟฟ้าขบวนใหม่สำหรับโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือและใต้ 

'ธุรกิจสื่อโฆษณา' (Media) คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 28% ดำเนินการภายใต้ บมจ. วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย หรือ VGI ถือเป็นปีที่เห็นพัฒนาการ 'โดดเด่น' จากการปรับกลยุทธ์ใหม่สู่การเป็นผู้ให้บริการสื่อครบวงจร ที่สามารถเชื่อมต่อการให้บริการในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อเป็นการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในการโฆษณาและการสื่อสารได้อย่างครบวงจร โดย VGI สามารถทำรายได้สูงที่สุดนับตั้งแต่ตั้งบริษัทมาอยู่ที่ 3,902 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จากปีก่อน 

โดยธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้านมีสัดส่วนรายได้มากสุดถึง 91% ของรายได้รวมธุรกิจสื่อโฆษณา หรือคิดเป็น 3,559 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% จากปีก่อน มีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการขึ้นราคาขายสื่อโฆษณา การ 'ผนึกกำลัง' (Synergy) จากธุรกิจบริการดิจิทัลรวมไปถึงการควบรวมงบทางการเงินเต็มปีของ บมจ. มาสเตอร์ แอด หรือ MACO 

'ธุรกิจสื่อโฆษณาในปีนี้คาดว่าจะมีรายได้อยู่ในช่วง 4,400-4,600 ล้านบาท และคาดว่าจะมี กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) ในช่วง 40-45% และคาดว่าจะมีอัตรากำไรสุทธิอยู่ในช่วง 20-25%'

'ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์' (Property) คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 4% คาดว่ารายได้เติบโตเพิ่มขึ้น 4% มาเป็น 639 ล้านบาท จากปีก่อน โดยแบ่งเป็นรายได้จากอสังหาฯ เชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น 5% มาเป็น 616 ล้านบาท จากปีก่อน ซึ่งหลักๆ มาจากการเติบโตที่แข็งแกร่งจากธุรกิจโรงแรมเซอร์วิสอพาร์เมนท์ อาคารสานักงาน และสนามกอล์ฟและสปอร์ตคลับ  

ขณะที่ ในส่วนของอสังหาริมทรัพย์เชิงที่พักอาศัย ประกอบด้วยบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ และคอนโดมิเนียม คิดเป็นรายได้จำนวน 24 ล้านบาท ลดลง 10 ล้านบาท จากปีก่อน เป็นผลมาจากขายบ้านใน 'โครงการธนาซิตี้' ลดลงจากปีก่อน ในขณะที่ต้นทุนจากการดำเนินงานของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น 8% เป็น 413 ล้านบาท  ทว่า เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา

'บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์' อนุมัติการโอนกิจการทั้งหมด (Entire Business Transfer) ของบริษัท ยูนิคอร์น เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (UE) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในนิติบุคคลอื่น (Holding Company) ซึ่งประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ให้แก่ 'บมจ. ยู ซิตี้ หรือ U ซึ่งเป็นบริษัทที่บริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 35.64% ของจำนวนหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด โดย U City ตกลงจะรับโอนทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดของ UE ณ วันที่โอนกิจการ มูลค่ารวม 12,917 ล้านบาท โดยภายหลังจากการทำธุรกรรมเสร็จกิจการธุรกิจอสังหาฯ ส่วนใหญ่ของ BTS จะถูกโอนไปยัง U City

นอกจากนี้อสังหาฯ ดังกล่าวทั้งหมดก็จะถูกตัดออกจากงบการเงินของ BTS ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.เป็นต้นไป และ BTS เปลี่ยนเป็นการรับรู้รายได้จากส่วนแบ่งกำไรจาก U City ทั้งนี้ จากการทำธุรกรรมดังกล่าวบริษัทรับรู้กำไรจำนวน 1,880 ล้านบาท   

'ธุรกิจอสังหาฯ ที่คาดว่ายังเหลืออยู่จะมีรายได้รวมกันอยู่ที่ 350 ล้านบาท ขณะที่ในส่วนของ U City คาดว่าจะรับรู้รายได้อยู่ที่ 6,000-6,600 ล้านบาท คาดว่าจะมี EBITDA Margin ไม่ต่ำกว่า 25%'  

และ 'ธุรกิจบริการ' (Services) คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 3% ถือเป็นธุรกิจให้บริการที่สนับสนุนการดำเนินงานในธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัทในด้านต่างๆ ประกอบด้วย ธุรกิจบริการซึ่งดำเนินการโดย Rabbit Group ภายใต้การบริหารงานของวีจีไอ ได้แก่ ธุรกิจเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-money) ทั้งแบบออฟไลน์ ในชื่อ 'บัตรแรบบิท (rabbit)' และแบบออนไลน์ ในชื่อ 'แรบบิท ไลน์ เพย์ (Rabbit LINE Pay)' ธุรกิจ Web Portal หรือเว็บท่า ในชื่อ 'แรบบิท เดลี่ (Rabbit Daily)' ธุรกิจนายหน้าประกันภัย โดยให้บริการเปรียบเทียบราคาผลิตภัณฑ์ประกันออนไลน์ ในชื่อ 'แรบบิท ไฟแนนซ์ (Rabbit Finance)' และธุรกิจเทเลมาร์เก็ตติ้ง โดยส่วนใหญ่ให้บริการเทเลเซลเพื่อสนับสนุนการดาเนินงานของธุรกิจนายหน้าประกันภัย 

นอกจากนี้ ธุรกิจบริการของกลุ่มบริษัทยังมีธุรกิจให้บริการลูกค้าสัมพันธ์ ภายใต้ชื่อ 'แรบบิท รีวอร์ดส (Rabbit Rewards)' และโปรแกรมส่งเสริมการขายด้วยตู้พิมพ์คูปองอัตโนมัติ (Coupon Kiosks) และธุรกิจให้บริการทางเทคโนโลยี รวมทั้ง ธุรกิจบริการยังครอบคลุมถึงธุรกิจร้านอาหารจีน ภายใต้แบรนด์ร้านอาหารที่หลากหลาย เพื่อให้ครอบคลุมผู้บริโภคในกลุ่มต่าง ๆ ได้แก่ 'ChefMan' 'Man Kitchen' 'M Krub' และ 'Chairman by Chef Man' และ 'Round Table by Chef Man'

ธุรกิจบริหารจัดการโรงแรม ภายใต้แบรนด์ 'U Hotels & Resorts' และ 'Eastin' ทั้งสำหรับโครงการโรงแรมของกลุ่มบริษัทเองและของบุคคลอื่น ธุรกิจรับเหมาและบริหารโครงการก่อสร้าง และธุรกิจบริหารจัดการโครงการอสังหาริมทรัพย์ ทั้งโครงการที่พักอาศัยแนวราบ คอนโดมิเนียม และอาคารสานักงาน

ท้ายสุด 'ซีเอฟโอ' ทิ้งท้ายว่า ตอนนี้เราคงโฟกัสตลาดในเมืองไทยก่อน เพราะว่ายังมีงานอีกจำนวนมาก ซึ่งหลักๆ จะเป็นการเติบโตจากธุรกิจระบบขนส่งมวลชน ส่วนที่เหลือไม่ว่าจะเป็นสื่อโฆษณา พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจการให้บริการ และอื่นๆ จะมีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน