‘Grab’ กับแนวรุกขนส่งออนดีมานด์

‘Grab’ กับแนวรุกขนส่งออนดีมานด์

ภาพรวมธุรกิจโลจิสติกส์ในประเทศไทยโดยเฉพาะตลาดส่งอาหารยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

เปิดวิชั่น ธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย ​ถึงแนวรุกในตลาดการให้บริการขนส่งแบบออนดีมานด์ (On-Demand)ของไทย กับกลยุทธ์การโตด้วยการเชื่อมต่อ ถึงกันระหว่าง ‘พันธมิตร-เทคโนโลยี-ผู้บริโภค’  

ภายหลังเข้ารับตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แกร็บ (ประเทศไทย) อย่างเป็นทางการเมื่อตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2561  "ธรินทร์ ธนียวัน" โดยเป็นการเข้ารับตำแหน่งต่อจาก “ยี วี แตง” ที่ย้ายไปรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แกร็บ ในประเทศกัมพูชา

ก่อนร่วมงานกับแกร็บ (ประเทศไทย) ธรินทร์ ทำงานในตำแหน่งรองประธานกรรมการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์ธุรกิจและรัฐสัมพันธ์ ลาซาด้า กรุ๊ป รับผิดชอบดูแลการสร้างความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างอาลีบาบาและลาซาด้า มาก่อน ฃ

“ในความตั้งใจที่จะนำเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยของแกร็บ มาผสานกับความเชี่ยวชาญและความสามารถของเรา เพื่อเร่งพัฒนาและขับเคลื่อนระบบการขนส่งและตลาดการชำระเงินออนไลน์ของประเทศให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง” ธรินทร์ กล่าว 

ในส่วนของตลาดขนส่งออนดีมานด์ ธนินทร์ มองถึง “โอกาส” จากตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ ยังเติบโตได้มากกว่า 10% และมีการคาดการณ์มูลค่าสูงถึงมากกว่า 35,000 ล้านบาท ในปีนี้

โดย แกร็บ แม้จะมีผู้เล่นที่หลากหลายในตลาด แต่ทางเลือกในเรื่องอาหารนั้นยังไม่ได้มีหลากหลายครบวงจรจริงๆ อีกทั้ง พบว่ายังมีความต้องการในอีกหลายรูปแบบที่ไม่ได้รับการดูแล ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความต้องการของตลาดเพิ่มเติม เพื่อมาพัฒนาการให้บริการในไทย

ขณะที่ภาพรวมธุรกิจโลจิสติกส์ในประเทศไทยโดยเฉพาะตลาดส่งอาหารยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก มีผู้ให้บริการหลายรายและการบริการเกิดขึ้นใหม่ในหลายรูปแบบ รวมถึงผู้บริโภคเองก็ต้องการความแปลกใหม่อยู่เสมอๆ จึงเป็นช่องทางให้เกิดโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน

ในส่วนของแกร็บ ได้ทำการทดลองให้บริการ (Beta-testing) บริการแกร็บฟู้ด (GrabFood) มาตั้งแต่ปลายปี 2017 ในเขตย่านใจกลางธุรกิจของกรุงเทพฯ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะยุ่งกับภารกิจประจำวัน จึงต้องการความรวดเร็ว สะดวกสบาย ในการรับประทานอาหารจากร้านโปรดที่มีให้เลือกเป็นจำนวนมาก โดยที่ลูกค้าสามารถสั่งอาหาร ขนม หรือเครื่องดื่มจากร้านโปรดได้ง่ายๆ ผ่านแอพพลิเคชั่น 

โดยพาร์ทเนอร์ผู้ขับขี่แกร็บที่ได้รับการอบรมพิเศษเพื่อให้บริการส่งอาหารโดยเฉพาะจะเป็นผู้ดูแลและจัดส่งให้ถึงมือ 

“ที่ผ่านมา เราได้ทดลองให้บริการแกร็บฟู้ดในเขตย่านใจกลางธุรกิจในกรุงเทพก่อน อาทิ สยามสแควร์ สีลม สาธร สุขุมวิท รัชดาภิเษก อารีย์ เยาวราช ห้วงขวาง วงเวียนใหญ่ รวมถึงบางพื้นที่ในเขตลาดพร้าว และกำลังขยายพื้นที่การให้บริการเพิ่มเติมให้ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่” 

นอกจากนี้ ภายหลังจากที่แกร็บได้ควบรวมกิจการของ อูเบอร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ควบรวมบริการอูเบอร์อีทส์ (Uber Eats) เข้ามาด้วย โดยที่ผ่านมา แกร็บ ได้ทำงานร่วมกับทีมงานอูเบอร์เดิมในการนำพาร์ทเนอร์ร้านอาหารต่างๆ จาก Uber Eat มาเสริมพาร์ทเนอร์ร้านอาหารที่แกร็บฟู้ดมีอยู่ปัจจุบันกว่า 3,000 ร้าน (จากเดิม 1,400 ร้าน ณ กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2561)

สำหรับภาพรวมตลาดในตอนนี้ ธรินทร์ บอก คงเป็นการยากที่จะระบุตัวเลข เนื่องจากผู้ให้บริการ Food Delivery ในประเทศไทยมีหลากหลาย เซ็กเมนต์มาก ทั้งผู้ให้บริการจัดส่งอาหารผ่านแอพพลิเคชั่นเป็นหลัก หรือผ่านทางคอลเซ็นเตอร์และเว็บไซต์เป็นหลัก รวมถึงร้านอาหาร และเครือร้านอาหารที่มีบริการเดลิเวอรี่เอง หรือแม้แต่ผู้จัดส่งอาหารซึ่งเป็นของสด อาหารสำเร็จรูป หรือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อาทิ ร้านเบเกอรี่ ร้านขนม ร้านข้าวกล่องที่ไม่มีหน้าร้านในโซเชียลมีเดียแต่ให้บริการจัดส่ง เป็นต้น 

ซึ่งในกลุ่มที่เป็นผู้ประกอบการก็ถือเป็นกลุ่มลูกค้าที่เรียกใช้บริการแกร็บไบค์เดลิเวอรี่เช่นกัน  

ปัจจุบันบริการแกร็บฟู้ดในประเทศไทยมีพันธมิตรร้านอาหารเกือบ 4,000 ร้าน ที่มาร่วมให้บริการ

จากบริการที่นำเสนอในปัจจุบัน แกร็บ เริ่มมองถึงการขยายธุรกิจในอนาคต โดยค้นหาว่า แกร็บ ในอีก 10 ปีข้างหน้า เป็นอย่างไร

โดย แกร็บ ได้มีการทำแบบสอบถามกับผู้บริโภคเพื่อค้นหาสิ่งที่ผู้บริโภคอยากให้แกร็บเป็นในอีก 10 ปีข้างหน้า พบว่า  ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องการให้แกร็บเป็นแอปพลิเคชันที่ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จในแอปพลิเคชันเดียว

ซึ่งจากเสียงสะท้อนครั้งนั้นได้นำมาสู่การประกาศวิสัยทัศน์เกี่ยวกับอนาคตของเมืองอัจฉริยะ และระบบการให้บริการแบบไร้รอยต่อ ด้วยการเดินหน้าขยายการบริการ ผู้บริโภค ผู้ขับขี่ ผู้ขนส่งสินค้า และผู้ค้า ให้ได้รับประโยชน์จากบริการ แยกเป็นดังนี้

ด้าน การเดินทางขนส่ง ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์จากระบบที่ผนวกรูปแบบการเดินทางขนส่งที่หลากหลาย ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงจุดหมายปลายทางในอนาคต 

เช่นในกรณี ผู้บริโภคสามารถใช้แกร็บไบค์ (วินมอเตอร์ไซค์) เดินทางไปยังสถานีรถไฟฟ้า หลังจากนั้นเดินทางต่อโดยการใช้ระบบขนส่งมวลชน และเดินทางถึงจุดหมายปลายทางโดยใช้ จัสท์แกร็บ" จากนั้นชำระค่าเดินทางผ่านแอปพลิเคชัน แกร็บ

การชำระเงิน ความสะดวกสบายจากจากชำระเงินผ่านวอลเล็ต โดยการเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการการขนส่งและการสั่งอาหารบริการแกร็บเพย์และแกร็บรีวอร์ดส

บริการทางเงินของแกร็บจะมอบโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับผู้บริโภคหลายล้านคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินและผู้ที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินของธนาคาร ซึ่งรวมถึงผู้ขับขี่ไปจนถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยซึ่งรวมถึง ผู้ขับขี่ ผู้ขนส่งสินค้า ตัวแทน และผู้ค้า เกือบ 6 ล้านรายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถดำเนินธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มของแกร็บ โดยแกร็บตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะสามารถให้บริการแก่ผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยถึง 100 ล้านรายภายในปี 2563 ทั้งนี้พาร์ทเนอร์ผู้ขับขี่แกร็บ จะได้รับประโยชน์จากโซลูชั่นการประกันต่างๆ เพื่อปกป้องยานพาหนะ รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตและครอบครัวเช่นกัน ตัวอย่างเช่น การเข้าถึงการประกันการสูญเสียรายได้ นโยบายการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลและประกันรถยนต์

บริการด้านไลฟ์สไตล์ด้วยการรวมบริการเดินทางแบบออนดีมานด์ , การส่งอาหารและการขนส่งพัสดุด้วยแอปพลิเคชันเดียว

ทั้งหมดเป็นอีกก้าวของการสร้างระบบนิเวศที่ประกอบด้วย ผู้โดยสาร ผู้ขับขี่ ตัวแทน และผู้ค้า ที่ในอนาคตทุกอย่างจะเชื่อมถึงกันโดยมีแกร็บเป็นแพลตฟอร์มกลาง