เตรียมพร้อมอย่างไรเพื่อวัยเกษียณ

เตรียมพร้อมอย่างไรเพื่อวัยเกษียณ

สกาว สำราญคง, CFP® นักวางแผนการเงิน บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต

เมื่อสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มตัว คำถามคือจะรับมืออย่างไรกับแนวโน้มดังกล่าวและแม้วัยเกษียณคือช่วงที่ควรได้ปลดภาระจากการทำงาน แต่ต้องอย่าลืมว่ามีสิ่งหนึ่งที่ยังคงติดตามอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ “ภาระค่าใช้จ่าย” เนื่องจากร่างกายมนุษย์ไม่ได้ถูกออกแบบให้คงสภาพความแข็งแรงมีเรี่ยวแรงช่วยเหลือตัวเองเช่นเดิม  

การเตรียมความพร้อมจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดซึ่งความพร้อมในที่นี้ต้องครบองค์ประกอบทั้ง 3 ด้าน ที่มีความสัมพันธ์กันได้แก่ จิตใจ ร่างกาย และการเงินความพร้อมด้านจิตใจ หลายท่านคงเคยได้ยินว่า “จิตเป็นนายกายเป็นบ่าว” จิตที่ดีนำพาวิธีการและแนวทางที่ถูกต้องมาให้รวมถึงทำให้มีพลังขับเคลื่อนในการทำสิ่งต่างๆ


การเตรียมจิตใจพร้อมรับวัยเกษียณคือเข้าใจความเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับความเสื่อมของวัยไม่กระฉับกระเฉงเหมือนหนุ่มสาว อย่างไรก็ตามความเสื่อมก็ไม่ใช่อุปสรรคหลักในการดำรงชีวิต หากเข้าใจและยอมรับ เมื่อจิตใจดีย่อมส่งผลต่อเนื่องมายังร่างกายเมื่อสุขภาพกายแข็งแรงก็จะทำให้สุขภาพใจเข้มแข็งด้วย


ความพร้อมด้านร่างกายเป็นสิ่งที่สร้างได้ตั้งแต่วัยก่อนเกษียณ เมื่อสุขภาพกายดีย่อมทำให้มีพลังในการทำงานอย่างเต็มที่ ค่าใช้จ่ายเรื่องการรักษาพยาบาลก็ลดทอนไป ส่งผลให้มีเงินไปต่อยอดหรือลงทุนเพื่อเป้าหมายอื่นได้ความพร้อมด้านการเงิน ซึ่งความมั่งคั่งถือเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ และหากใครเริ่มเตรียมก่อนก็ย่อมได้เปรียบ 


ข้อมูลจากสถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพบว่า จากการคำนวณด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อคน (GNP per capita) ของไทย ปรับด้วยอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำและอัตราเงินเฟ้อ คนไทยควรมีเงินหลังเกษียณขั้นต่ำ 4.36 ล้านบาท เพื่อให้มีเงินใช้จ่ายเดือนละ 16,000 บาท ไปตลอด 20 ปีหลังจากเกษียณ  

อย่างไรก็ตาม ตัวเลข 4.36 ล้านบาทนี้ เป็นเพียงมาตรฐานขั้นพื้นฐานของการดำรงชีพ แต่หากจะคำนวณเป้าหมายเพื่อการเกษียณให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของแต่ละคนเตรียมพร้อมอย่างไรเพื่อวัยเกษียณต้องเริ่มจากการคิดว่า หลังเกษียณต้องใช้เงินเดือนละเท่าไร ซึ่งตามหลักการวางแผนการเงินให้ประมาณการว่าใช้ 50-70% ของเงินได้ก่อนเกษียณ

จากนั้นคาดการณ์อายุของเราว่าจะอยู่ยืนยาวเท่าไร เพื่อคำนวณเงินที่ต้องมี ณ วันเกษียณ เมื่อได้เป้าหมายแล้วต้องนำมาเปรียบกับแหล่งเงินออม เพื่อการเกษียณที่สะสมมาตลอดการทำงานจากประกันสังคม หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) รวมถึงแหล่งการออมภาคสมัครใจ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันบำนาญ หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)  ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันเรามีอายุ30 ปีคาดว่ารายได้สุดท้ายก่อนเกษียณตอนอายุ60 ปีอยู่ที่ 100,000 บาทต่อเดือน เพื่อสามารถใช้ชีวิตตามมาตรฐานคงเดิม หลังเกษียณควรมีเงินใช้50,000 บาทต่อเดือน หากมีอายุถึง 80 ปีโดยสมมุติฐานผลตอบแทนทั้งก่อนและหลังเกษียณ 3% อย่างน้อย จะต้องมีเงิน ณ วันเกษียณ 9 ล้านบาท ถ้ามีเงินจากแหล่งเงินออมหรือสวัสดิการต่างๆ 4 ล้านเป็นต้นทุน


นั่นหมายความว่ายังขาดเงินอีก 5 ล้านบาท ดังนั้นต้องเก็บเงินตั้งแต่ตอนนี้ 8,500 บาททุกเดือน แต่หากคำนวณรวมอัตราเงินเฟ้อด้วยจำเป็นต้องเก็บออมมากกว่านี้เพื่อจะได้มีเงินเพียงพอยามเกษียณตามเป้าหมาย  ทั้งนี้ ถ้าแหล่งเงินออมที่เตรียมไว้มีมากพอให้สบายใจได้ว่าวัยเกษียณจะเป็นวัยที่สร้างความเกษมสำราญ แต่หากต้นทุนการออมนี้ยังน้อยอยู่และมีแนวโน้มว่าจะไม่พอเพียงก็ควรรีบเก็บออมและลงทุนตั้งแต่วัยหนุ่มสาว เพื่อสร้างฐานะให้ตนเองไม่เป็นภาระลูกหลาน เมื่อสุขภาพการเงินดีย่อมมีผลต่อเนื่องถึงจิตใจและร่างกายอย่างสัมพันธ์กัน


การวางแผนการเงินเปรียบเสมือนการวางแผนชีวิต ยิ่งมีแนวโน้มว่าชีวิตของคนจะยืนยาวขึ้น ก็ยิ่งต้องเตรียมความพร้อมให้รอบด้านทั้งจิตใจที่เข้มแข็งเข้าใจทุกการเปลี่ยนแปลงร่างกายที่แข็งแรงพร้อมรับกับการใช้ชีวิต และการเงินที่มั่นคงเพื่อส่งต่อให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดียามที่เกษียณ