ข้อเสนอเพียบ! เบี่ยงเบนโทษจำคุก

ข้อเสนอเพียบ! เบี่ยงเบนโทษจำคุก

วงสัมมนาเบี่ยงเบนโทษจำคุกก่อนมีคำพิพากษา อดีตกสม. แนะใช้มาตรการปกครองแทนโทษอาญา ด้านนักนิติศาสตร์ เสนอแก้กม.ชะลอฟ้อง-รอการกำหนดโทษ

เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.61 กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม จัดสัมมนาเรื่อง มาตรการเลี่ยงโทษจำคุกก่อนมีคำพิพากษา โดยมีพล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน นายณรงค์ ใจหาญ รองคณะบดีฝ่ายวิจัยและผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายดล บุนนาค ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลทรัพย์สินทางปัญญา และนายน้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัด สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี จ.กาญจนบุรี

พล.ต.อ.วันชัย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง แต่ยังกำหนดให้หน่วยงานยุติธรรมสามารถเปลี่ยนโทษหรือกำหนดโทษเป็นอย่างอื่นได้ ซึ่งความผิดลหุโทษเป็นความผิดที่ไม่เข้าเกณฑ์ลงโทษจำคุก เพราะไม่ใช่ความผิดร้ายแรง ซึ่งโทษจำคุกเป็นโทษทางอาญาที่มีความรุนแรงเป็นอันดับ 2 ของไทย รองจากโทษประหารชีวิต ขณะที่ข้อเท็จจริงปัจจุบันมีผู้ต้องขังในเรือนจำ 3.5 แสนคน เป็นผู้กระทำผิดครั้งแรก 1.8 แสนคน กระทำผิดครั้งที่ 2 จำนวน 60,000 คน และกระทำผิดครั้งที่ 3 จำนวน 15,000 คน การแก้ไขที่ผ่านมาคือขยายเรือนจำ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง เพราะมีอุปสรรคข้อจำกัดต่อการบริหารงานในเรือนจำตามมาตรฐานสากล ทำให้เกิดผลเสียกับผู้ต้องขังและสังคมที่อยู่ภายนอกเรือนจำ

ดังนั้น สิ่งที่รัฐต้องดำเนินการคือกำหนดยุทธศาสตร์ที่ใช้มาตรการทางปกครองแทนโทษอาญา โดยเฉพาะกฎหมายอาญาเดิมกว่า 800 กว่าฉบับควรมีกฎหมายกลางเป็นตัวเชื่อม ซึ่งโทษทางปกครองที่นำมาใช้กับการกระทำผิดที่ไม่ร้ายแรงไม่ควรลงโทษทางอาญา เช่น กรณีขับขี่ไม่สวมหมวกกันน็อคหรือคดีเล็กน้อยอาจจะลงโทษเป็นการเสียค่าปรับ และเจ้าหน้าที่รัฐสามารถเป็นผู้พิจารณาการลงโทษเองได้ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

นายน้ำแท้ กล่าวว่า ปัญหาแท้จริงที่ทำให้คนถูกดำเนินคดีคือสภาพเศรษฐกิจและการเมือง ต้องแก้ทั้งองค์รวม หากจะแก้ไขเฉพาะกรมราชทัณฑ์หรือกระบวนการยุติธรรมอย่างเดียวจะไม่สำเร็จ ซึ่งการพิจารณาว่าจะถูกขังระหว่างพิจารณาหรือไม่ต้องย้อนไปกระบวนการข้างต้นว่าควรจับหรือขังหรือไม่ เพราะถ้าถูกจำคุกสิทธิในการต่อสู้แย่มาก และหากสุดท้ายศาลยกฟ้องก็จะเป็นการถูกขังฟรี หรือผิดจริงก็เป็นโทษเล็กน้อยที่ไม่สมควรถูกขัง ซึ่งเมื่อพิจารณาระดับโทษแล้ว 1 ใน 3 ที่ถูกขังระหว่างพิจาณาเป็นการสูญเสียความเป็นมนุษย์อย่างยิ่ง ในอเมริกาจะพิจารณาโทษขังเป็นลำดับสุดท้ายและจำเป็นจริง โดยต่างประเทศขั้นตอนการฟ้องคดีต้องกระทำอย่างรวดเร็วและเปิดเผย โดยพนักงานอัยการและผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องอยู่ในพื้นที่หลังเกิดเหตุพร้อมกันทันที ทำให้ทุกฝ่ายเห็นหลักฐานตั้งแต่ต้น ไม่สามารถทำลายหรือบิดเบือนหลักฐานได้ และอัยการก็สามารถพิจารณาสั่งฟ้องได้แม้จะมีเวลาเหลือเพียงแค่ 10 วัน หรือ 3 ชั่วโมง ขณะที่การขังจะต้องพิจารณาจากพฤติการณ์หลบหนี หรือยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน ต้องส่งตัวไปให้อัยการพร้อมหลักฐานจับกุมทุกอย่าง

คดีอดีตพุทธะอิสระ ตำรวจมาขอหมายจับและค้านประกันตัว โดยอ้างว่ามีพยานยังไม่สอบสวนอีก 30 ปาก ซึ่งมีความสงสัยว่าทำไมไม่สอบให้เสร็จก่อนมาขอหมายจับ ในอเมริกาการจับกุมผู้ต้องหาอัยการต้องแจ้งข้อหาภายใน 72 ชั่วโมง และการออกหมายจับต้องได้รับคำร้องจากอัยการว่าพยานหลักฐานพอให้ควรฟ้องหรือไม่ หลังออกหมายจับแล้วอัยการจะมีเวลา 30 วันในการฟ้อง ซึ่งถือว่ามีเวลาพอที่จะพิจารณาสั่งคดีได้ ขณะที่ญี่ปุ่นกำหนดฝากขัง 10 วันเพื่อให้อัยการร่างฟ้อง โดยทุกประเทศใช้เวลาในกระบวนการยุติธรรมน้อยกว่าไทย ในส่วนของยุโรปยังมีมาตรการทางเลือกแทนการขัง สิ่งน่าสนใจคือ การจำกัดไม่ให้ไปไหนหรือไม่ให้เจอคนบางคน เพราะเป็นอันตรายต่อคนนั้นคนเดียว ส่วนไทยจะแก้ปัญหาแบบไทยๆ คือ การรับสารภาพทันทีห้ามไม่ให้รับฟัง ถ้าไม่มีหลักฐานอื่น เมื่อไม่ได้รับธรรมก็ร้องสื่อ ทำให้กระบวนการอัยการบ้านเราขาดหายไป เมื่อทำการปฏิรูปก็ได้ยินว่ากฎหมายไทยๆ เหมาะกับสังคมไทย ซึ่งกฎหมายจะต้องเป็นไปตามหลักสากล ต้องแยกให้ระหว่างกฎหมายอาญาหรือวิ อาญา ไม่ใช่ใช่กฎหมายแบบไทย นายน้ำแท้ กล่าว

นายณรงค์ กล่าวว่า เรื่องที่ทำให้ราชทัณฑ์หนักใจ คือการบริหารจัดการบุคลากรที่จำกัดในสถานที่จำกัด ซึ่งจำนวนผู้ต้องขังกว่า 2 แสนกว่าคนในคดีติดยาเสพติด ควรนำไปบำบัดไม่ใช่จำคุก ส่วนผู้ต้องขังอีก 6 หมื่นกว่าคนที่ถูกขังระหว่างสอบสวนหรือระหว่างพิจารณา หากใช้มาตรการปล่อยชั่วคราวหรือกำไลอีเอ็มอาจทำให้จำนวนลดลงไป หรือพิจารณาแก้กฎหมายชะลอฟ้อง แทนที่จะให้คดีสู่ศาลเลย อัยการสามารถใช้มาตรการคุมประพฤติแทนการสั่งคดี เช่น คดียาเสพติด อาจจะช่วยกรองคดีได้ ทั้งนี้ การใช้มาตรการรอการกำหนดโทษกลไกที่ตามมาต้องมีชุมชนที่เข้มแข็งช่วยดูแลผู้กระทำผิด เพื่อไม่เป็นอันตรายในชุมชน โดยต้องร่วมมือกันระหว่างคุมประพฤติกับชุมชน อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่าการขังยังจำเป็นต้องมีเฉพาะบางคนที่อาจมีพฤติกรรมหลบหนีหรือยุ่งพยานหลักฐาน หากไว้นอกเรือนจำจะมีปัญหา

นายณรงค์ กล่าวอีกว่า ตนเห็นด้วยกับข้อเสนอของพล.ต.อ.วันชัย การลงโทษความผิดทางอาญาที่ไม่รุนแรงต้องใช้มาตรการลงโทษการปกครองแทน โดยเราต้องวิเคราะห์รัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างเข้มข้นว่าความผิดอาญาร้ายแรงที่ต้องมีโทษจำคุกคืออะไร และมีโทษเท่าไหร่ ซึ่งยังไม่มีใครตอบได้ ส่วนจำนวนโทษปัจจุบันเรามีทางเลือกแค่จำคุกกับปรับ กรณีขายซีดีขั้นต่ำปรับ 2 แสนบาท ถ้าไม่ปรับรอกักขัง กฎหมายนี้ต้องทบทวนว่าจะใช้มาตรการกำหนดโทษได้หรือไม่ นอกจากนี้ กลไกการใช้กฎหมาย โดยเฉพาะศาลถูกจำกัดเรื่องตารางบทลงโทษ หรือยี่ต๊อก หากใช้ดุลพินิจลงโทษไม่ตรงตามยี่ต๊อกอาจเสี่ยงถูกตั้งกรรมการสอบสวนว่ารู้จักเป็นการส่วนตัวกับจำเลยหรือไม่ จึงได้ลงโทษต่ำ

นายดล กล่าวว่า ทางเลือกในการลงโทษที่ไม่ใช่การจำคุกมีหลายอย่าง หลายประเทศกำหนดเป็นมาตรการลงโทษระดับกลาง คืออยู่ตรงกลางระหว่างจำคุกกับปรับแล้วปล่อยกลับบ้าน เช่น จำคุกเป็นช่วงๆ จำคุกวันหยุด ขังไว้ที่บ้าน ห้ามเข้าสถานที่ใด ห้ามออกจากบ้านหลัง 6 โมงเย็น ห้ามแท็กซี่ป้ายดำเข้ามาในบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ ห้ามเข้าใกล้บ้านผู้เสียหาย สั่งให้รายงานตัวทุกวัน ซึ่งทำได้ในชั้นตำรวจเรียกว่าโทษตักเตือน แต่ในทางปฏิบัติมีเพียงโทษในคดีจราจรเท่านั้นที่ตักเตือนได้ คดีหมิ่นประมาท ทำร้ายร่างกายตักเตือนไม่ได้ ในต่างประเทศการสั่งประจานก็เป็นการลงโทษอย่างหนึ่ง เช่นโทษขโมยจดหมายศาลสั่งห้อยป้ายประจาน คดีขับรถฝ่าไฟแดงศาลสั่งห้อยป้ายประจานแล้วให้ไปยืนที่กลางสี่แยก ตอนเช้า 2 ชม.ช่วงเย็นอีก 2 ชม. ซึ่งไม่ใช่การละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่เป็นการลงโทษเพื่อป้องปรามการกระทำความผิด

นายดล กล่าวด้วยว่า กฎหมายอาญา มาตรา 56 ซ่อนการลงโทษระดับกลางไว้ เช่นการกำหนดให้จำเลยจ่ายเงินให้มูลนิธิ เยียวยาเหยื่อ รวมถึงมาตรการลงโทษที่หลากหลาย เพียงแต่ศาลไม่รู้ว่าในมาตรา 56 เป็นโทษระดับกลาง เพราะศาลมีตารางลงโทษ ยี่ต๊อก ลับ มียี่ต๊อกทุกมาตรา เช่น ลักทรัพย์ลงโทษไม่เกิน 3 ปี ถ้าร่วมกันลักทรัพย์ไม่เกิน 2 คน ลง 2 ปี ตัดไม้ไม่เกินกี่ลูกบาศก์เมตร รอได้ คดีจำหน่ายยาบ้า 1 เม็ด โทษไม่เกิน 4 ปี ซึ่งรอการลงอาญาได้ ตนเคยสั่งรอ เพื่อนมองหน้าเพราะเขาไม่ทำกัน และเสี่ยงต่อการถูกตั้งกรรมการสอบสวน ถ้าไม่อยากเสี่ยงก็ต้องลงโทษไปตามยี่ต๊อก ศาลก็เป็นส่วนหนึ่งทำให้นักโทษล้นคุก คดีตัดไม้พะยูงโทษสูง คนติดคุกส่วนใหญ่เป็นมดมอด เพราะนายทุนไม่ไปตัดเอง ควรลงโทษปรับและสั่งให้ปลูกพะยูง 5 ต้น คุมประพฤติให้ดูแลต้นไม้ 5 ปี อย่าให้ต้นไม้ตาย ศาลต้องรับแนวคิดการลงโทษใหม่ แค่เพียงให้หยิบ ม.56 มาใช้ รอการลงอาญา แต่ต้องกำหนดเงื่อนไขหนักๆ เยอรมัน ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ปิดเรือนจำไปหลายแห่ง มีการลงโทษจำคุกเพียงไม่กี่ปี ขณะที่กฎหมายไทยมีบทกำหนดโทษสูงเกินจำเป็น ในต่างประเทศคุกมีไว้ขังคนที่เป็นอันตรายต่อสังคม ถ้าออกไปแล้วจะทำผิดอีกและทำให้สังคมเสียหายมากๆ ขณะที่กฎหมายไทยลงโทษหนักกับคนบางคนที่ไม่สมควรได้รับโทษหนัก

มาตรการเบี่ยงเบนโทษจำคุกจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า มาตรการแทนการลงโทษคือการลงโทษที่สามารถปรามการกระทำผิดได้ เยียวยาผู้เสียหายได้ และสังคมต้องสะใจในระดับหนึ่ง ที่สำคัญต้องมีมาตรการตรวจสอบไม่ให้การเบี่ยงเบนโทษจำคุกถูกนำไปใช้ทางที่ผิด เราไม่อยากเห็นคนรวยหรือมีอิทธิพลหลุดรอดไปเพราะมาตรการแทนการลงโทษ จึงต้องมีการตรวจสอบว่าสมควรได้รับมาตรการเบี่ยงเบนโทษจำคุกจริงหรือไม่นายดลกล่าว

ในช่วงท้ายของการสัมมนา มล.ปนัดดา ดิศกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการกระทรวงยุติธรรม ตั้งคำถามถึงกรณีจับกุมดำเนินคดีพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ว่า เจ้าหน้าที่กระทำการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

นายน้ำแท้ กล่าวว่า ล่าสุดมีข้อเท็จจริงว่า พระสงฆ์ไม่รู้เรื่อง เป็นเรื่องการจัดสรรงบประมาณของสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ มีการนำเงินเข้าบัญชีจริงเพื่อใช้จ่ายในทางศาสนา ข้อเท็จจริงจึงไม่ใช่เงินทอนวัด กรณีดังกล่าวจึงต้องรอดูว่าเมื่อข้อเท็จจริงถึงชั้นอัยการคดีจะมีหลักฐานชัดเจนอย่างไร ถ้าอัยการสั่งไม่ฟ้อง ความเสียหายอย่างร้ายแรงที่เกิดขึ้นต่อวงการสงฆ์ จะส่งผลให้ต้องปฏิรูปการจับกุมและการสอบสวน

ด้านนายดล กล่าวว่า พระที่บวชมาตั้งแต่เด็ก แตกต่างกับการบวชหน้าศพ เมื่อต้องสึกสำหรับเราอาจรู้สึกเฉยๆ แต่ถ้าลองไปเป็นพระ การสึกเป็นการทำลายชีวิต พระสงฆ์ที่ไม่ได้เปล่งวาจาสึกในทางธรรมไม่ถือว่าสึก ปัญหาทางธรรมเป็นเรื่องทางจิตใจ เพียงแต่การดำเนินคดีต้องถอดผ้าเหลืองก่อนนำตัวเข้าเรือนจำ ส่วนตัวมองว่าควรจะมีการดำเนินคดีกับสงฆ์ หรือการเข้าค้นควรกำหนดวิธีการให้ชัดเจน ศาลควรจะมีหลายมาตรฐาน เพราะถ้าให้มีมาตรฐานเดียวใช้คอมพิวเตอร์ตัดสินก็ได้ไม่ต้องใช้ศาล สาเหตุที่ต้องหลายมาตรฐานเพราะคนมีความแตกต่างกัน การบังคับใช้กฎหมายเท่าเทียมกันไม่ผิด แต่ไม่ถูก ดุลพินิจต้องใช้ให้พอเหมาะพอดี กรณีตำรวจมีหมายจับ เมื่อไปถึงเขายอมให้จับโดยดีอาจไม่ต้องใช้หมายก็ได้