เปิดโมเดลโต ANAN ปักหมุดทำเลรถไฟฟ้าสีเขียว

เปิดโมเดลโต ANAN ปักหมุดทำเลรถไฟฟ้าสีเขียว

เหตุใด? หุ้น อนันดา ดีเวลอปเม้นท์ จึงถูกใจขาใหญ่ แย้มสตอรี่ซ้อนอยู่จากปากเจ้าของตัวจริง 'ชานนท์ เรืองกฤตยา' จ่อปักหมุดโครงการคอนโดมิเนียมตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว (สมุทรปราการ-บางปู) หลังเห็นโอกาสในการขยายตัวของชุมชนเมืองสูง...!!

ทำไม? หุ้น อนันดา ดีเวลอปเม้นท์ หรือ ANAN ผู้นำแห่งวงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับคนเมือง ครองตำแหน่งผู้นำตลาดคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้า ของ 'หนุ่มโก้-ชานนท์ เรืองกฤตยา' ลูกคนที่ 2 ในจำนวนพี่น้อง 5 คน ของ 'ชนัฏ เรืองกฤตยา' เจ้าของอาณาจักร 'วินด์มิลด์' ย่านบางนา-ตราด 

จึงกลายเป็น 'จุดสนใจ' ของ 'นักลงทุนไซด์บิ๊ก' หากอิงตามสัดส่วนการถือหุ้น ANAN ที่บริษัทแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะพบชื่อ 'พีรนาถ โชควัฒนา' หลานชายคนโตของ 'ห้างเทียม-สายพิณ โชควัฒนา' ถือหุ้นจำนวน 62,700,400 หุ้น คิดเป็น 1.88% 

นอกจากนี้ ยังมี บริษัท หลานปู่ จำกัด ถือหุ้นจำนวน 29,140,000 หุ้น คิดเป็น 0.87% ซึ่งเป็นพอร์ตลงทุนของ 'ตระกูลโชควัฒนา' รวมทั้ง 'พิพัฒ พะเนียงเวทย์' รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 'มาม่า' ถือหุ้นจำนวน 21,280,000 หุ้น คิดเป็น 0.64% ปิดท้ายด้วย 'ขาว-ณภัทร ปัญจคุณาธร' นักลงทุนใหญ่ ถือหุ้นจำนวน 17,000,000 หุ้น คิดเป็น 0.51% 

'อนันดา ดีเวลอปเม้นท์' มีอะไรซ้อนอยู่ถึงผูกใจเหล่านักลงทุนรายใหญ่…!! หากย้อนดูเส้นทางหุ้น ANAN ตั้งแต่เข้าระดมทุนเมื่อปี 2555 ด้วยราคาจอง 4.20 บาทต่อหุ้น ปัจจุบันราคาหุ้นอยู่ที่ 4.24 บาทต่อหุ้น (24 พ.ค.2561) ราคาหุ้นขยับขึ้นมาไม่มากแค่ 0.95% เท่านั้น อาจเป็นหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้นักลงทุนรายย่อย 'เมินหน้าหนี'  

'ชานนท์ เรืองกฤตยา' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. อนันดา ดีเวลอปเม้นท์ หรือ ANAN บอกว่า ปัจจุบันเมืองไทยอยู่ในช่วงลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้า 10 เส้นทาง ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ฉะนั้น บริษัทในฐานะนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จึงมองเห็น 'โอกาสและช่องทาง' ในการลงทุนตามเส้นทางรถไฟฟ้า โดยใน 'แผนธุรกิจ' (Business Model) จะเน้นขยายการลงทุนไปตามแนวรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ  

ทว่า ในมุมมองส่วนตัวรถไฟฟ้าสายที่มีศักยภาพโดดเด่น นั่นคือ 'รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว' (ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ-บางปู) ที่จะเปิดให้บริการในปี 2561 เนื่องจากแนวรถไฟฟ้าดังกล่าววิ่งผ่านจุดสำคัญๆ หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ตากอากาศบางปู หรือ แม้ว่าโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง 

'ฉะนั้น จึงเป็นจุดที่หน้าสนใจของการขยายตัวของชุมชนเมืองโดยเราจะไม่เน้นการซื้อที่ดินเพื่อรอลงทุนมากนัก แต่จะเน้นการซื้อที่ดินที่มีศักยภาพและลงทุนได้ในระยะเวลาไม่นานเป็นหลัก' หนุ่มโก้ ย้ำเช่นนั้น 

อย่างไรก็ตาม ตลาดอสังหาฯ เมืองไทย ยังต้องยึดกับการพัฒนาของประเทศไทย และขึ้นอยู่กับการลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ 20 ปี ประกอบด้วยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและแผนพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี (2560-2579) วงเงินรวมกว่า 8.95 แสนล้านบาท 

โดยมีทั้งการพัฒนารถไฟฟ้า , รถไฟชานเมือง , รถไฟรางคู่ , ทางด่วน และมอเตอร์เวย์ รวมถึงโครงการคมนาคมทางน้ำ โครงการพัฒนาศูนย์ขนถ่ายสินค้า และสนามบิน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดทำเลใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ อาทิ โซนนอกเขตศูนย์กลางธุรกิจ (City Fringe) ของกรุงเทพฯ เขตชานเมือง รวมถึงต่างจังหวัดโดยเฉพาะเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งผู้ประกอบการหลายรายรุกคืบเข้าสู่พื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยองเพื่อเปิดโครงการใหม่รองรับความต้องการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคตแล้ว   

ขณะที่ กทม. ในปี 2570 เป็นปีสุดท้ายของแผนการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ เมื่อถึงเวลานั้นกรุงเทพฯ จะมีรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 11 สาย 297 สถานี ระยะทางรวม 466.1 กิโลเมตร

'ซีอีโอหนุ่ม' แจกแจงแนวโน้มผลประกอบการปี 2561 ว่า บริษัทยังคงเป้าหมายรายได้อยู่ที่ 3.8 หมื่นล้านบาทโดยจะมีโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มโอนได้ในปีนี้ 9 โครงการ และยังคงเป้าหมายที่จะมียอดขายที่ 3.51 หมื่นล้านบาท ด้วยการเปิดตัวโครงการใหม่ 16 โครงการ รวมมูลค่า 3.51 หมื่นล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 1 ปี 2561 มียอดขายรอโอน (Backlog) มูลค่า 53,600 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้ราว 27,6000 ล้านบาท 

ขณะที่ ทิศทางไตรมาส 2 ปี 2561 คาดว่าจะออกมาดีกว่าไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ที่มีรายได้ 3,840 ล้านบาท โดยบริษัทคาดว่าจะสามารถเริ่มโอนโครงการแอชตัน อโศก ได้ทันภายในไตรมาส 2 ปี 2561 นี้  หลังจากที่บริษัทได้มีการพูดคุยกับทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว

'เราได้เข้าพูดคุยกับหลายๆฝ่ายเกี่ยวกับโครงการแอชตัน อโศก หลังจากที่มีกรณีคดีฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งก่อนที่จะทำโครงการนี้เราได้ปิดความเสี่ยงหลายๆอย่าง และปิดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นไว้หมดแล้ว พร้อมกับการขออนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และยื่นขออนุญาตก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว จึงเชื่อว่าจะเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าโครงการดังกล่าวทำถูกต้อง'

อนึ่ง โครงการแอชตัน อโศก เป็นคอนโดมิเนียมสูง 50 ชั้น จำนวนห้อง 783 ยูนิต มูลค่าโครงการกว่า 6,000 ล้านบาท ปิดการขายแล้วทั้ง 100% ซึ่งสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและชาวบ้านยื่นฟ้อง กทม.และ รฟม.รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องว่าละเลยต่อหน้าที่ที่ปล่อยให้ก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษ ละเมิดกฎหมาย สิทธิชุมชนและสิทธิส่วนบุคคลโดยรอบพื้นที่โครงการ 

'หุ้นใหญ่' วิเคราะห์ตลาดอสังหาฯ ให้ฟังว่า ปัจจุบันการพัฒนาที่อยู่อาศัยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งทาง ANAN เองจะต้องมีการปรับตัวให้เหมาะสมกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ตั้งแต่เริ่มต้นของการก่อสร้าง การบริการหลังการขาย สิ่งอำนวยความสะดวกสบายสำหรับการใช้ชีวิตประจำวันภายในบ้านด้านต่างๆ เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าและเพิ่มคุณค่าให้กับโครงการผ่านแนวคิดในการปรับรูปแบบการดำเนินชีวิตสู่ UrbanTech เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดด

ทั้งนี้ มองว่าความต้องการที่อยู่อาศัยนั้นจะเปลี่ยนไป อาทิ ต้องการเข้าอาศัยอยู่จริง 5-10 วันต่อเดือน หรืออาจจะเป็น 3-5 เดือนต่อปี ดังนั้น บริษัทจึงได้ร่วมมือกับ ดิ แอสคอทท์ (Ascott) ซึ่งเป็นผู้นำด้านธุรกิจเซอร์วิส อพาร์ทเม้นท์ เพื่อเปิดตัวโครงการเซอร์วิสท์ อพาร์ทเม้นท์ 4 โครงการ ที่ตั้งอยู่บนทำเลศักยภาพสูงใจกลางกรุงเทพฯ ที่มีมูลค่าโครงการรวมกว่า 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการบนถนนพระราม 9 สาทร ทองหล่อ และสุขุมวิท ซอย 8 โดยจะเริ่มรับรู้รายได้จากธุรกิจเซอร์วิส อพาร์ตเม้นท์ ในไตรมาส 1 ปี 2563  ซึ่งจะเป็นกรกระจายความเสี่ยงและเพิ่มสัดส่วนรายได้ที่มากจากรายได้ประจำมากขึ้นด้วย 

ท้ายสุด 'หนุ่มโก้' ทิ้งท้ายว่า ยุทธศาสตร์การลงทุนและแผนการดำเนินงานของบริษัทต้องมีการปรับตัวและพัฒนาตัวเองอยู่เสมอให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด  โดยเทคโนโลยีจะเป็นตัวช่วยอันดับแรกๆ ที่ผู้นำทางธุรกิจจะเลือกใช้เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าและบริการ เพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมของตนต่อไป

ปรับตัวสู่สังคม 'ดิจิทัล' ในอนาคต

'ชานนท์ เรืองกฤตยา' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. อนันดา ดีเวลอปเม้นท์ หรือ ANAN บอกว่า ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเช่นนี้ บริษัทต้องเตรียมตัวใน 'การปรับตัวสู่สังคมดิจิทัลของอสังหาฯ ไทย' โดยมีแผนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสู่โลกแห่งเทคโนโลยี และนวัตกรรม พร้อมยกระดับมาตรฐานการขับเคลื่อนองค์กรและโครงการต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นแล้ว  

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการรอบด้านของผู้อยู่อาศัยมากยิ่งขึ้น โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ตั้งแต่ขั้นตอนของการก่อสร้าง การบริการหลังการขาย สิ่งอำนวยความสะดวกสบายสำหรับประจำวันภายในบ้านด้านต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและเพิ่มคุณค่าให้กับโครงการมากยิ่งขึ้น 

ดังเช่นแนวคิดในการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจสู่ UrbanTech ของ อนันดาฯ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสู่ความเปลี่ยนแปลงด้านบวกของโลกผ่านกระบวนการคิดแบบก้าวกระโดด ซึ่งเป็นความท้าทายระดับโลก การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะสามารถเปลี่ยนโฉมทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตประจำวันของมนุษย์ได้อย่างคาดไม่ถึง                 

โดยผู้ประกอบการต้องมีการเรียนรู้และปรับตัวเพื่อให้ทัน และสร้างรากฐานธุรกิจอสังหาฯ เติบโตไปเรื่อยๆ และไม่หยุดนิ่ง เป็นการลดต้นทุนแต่ยังสร้างคุณค่าให้กับสิ่งแวดล้อม และต้องยอมรับว่าเทรนด์โลกปัจจุบัน นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามามีส่วนในการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีที่เรียกว่าปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า AI  ถือเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างในทุก ๆ ด้าน 

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า AI จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วขยายตัวได้ถึง 1.7 เท่า ในปี 2578 และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานโลกได้ถึง 30-40% โดยแวดวงที่ AI เริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องในปัจจุบัน ได้แก่ แวดวงการเงิน แวดวงการแพทย์ และแวดวงธุรกิจ โดยมีการใช้ AI จัดเก็บข้อมูลเพื่อรับทราบพฤติกรรมมนุษย์ นำไปสู่การนำเสนอสินค้าได้ตรงตามกลุ่มเป้าหมาย

'เราคาดว่าในระยะเวลา 5-10 ปีต่อจากนี้ เทคโนโลยีจะมีความก้าวหน้าและพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และยังมีผลต่อกระบวนการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็น วิธีการก่อสร้าง การออกแบบ สิ่งอำนวยความสะดวก ฯลฯ ที่จะเข้ามาบูรณาการการใช้ชีวิต สร้างสรรค์นวัตกรรมที่ช่วยประหยัดเวลา มีนวัตกรรมที่ช่วยดูแลสุขภาพ ช่วยดูแลเด็กและผู้สูงอายุ เรียกว่าเทคโนโลยีจะเข้าไปมีบทบาทในทุกแง่มุมของการใช้ชีวิต'