กสทช.แนะวิธีสกัด 'โดรน' บินสอดแนม

กสทช.แนะวิธีสกัด 'โดรน' บินสอดแนม

ผู้อำนวยการสำนักงานกสทช.เขต 4 (สงขลา) เสนอ 2 วิธีการสกัด "โดรน" บินสอดแนม ใช้มาตรการทางกายภาพให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบด้วยสายต าและมาตรการทางเทคนิคส่งคลื่นวิทยุรบกวนการควบคุม

จากกรณีข่าวมี อากาศยานไร้คนขับ “โดรน” สอดแนมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ล่าสุดทางสำนักงานกสทช.เขต 4 (สงขลา) รับผิดชอบ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) แนะแนวทางการแก้ปัญหาโดรนบินสอดแนม

นายสมคิด นาคะพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานกสทช.เขต 4 (สงขลา) เปิดเผย “ผู้สื่อข่าว” ว่า กระบวนการในการป้องกัน “โดรน” สอดแนมนั้น มี 2 วิธีด้วยกัน

1.การป้องกันทางกายภาพ นั่นคือการจัดเวรยามให้มีการตรวจตราและสอดส่อง หากพบว่ามี “โดรน”บินเข้ามาในพื้นที่หวงห้าม ตัวเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยพื้นที่ก็สามารถพบเห็นแล้ว และเข้าดำเนินการระงับยับยั้ง 2.คือการป้องกันทางด้านเทคนิค นั่นคือการใช้อุปกรณ์ในการควบคุมหรือว่ากำจัด ซึ่งอุปกรณ์ที่ว่านั้นมีชื่อเรียกว่าเครื่อง "แอนตี้โดรน" ซึ่งเครื่องจะมีการส่งคลื่นวิทยุขึ้นไปรบกวนและขัดขวางการควบคุม “โดรน” ที่บินเข้ามา

ส่วนการจะเลือกแนวทางป้องกันการบินสอดแนมของ “โดรน” นั้นต้องไปดูพื้นที่จริงว่า พื้นที่เราจะควบคุมหรือจำกัดการบินของโดรน ซึ่งหากเป็นพื้นที่ๆเป็นบริเวณกว้างการควบคุมหรือการจำกัดพื้นที่ก็จะทำได้ยาก
เพราะฉะนั้นความเห็นส่วนของหากจะใช้มาตรการป้องกันที่เหมาะสมก็น่าจะเป็นการใช้มาตรการทางกายภาพ นั่นคือการให้เจ้าหน้าที่ทำหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยตรวจสอบ ไม่ให้มีโดรนบินเข้ามาในเขตหวงห้าม

“พูดให้เข้าใจง่ายก็คือใช้คนตรวจสอบ เมื่อพบว่ามีโดรนสอดแนมเข้ามาในเขตหวงห้ามก็คือการจำกัด ทำลาย หรือควบคุมโดรนสอดแนวนั้น”

แต่หากว่าจะเลือกใช้แนวทางที่เป็นมาตรการทางเทคนิค คือแอนตี้โดรน ก็สามารถทำได้ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องบีบพื้นที่ให้แคบลง หรือมีการจำกัดพื้นที่ให้แคบลง เช่น ในเขตพื้นที่ปลอดภัยทางเดินอากาศ เขตสนามบิน หรือแนวรันเวย์ ก็จะสามารถใช้อุปกรณ์แอนตี้โดรน ในการควบคุมหรือจำกัดไม่ให้มีโดรนบินเข้ามาในเขตหวงห้ามได้ ซึ่งอุปกรณ์หรือเครื่อง “แอนตี้โดรน” ปัจจุบันราคาค่อนข้างสูง

ส่วนการตรวจสอบสัญญาณการบินของโดรนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัจจุบันทางกสทช.มีอยู่ด้วยกัน 6 สถานีด้วย ประกอบ จ.สตูล 1 สถานี , จ.สงขลา 2 สถานี, จ.ปัตตานี 1 สถานี, จ.ยะลา 2 สถานี และจ.นราธิวาส 2 สถานี โดยสามารถตรวจสอบสัญญาณ หรือคลื่นความถี่ 3 ประเภท 1.คลื่นความถี่ของ โดรน 2.คลื่นโทรทัศน์ดิจิทัล และ3.คลื่นอินเตอร์เน็ต,ไวไฟ

สำหรับการขึ้นทะเบียนโดรน และใบอนุญาตบังคับปล่อยโดรนในพื้นที่รับผิดชอบนั้น นายสมคิด กล่าวว่า ปัจจุบันจำนวนโดรนที่มีการนำมาขึ้นทะเบียนที่สำนักงานกสทช.เขต 4 สงขลา มีจำนวนไม่มาก ซึ่งคนที่นำมาขึ้นทะเบียนโดรน ส่วนใหญ่จะมีอาชีพสื่อมวลชน อีกส่วนก็จะเป็นหน่วยงานราชการ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานทางด้านความมั่นคง และหน่วยงานพลเรือนที่มีภาระกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการจะต้องสำรวจและเก็บข้อมูลทางกายภาพ

“จำนวนตัวเลขที่ชัดเจนต้องมีการตรวจสอบว่าในพื้นที่ว่ามี “โดรน” ที่ขึ้นทะเบียนจนถึงวันนี้มีจำนวนเท่าไหร่ ต้องไปแยกแต่ละจังหวัดออกมา เนื่องจากการจัดเก็บข้อมูลเป็นข้อมูลรวมกลางที่รวมทั้งประเทศ” ผู้อำนวยการสำนักงานกสทช.เขต 4 (สงขลา) กล่าว