Remote-Care เปลี่ยนแผน จาก “ผู้สูงวัย” สู่ “องค์กร”

Remote-Care เปลี่ยนแผน จาก “ผู้สูงวัย” สู่ “องค์กร”

ยกเลิกสมมติฐานแรกที่คิดไว้เป็นตลาด “ผู้สูงวัย” เปลี่ยนมาทดสอบสมมติฐานข้อต่อมาที่ว่าด้วยเรื่องของ “องค์กร” และ “พนักงาน”

เวลานี้ Remote-Care มีการปรับโมเดลธุรกิจจากเดิมที่มุ่งเป็น “บีทูบี” เท่านั้น ก็ขยายมาสู่ตลาด “บีทูซี” อีกด้วย


Before & After สโลแกนธุรกิจ ก็เปลี่ยนจาก “อยู่ห่าง ๆอย่างหายห่วง” มาเป็น “เปลี่ยนวิถีชีวิตที่คุณเป็น”


“ศิววงศ์ วุฒิพงศ์ประเสริฐ” ซีทีโอ บริษัท อมรชีวิน จำกัด เล่าว่า เดิมทีบริษัทตั้งใจจะพัฒนา Remote-Care ให้เป็นแพลตฟอร์มเพื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์ Wearable IoT สำหรับมอนิเตอร์สุขภาพของผู้สูงอายุที่ในยุคปัจจุบันมักต้องอยู่ที่บ้านตามลำพัง ให้สามารถแจ้งเตือนหากอุบัติเหตุ หรือประสบปัญหาสุขภาพแบบปัจจุบันทันด่วน เรียกง่ายๆ ก็คือพยาบาลทางไกล


แต่เมื่อได้เป็น 1 ใน 14 ทีมสตาร์ทอัพที่เข้าสู่รอบสุดท้ายของโครงการ “Allianz Ayudhya Activator” ก็ได้รับคำแนะนำจากเหล่าเมนเทอร์ที่เก่ง มากประสบการณ์ว่าควรปรับโมเดลธุรกิจเสียใหม่ เพราะแม้ว่าประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย แต่สินค้าที่ตอบโจทย์ในเรื่องนี้อาจยังทำรายได้ไม่เหมือนอย่างที่คิด ทำนองว่าเวลานี้ก็อาจยังเร็วเกินไปที่จะก้าวเข้ามาในตลาดนี้


อย่างไรก็ดี เมื่อไม่นานมานี้ทีม Remote-Care ยังได้มีโอกาสไปออกบูธภายในงาน “Thailand HR Tech Conference & Exposition 2018 : Connecting Humanity and Technology” ของสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) และนำไปสู่สมมุติฐานต่อมาว่าแทนที่จะเป็นผู้สูงวัย แต่โปรดักท์ที่พัฒนาขึ้นมาอาจตอบโจทย์ลูกค้าที่เป็นองค์กร และมนุษย์ทำงานได้ดีกว่า


"เมื่อก่อนผมเองก็ไม่มีความรู้เกี่ยวกับธุรกิจรูปแบบสตาร์ทอัพมากนัก และก็เพิ่งมาเข้าใจดีขึ้นเมื่อได้มาเข้าโครงการ Allianz Ayudhya Activato ซึ่งถ้าให้สรุปคีย์หลักของมันจะว่าด้วยการเติบโตแบบก้าวกระโดด จำนวนผู้เข้ามาใช้งานระบบของเราต้องเพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 400 %"


ซึ่งเขาคิดว่าสมมุติฐานที่สองนี้น่าจะช่วยทำให้ Remote-Care บรรลุเป้าหมายการเติบโตในแบบสตาร์ทอัพได้สำเร็จ เพราะจะลุยทำตลาดทั้งรูปแบบของบีทูบี และบีทูซี ทั้งยังอาจเป็นการสร้างฐานการตลาดเพื่อที่จะสามารถวกกลับไปหาตลาดสูงวัยในวันเวลาที่ใช่ในที่สุด


สำหรับตลาดบีทูบีนั้น ศิววงศ์ บอกว่าจะโฟกัสไปที่ตลาดองค์กร เนื่องจากมีการสำรวจแล้วพบว่าองค์กรสมัยใหม่ ในปัจจุบันล้วนให้ความสำคัญในเรื่องสุขภาพของพนักงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจุบันผู้บริหารระดับกลาง (Middle Manager) ที่ถือเป็นกระดูกสันหลังของทุกองค์กรเลยก็ว่าได้เริ่มมีอายุที่มากขึ้น มีปัญหาสุขภาพมากขึ้น หลาย ๆคนคงเคยได้ยินข่าวการเสียชีวิตเพราะความเครียด หรือการทำงานหนักโดยไม่ดูแลใส่ใจในสุขภาพของผู้บริหารระดับนี้กันอยู่บ่อย ๆ


ขณะที่ตลาดบีทูซี ลูกค้าเป้าหมายก็คือพนักงานของแต่ละบริษัทที่พอได้ใช้ระบบแล้วมองเห็นว่าดีมีประโยชน์ ก็จะยอมจ่ายเงินซื้อระบบเพื่อมาดูแลสุขภาพส่วนตัว ได้รับคำแนะนำเรื่องการใช้ชีวิตทั้งด้านอาหารการกิน และการออกกำลังกายอย่างไรให้เหมาะสม


เขาบอกว่าเท่าที่ได้สำรวจพฤติกรรมคนในสังคมยุคนี้ พบว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่สนใจว่าจ้างเทรนเนอร์มาให้คำแนะนำถึงการลดน้ำหนัก สังเกตุง่าย ๆมีกระทู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มากมายในโลกออนไลน์ ซึ่งในการลดน้ำหนักจะว่าด้วยเรื่องของอาหารและการออกกำลังกาย แต่มองว่าหลักใหญ่ต้องว่าด้วยเรื่องของอาหารการบริโภค ส่วนการปรับพฤติกรรมการออกกำลังกายจะตามมา


ทั้งนี้คอนเทนท์ที่อยู่ในระบบของ Remote-Care บางส่วนก็จะได้มาจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องของสุขภาพจำนวนมาก และเปิดโอเพ่นให้ทุกคนนำเอาไปใช้ประโยชน์ได้แบบฟรีๆ รวมถึงมีทีมที่ปรึกษาโภชนาการของโรงพยาบาลวชิระซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำ


โดยหลักการก็จะว่าด้วยเรื่อง เพศ- อายุ- น้ำหนัก และจะว่าด้วยกฏทอง 2 ข้อ คือทำอย่างไร และหลีกเลี่ยงอะไร เช่นลูกค้าอายุเท่านี้ น้ำหนักเท่านี้ควรจะรับประทานอย่างไรเรียงตามลำดับ 1-2-3 หรือจะออกกำลังกายอย่างไร 1-2-3 และต้องหลีกเลี่ยงอะไร เป็นต้น


"สำหรับตลาดบีทูบีเราจะขายเป็นแพ็คเก็จสำหรับองค์กรที่มีจำนวนพนักงาน 50 คน จะมีราคาเริ่มต้นที่ 3 แสนบาทต่อปี ซึ่งราคาบวกเพิ่มตามจำนวนของพนักงาน ส่วนราคาที่ตั้งไว้สำหรับบีทูซีเราจะคิดเพียงแค่เดือนละ 79 บาท/ราย"


ปัจจุบัน Remote-Care ที่มุ่งตลาดองค์กรได้มีการเข้าไปทดสอบระบบที่โรงพยาบาลวชิระ ใช้ระยะเวลา 3 เดือน โดยตั้งเป็นโครงการลดความอ้วน และมีอาสาสมัครเป็นบุคลากรภายในโรงพยาบาลจำนวน 50 คน (เวลานี้มีโรงพยาบาลภายใต้สังกัดกรุงเทพมหานคร10 แห่งเข้ามาร่วมศึกษาด้วย)


“เรามีการตั้งกลุ่มเพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการทั้ง 50 คน ได้แข่งขันกันลดความอ้วน แต่ละคนจะสามารถเปรียบเทียบคะแนนกับคนอื่นๆ ซึ่งฟีดแบ็คที่ผ่านมาถือว่าดี ทำให้เห็นว่าวิธีการแข่งขันมันเวิร์ค ช่วยทำให้คนเกิดแรงจูงใจ เพราะธรรมชาติของคนมักชอบการแข่งขัน ซึ่งโครงการจะสิ้นสุดเดือนมิถุนายนนี้ และจะกลายเป็นต้นแบบให้กับองค์กรอื่นๆ”


อย่างไรก็ดี ศิววงศ์บอกว่า แต่ละสมมติฐานควรใช้เวลา 6 เดือนในการพิสูจน์ และหากเห็นชัดว่าไม่ใช่ก็ต้องรีบปรับไปสู่สมมติฐานข้อต่อไป


ส่วนเป้าหมายที่ตั้งไว้ก็คือ ในปีนี้ภายจะต้องมีพนักงานองค์กรอยู่ภายในระบบ 5 พันราย ส่วนลูกค้ารายบุคคลนั้น จะต้องมีคนที่ยอมจ่ายเงินจำนวน 800 รายโดยประมาณ


เขาบอกว่าวางแผนขยายตลาดไปต่างประเทศด้วย แต่จะขีดวงไว้เพียงแค่ประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น ตามกำลัง ศักยภาพและความเป็นไปได้ที่มีอยู่ ซึ่งเวียดนามน่าจะเป็นประเทศแรกที่จะรุกไป เนื่องจากตัวศิววงศ์มีเพื่อนฝูงและคอนเน็คชั่นไม่น้อยอยู่นั่น


และเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย กลยุทธ์หลัก ๆ ของ Remote-Care จะว่าด้วยการหาพาร์ทเนอร์ทั้งโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน รวมถึงการวิ่งตรงเข้าไปหากลุ่มองค์กร บริษัทต่างๆ ซึ่งก็ได้ลิสต์รายชื่อมาเป็นจำนวนมากจากที่ได้ไปร่วมงานของ PMAT ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น


นอกจากนี้ ยังได้มีการพัฒนาโปรดักท์ที่โฟกัสกลุ่มพ่อแม่ที่ต้องการดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัยของลูกด้วยเช่นกัน เป็นการเชื่อมระบบกับ GPS Watch (ใช้ชื่อแบรนด์ Remote-Care เช่นเดิมแต่เป็นการแตกไลน์สินค้า) และมองว่าตลาดประเทศเป้าหมายน่าจะเป็นเวียดนาม กัมพูชา และเมียนมาร์ ซึ่งยังมีอัตราการเกิดของประชากรสูงกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาคนี้


"แต่ก็มีความท้าทาย เพราะ Remote-Care ถือเป็นธุรกิจโลกใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เราต้องสร้างความเข้าใจ ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ ต้องตั้งสมมติฐานและคิดแผนมาร์เก็ตติ้งที่แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งผมเองที่ผ่านมาทำงานอยู่แต่ในโลกธุรกิจแบบเดิมๆ ที่สมมติฐาน การคิดแผนมาร์เก็ตติ้ง หรือการทำธุรกิจมันก็วนลูปแบบเดิม ๆ"


หัวใจสำคัญจึงว่าด้วยการสำรวจตลาด สำรวจหาความต้องการที่แท้จริงของตลาด ศิววงศ์บอกว่าก็ไม่ได้หมายถึงการใช้เงินจำนวนมหาศาล ทางกลับกันคือต้องใช้แรงที่ค่อนข้างเยอะ เนื่องจากตัวเขาและทีมงานลงไปสำรวจและสอบถามความต้องการของตลาดเอง


“ที่เราทำอยู่ในเวลานี้ ก็คือเดินสายไปพรีเซนต์ให้กับทั้งลูกค้าและพาร์ทเนอร์ เพราะโปรดักท์ของเราพร้อมแล้ว เพียงแต่รอแค่ทำให้ตลาดยอมรับ ซึ่งเราก็มีการปรับพรีเซนเทชั่น ต้องโฆษณาให้ตรงจุดและทำให้ลูกค้าเข้าใจ สนใจได้อย่างรวดเร็ว”