รฟม. ชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การตั้งชื่อสถานีรถไฟฟ้า

รฟม. ชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การตั้งชื่อสถานีรถไฟฟ้า

รฟม. ชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การตั้งชื่อสถานีรถไฟฟ้า

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การตั้งชื่อสถานีรถไฟฟ้า ดังนี้

1. การตั้งชื่อสถานีจะพิจารณาจากที่มาของชื่อและความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับย่านหรือพื้นที่ซึ่งเป็นที่นิยมหรือคุ้นเคยของประชาชน ซึ่งมิได้ใช้เฉพาะแต่ชื่อ ถนน หมู่บ้าน ชุมชน ซอย หรือหน่วยงานราชการเท่านั้น เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ได้แก่ สถานีเมืองทองธานี สถานีราชภัฏพระนคร สถานีสินแพทย์ และสถานีนพรัตน์ โครงรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ได้แก่ สถานีมหาวิทยาลัยรามคำแหงและสถานีสัมมากร เป็นต้น


2. ในระหว่างการออกแบบ ก่อสร้าง รฟม. อาจจะพิจารณาปรับเปลี่ยนชื่อสถานีตามความเหมาะสมหรือตามที่หน่วยงานต่างๆ ร้องขอได้ ซึ่งที่ผ่านมา รฟม. ได้เคยเปลี่ยนชื่อสถานีรถไฟฟ้ามาแล้วหลายแห่ง เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ มีการเปลี่ยนจากสถานีสมุทรปราการ เป็น สถานีปากน้ำ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – บางแค มีการเปลี่ยนจากสถานีวังบูรพา เป็น สถานีสามยอด และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงคลองบางไผ่ – เตาปูน มีการเปลี่ยนจากสถานีศรีพรสวรรค์ เป็น สถานีบางกระสอ เป็นต้น


นอกจากนี้ ยังมีการนำหลักเกณฑ์อื่นมาประกอบการพิจารณาอีก เช่น ชื่อภาษาอังกฤษควรจะทับศัพท์กับภาษาไทยไม่ใช่คำแปล สถานีที่เป็นจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้า (Interchange) ที่มีลักษณะเป็นโครงสร้างอาคารร่วมกันให้กำหนดชื่อสถานีเหมือนกัน เป็นต้น ทั้งนี้ รฟม. ได้นำแนวทางหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาใช้ประกอบการพิจารณาตั้งชื่อสถานีศรีปทุม ซึ่งคำว่า “ศรีปทุม” ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายคำว่า “ศรี” หมายถึง สิริมงคล ความรุ่งเรือง ความสว่างสุกใส ความงาม ความเจริญ เช่น ศรีบ้าน ศรีเรือน ศรีเมือง ใช้นำหน้าคำบางคำเป็นการยกย่อง เช่น พระศรีรัตนตรัย วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนคำว่า “ปทุม” หมายถึง “บัวหลวง หรือก้านบัว” ซึ่งเมื่อรวมคำว่า “ศรี” และ “ปทุม” แล้วทำให้มีความหมายว่า ดอกบัวอันเป็นสิริมงคล ซึ่งเป็นความหมายที่ดีและเป็นนามมงคล อีกทั้งยังมีความสอดคล้องกับชื่อของชุมชนในบริเวณดังกล่าวอีกด้วย ดังนั้น รฟม. จึงเห็นว่าชื่อสถานีศรีปทุมมีความเหมาะสมแล้ว