มมส ตัวแทนไทย ร่วมงาน ASEAN Plus Three Festival 2018

มมส ตัวแทนไทย ร่วมงาน ASEAN Plus Three Festival 2018

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตัวแทนไทย ส่งผู้เข้าร่วมงาน ASEAN Plus Three Festival 2018 ที่มหาวิทยาลัยภูมินทร์พนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา ตามคำเชิญจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ และ Royal University of Phnom Penh

นางสาวศิเรมอร ประทุมทิพย์ นักวิเทศสัมพันธ์ กองประชาสัมพันธ์และกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) เปิดเผยว่า ได้เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยมหาสารคาม นำบุคลากร และนิสิต จำนวน 14 คน ร่วมในงาน ASEAN Plus Three Festival 2018 ณ ราชอาณาจักรกัมพูชา ถือเป็นมหาวิทยาลัยเดียวที่ได้เข้าร่วมงานสำคัญในครั้งนี้

2_2

โดยทางบุคลากร และนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมทำกิจกรรมต่างๆ อาทิ การออกซุ้มประเทศไทย (Country Booth) เพื่อบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศไทยในด้านต่างๆ เช่น ประชากร การศึกษา เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว อาหาร ผลไม้ การแต่งกาย การประกอบอาชีพ , การออกซุ้มของที่ระลึกจากประเทศไทย (Souvenir Booth) เพื่อแสดงถึงวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงาม โดยได้นำผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลผลิตจากผู้ประกอบการที่ได้รับการดูแลให้คำปรึกษาจากศูนย์ความร่วมกับภาคอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม รวมถึงผลิตภัณฑ์ผ้าไหมผ้าฝ้ายซึ่งเป็นสินค้าที่ระลึกจากภูมิปัญญาของชาวอีสานไปเผยแพร่แก่ผู้เข้าร่วมงานจาก 13 ประเทศ , การออกซุ้มอาหารไทย (Food Booth)

5_1

โดยอาจารย์และนิสิตจากสาขาภาษาเขมรได้จัดเตรียมอาหารสำหรับสาธิตและให้ผู้เข้าร่วมงานทดลองให้ชิม ได้แก่ เมี่ยงคำ ขนมนางเล็ด ส้มตำ (ตำไทย ตำปู ตำผลไม้ฯลฯ) น้ำกระเจี๊ยบ น้ำมะตูม เป็นต้น นอกจากนี้ นิสิต มมส ยังได้ร่วมสาธิตการละเล่นของเด็กไทย ได้แก่ การเดินกะลา การขี่ม้าก้านกล้วย มอญซ่อนผ้า รีรีข้าวสาร และการแสดงรำบายศรี ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก

11

นางสาวกนกวรรณ บุญยงค์ (น้องแป้ว) นิสิตชั้นปีที่ 3 สาขา ภาษาและวัฒนธรรมอาเซียน (ภาษาเขมร) คณะ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ 1 ในตัวแทนนิสิตที่ได้ไปร่วมงานในครั้งนี้ กล่าวว่า "รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการนี้ เพราะงานนี้เป็นงานระดับประเทศซึ่งน้อยมากที่เราจะได้มีโอกาสดีๆแบบนี้ ก็ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่มอบโอกาสดีๆให้กับพวกเราเอกเขมร ซึ่งอาจจะเป็นเอกเล็กๆที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก แต่มหาลัยก็ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในครั้งนี้

4_1

ซึ่งการไปร่วมงานในครั้งนี้ ตนได้รับมอบหมายให้ร่วมทำกิจกรรม การสาธิตการทำอาหาร ได้แก่ เมี่ยงคำ ขนมนางเล็ด ส้มตำ (ตำไทย ตำปู ตำผลไม้ฯลฯ) น้ำกระเจี๊ยบ น้ำมะตูม ซึ่งในส่วนการทำอาหารนั้นได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะส้มตำและเมี่ยงคำ คนกัมพูชาบางคนก็สงสัยว่าใบชะพลูกินได้ด้วยหรอ กินได้จริงไหม บางคนก็กล้าๆกลัวๆที่จะกิน แต่เราก็ได้พูดเชิญชวนเค้าเป็นภาษาเขมรให้ลองมาชิมดู ก็พูดขำๆบอกเค้าไปว่า "มาลองกินไหม ถ้าไม่ลองก็ไม่รู้นะว่ามันจะอร่อยหรือเปล่า แต่ถ้าได้ลองอาจจะติดใจก็ได้นะ" พอพูดแบบประโยคนี้จบ เค้าก็สนใจที่จะลองมากขึ้นค่ะ นอกจากนี้ ก็มีโอกาสแสดงการละเล่นพื้นบ้านไทย พวกเราก็ได้เสนอการละเล่นพื้นบ้านไทยไป เช่น รีรีข้าวสาร มอญซ่อนผ้า ม้าก้านกล้วย เดินกะลา และเพื่อนอีก 5คนก็ได้ไปแสดงวัฒนธรรมไทยให้ผู้มาร่วมงานได้ชม คือการรำบายศรี

3_1

พูดถึงความประทับใจ ตนเองมีความประทับใจในกับพี่ Staff ภายในงาน คือ พี่ Staff ช่วยเราดีมากไม่ว่าจะเรื่องจัดซุ้ม หาสิ่งของอะไรหลายๆอย่าง คือเค้าช่วยทุกอย่างเลยค่ะ และอีกอย่างก็คือภูมิใจที่คนกัมพูชาเค้าสนในความเป็นไทย สนใจอาหารไทย สิ่งที่ภูมิใจที่สุดคือเวลาเราพูดภาษาเขมรไปเค้างงว่าทำไมเราพูดได้ แล้วพูดได้ยังไง เราก็เลยบอกเค้าไปว่าพวกเราเรียนภาษาเขมร ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เหมือนพวกเค้าก็รู้สึกดีใจเช่นกันที่มีคนไทยบางส่วนสนใจในภาษาเขมร

6

สิ่งที่ได้รับจากการไปร่วมกิจกรรมในครั้งนี้คือ ที่หนึ่งเลยคงเป็นความภาคภูมิใจ เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เราจะได้ไปร่วมงานแบบนี้ และอีกอย่างคงเป็นประสบการณ์เพราะการที่เราได้เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยไปร่วมงานใหญ่ขนาดนี้ เป็นประสบการณ์ที่ดีที่สุดในชีวิตมหาวิทยาลัยเลยทีเดียว และสิ่งที่มหาวิทยาลัยได้รับนั้นคงเป็นผลตอบรับที่ดีจากทางนิสิตมหาวิทยาลัยภูมินทร์พนมเปญและประชาชนทั่วไปที่เข้าไปร่วมงานที่ได้เห็นสิ่งดีงามของความเป็นไทย

ฝากถึงเพื่อนๆ น้องๆนิสิต ในการปรับตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน สิ่งที่ต้องเตรียมให้ดีเลยนั้นภาษาอังกฤษเพราะนั้นคือภาษากลางของอาเซียน อีกอย่างที่เราต้องเตรียมนั้นก็คงเป็นการศึกษาวัฒนธรรมแต่ละประเทศให้ดี เพราะในแต่ละประเทศเค้ามีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไปค่ะ"

7

ด้าน นางสาววีรยา พวงวร (ชมพู่) นิสิตชั้นปีที่ 3 สาขา ภาษาและวัฒนธรรมอาเซียน(เขมร) คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มมส เล่าว่า "รู้สึกยินดีที่ได้รับโอกาสซึ่งเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ได้ไปทำกิจกรรมในครั้งนี้ เพราะว่างานนี้ถือเป็นงานที่ใหญ่มาก

สำหรับกิจกรรมที่ได้ร่วมกิจกรรมแรกเลยก็คือ การได้ช่วยกันจัดตกแต่งซุ้มมี 2 ซุ้มด้วยกันคือซุ้มอาหารไทย และซุ้มของที่ละลึก และวันต่อมาคือวันที่จัดกิจกรรมจริงๆ ได้รับมอบหมายให้ทำหลายๆอย่างด้วยกัน คือ แต่งหน้าให้เพื่อนๆที่ทำกิจกรรมด้วยกัน และเมื่อมีเวลาว่างจึงได้ไปช่วยเพื่อนๆทำอาหาร และแจกจ่ายอาหารในซุ้มอาหาร จากนั้นได้ขึ้นโชว์แสดงการละเล่นของไทย ต่อด้วยแสดงประจำชาติ คือการรำเพลงบายศรีสู่ขวัญ และหลังจากที่การแสดงแล้วเสร็จจึงได้ไปช่วยเพื่อนๆพี่ๆ อาจารย์เก็บของและทำความสะอาดซุ้ม และจึงกลับที่พัก

ความประทับใจจากการไปร่วมงาน ชมพู่มีความปลื้มใจ และภูมิใจมากที่ได้ร่วมงานในครั้งนี้ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัย และได้พูดคุยกับคนประเทศกัมพูชาซึ่งถือว่าเป็นการได้หัดใช้ภาษาให้พัฒนาขึ้นไปสิ่งที่ได้จากการไปร่วมงานคือ ได้ทำกิจกรรมใหม่ๆ ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน และได้นำเอกลักษณ์ความเป็นไทยไปโชว์ในฐานะของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ส่งผลไปให้มหาวิทยาลัยได้รับชื่อเสียงและมีคนรู้จักมากขึ้น และได้ฝึกใช้ภาษาที่ตนเองเรียนมา

8

สุดท้าย อยากฝากถึงเพื่อนๆ น้องๆนิสิต ในการปรับตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสื่อสารด้วยภาษากลางคือภาษาอังกฤษ และต่อมาควรหาความรู้ในเรื่องของวัฒนธรรมของประเทศต่างๆบ้างเพื่อที่จะได้เข้าใจในวัฒนธรรมนั้นๆ จะได้ปฏิบัติตัวได้ถูกต้องและเหมาะสมตามกาลเทศะ"

ในโอกาสนี้ นายปัญญรักษ์ พูลทรัพย์ เอกอัครราชทูต ได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำคณะผู้แทนจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในโอกาสเข้าร่วมงานดังกล่าว ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา สร้างความประทับใจและความภูมิใจให้กับตัวแทนชาวมหาวิทยาลัยมหาสารคามเป็นอย่างยิ่ง