งานแกะดินที่เหมือนหิน My Gods ของปานชลี

งานแกะดินที่เหมือนหิน  My Gods ของปานชลี

เป็นงานปั้นที่ไม่เหมือนใคร เทวะของเธอจึงมีหน้าตาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

...................

ถ้าพูดถึงถ้วยชา รูปทรงที่มีเอกลักษณ์ ก็ต้องนึกถึง ปานชลี สถิรศาสตร์ นักปั้นที่มีชื่อเสียงในเมืองไทย 

กว่าเธอจะมีผลงานออกมาแต่ละชุด เธอใช้เวลาเป็นปีๆ อาทิ เอม โอชา นิทรรศการดินเผา ปี 2557 ,นิทรรศการเทวลีลา ปี 2559 ฯลฯ รวมถึงผลงานละเมียดละไมอีกหลายชุด โดยส่วนใหญ่เธอจะจัดงานแสดงศิลปะ พร้อมๆ กับการเล่าเรื่องในมุมต่างๆ และบางครั้งก็ทำออกมาเป็นหนังสือ 

นอกจากงานปั้น เธอยังชอบเขียนหนังสือ และอ่านวรรณกรรม บางครั้งก็เป็นวิทยากรในงานปั้นเซรามิค และถูกเชิญไปแสดงงานในต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง

เมื่อเร็วๆ นี้เธอเปิดบ้านจัดแสดง นิทรรศการ เทวลัลลา My Gods ที่บ้านริมคลองแกลลอรี่ ย่านประชาชื่น 38

“ปกติเป็นคนที่ชอบเทพนิยาย ชอบอ่านเรื่องกรีก โรมัน ฮินดู อ่านแล้วก็นำมาเปรียบเทียบกับเทพนิยายของไทยและญี่ปุ่น รวมถึงเทพนิยายชนเผ่า ก็เลยได้เขียนหนังสือเล่มนี้ เทวลีลาออกมา โดยใช้เวลาอ่านแล้วอ่านอีกในเรื่องเทพนิยายยุคก่อนประวัติศาสตร์ อ่านมาหลายสิบปีจนเข้าใจ และได้แรงบันดาลใจมาทำงานศิลปะ “ ปานชลี เล่า ขณะชี้ชวนให้ดูงานประติมากรรมที่เธอเรียกว่า  My Gods ของฉัน 

ที่ไม่เหมือนใคร เพราะเป็นประติมากรรมจากดิน พื้นผิวภายนอกคล้ายหิน หรือ เปลือกไม้ เทวรูปแต่ละองค์มีร่องรอยการสะกัด และร่องรอยการกัดเซาะของสายน้ำและแรงลม โดยลดทอนรายละเอียดให้เป็นเทวรูปย่อส่วน และมีรูปลักษณ์ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด

เพราะเธอเอง ก็เป็นคนรักธรรมชาติ รักความเงียบ รักต้นไม้ โดยครั้งนี้เธอขอเล่าเรื่องทวยเทพและเทพลีลาที่เธอทำด้วยสองมือนานกว่าสองปี

“ความชอบเทพนิยาย ทำให้อยากปั้นเทวรูป ก่อนหน้านี้เริ่มทำพระคเณศ ทำออกมาไม่เหมือนพระคเณศทั่วไป คนไทยจะคุ้นกับพระคเณศที่พุงพลุ้ย ในเวอร์ชั่นทารก แต่ของเราจะแกะออกมาตัวแบนๆ ผอมๆ ตอนนั้นทำเล่นๆ เพื่อนเห็น ก็ชอบ ขอซื้อ”

ก่อนหน้านี้ เธอเคยแสดงผลงานชุด เอม โอชา นิทรรศการดินเผา โดยนำผักผลไม้พื้นบ้านห้าอย่างที่คนเมืองไม่รู้จักมาตกแต่งบนจานชามที่ปั้นเอง แล้วให้คนดูงานศิลปะทายว่า เป็นผักผลไม้ชนิดใด ปรากฎว่า คนทายถูกน้อยมาก“เพราะคนไม่ค่อยรู้จักพืชผักสมุนไพรเหล่านั้น ทั้งๆ ที่มีคุณค่า จากนั้นเราก็ค่อยๆ พัฒนางาน โดยทำงานที่ได้แรงบันดาลใจจากเปลือกไม้ หรือวัสดุที่เสาะมาจากหินหน้าผา นำมาสะกัด ตอนนั้นชื่อชุด มนตราแห่งแผ่นดิน คือเอาดินมาแกะ โดยทำให้มีสภาพเหมือนหิน ตอนนั้นก็มีอาจารย์พานักศึกษามาดูงาน บางคนคิดว่าเป็นหินจริงๆ บางคนคิดว่าเอามาจากต้นไม้ บางคนคิดว่าเป็นดิน”

เธอเล่าต่อว่า งานเซรามิคส่วนใหญ่จะนำดินมาเผาโดยใช้ความร้อนสูง แต่งานชุดนี้พัฒนาออกมาคล้ายหินก้อนหนึ่ง แล้วนำมาตอก สะกัด จะสร้างสรรค์เป็นอะไรก็ได้

“เครื่องปั้นดินเผาที่นำมาใช้เป็นภาชนะ ส่วนใหญ่เผาด้วยความร้อนสูง เพื่อไม่ให้เกิดมลพิษเวลานำมาใช้ ซึ่งวิธีการทำ ค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลานาน สำหรับงานปั้นเทวลัลลา เราก็ผสมหินลงไปในดิน เผาแล้วแกร่งเหมือนหิน ทำพื้นผิวให้เหมือนแกะมาจากหิน จากนั้นตกแต่งทำออกมาคล้ายๆ สายลมเสาะ สายน้ำกร่อน ชอบมากงานแบบนี้ เป็นสิ่งที่อยากทำมานาน

เพราะเวลาเราพูดถึงเทพ ถ้าเป็นเจ้าแม่กวนอิม ส่วนใหญ่ก็จะนึกถึงหน้าตาที่สวยงาม มีเนื้อ มีหนัง เสื้อผ้าพริ้ว ถ้าพูดถึงพระอิศวร พระนารายณ์ ก็จะเป็นเทพที่มีกล้ามเนื้อ หรือเทพเจ้าของกรีกหน้าตาสวยและหล่อ แต่ Gods ของปานชลี ไม่ใช่แบบนั้น เป็นยุคก่อนประวัติศาสตร์”

เมื่อคุยถึงเรื่อง แรงบันดาลใจในการทำงาน เธอบอกว่า เวลาไปเที่ยวชายทะเล เห็นกรวดหินก้อนเล็กๆ ที่ถูกน้ำเซาะ สวยมาก 

"สิ่งเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจในการทำงานศิลปะ อีกอย่างเราก็ชอบเขียนหนังสือ อยากให้ความรู้คน กว่ายี่สิบปีที่พยายามอ่านเรื่องเทพ แล้วเขียนออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้ เทวลีลา ปกติถ้ามีคนถามเรื่องเทพ กับต้นไม้ สองเรื่องนี้ ปานชลีจะตอบได้หมด แต่ถ้าถามเรื่องอื่น ไม่รู้เรื่อง 

หนังสือเล่มนี้ใช้เวลาเขียนนานมาก โดยเล่าถึงความเป็นมาของเทพแต่ละองค์ ทั้งหมดเป็นงานชุดที่รักมากที่สุด แม้คนที่ไม่คุ้นเคยกับงานยุคก่อนประวัติศาสตร์ ก็เข้าใจเรื่องราวได้ และนี่เป็นงานประติมากรรมที่มาจากแรงบันดาลใจในการอ่าน เป็นครั้งแรกที่เปิดแสดงที่บ้านริมคลองแกลลอรี่” ปานชลี เล่าขณะพาเดินชมเทวลัลลากว่าสองร้อยองค์

“งานที่เห็นเป็นเซรามิคจากดินนิ่มๆ ผสมหินลงไป แกะด้วยสิ่ว ลิ่ม ขวาน มีด ตอกๆ แล้วสกัด  จริงๆ แล้วงานสกัดแบบนี้ เป็นงานเอ็กเพรสชั่นนิสม์ แกะโดยไม่ต้องสเก็ต เราทำด้วยความหลงใหลและรัก และทำออกมาได้ใกล้เคียงกับสิ่งที่เราคิด เวลาตอกลงไปบนดินที่เหมือนหิน สนุกมาก อย่างพระอิศวร เป็นเทพที่ไม่แต่งตัวอลังการ เทพองค์นี้ มีงูเห่าคล้องคอ นุ่งโสร่ง ซึ่งเป็นยุคก่อนประวัติศาสตร์ เทพบางองค์มีเครื่องทรงแบบชนเผ่า หรือเทพแห่งลมฝน คนไทยเรียกพระพิรุณ” เธอเล่าถึงงานประติมากรรมหน้าตาแปลกๆ ที่เรียกว่า Gods

“คนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับเทพที่มีกล้ามเนื้อสวยงาม แต่งานเราเป็นการลดทอนรูปทรง ดูแบนๆ คนที่ชอบเซรามิคก็จะสนใจ เราทำออกมา อย่างที่เราอยากทำ  เทพแห่งท้องฟ้า เทพแห่งพระอาทิตย์ สุริยเทวี เทพีแห่งเกษตรกรรม และเทพแห่งเตาไฟ ”

เธอ บอกว่า ปีนี้จะแสดงงานศิลปะต่างประเทศอีกครั้งเป็นครั้งสุดท้าย เพราะอยากทำงานของตัวเองในเมืองไทยให้เต็มที่และแบ่งปันความรู้ให้คนอื่นบ้าง โดยใช้บ้านริมคลองแกลลอรี่ เป็นสถานที่พบปะสำหรับคนที่อยากเรียนรู้เรื่องศิลปะ ต้นไม้ และวรรณกรรม

“ไม่มีใครเขียนเรื่องเทพในมุมเปรียบเทียบ เราก็พยายามเขียนให้สนุก เพราะเราชอบค้นคว้า เขียนจดหมายถึงเพื่อนยังค้นคว้าเลย "

........................

หมายเหตุ : งานนิทรรศการ เทวลัลลา My Gods จัดแสดงถึงวันที่ 22 เมษายน 2561 ที่ริมคลองแกลเลอรี ประชาชื่น 38 (คนที่อยากเข้าชม ติดต่อล่วงหน้าที่เบอร์ 086 529 0300 เธอจะช่วยบรรยายเรื่องราวเกี่ยวกับเทพให้ฟัง)

.................

(((เทพจากหนังสือเทวลีลา)))

-คเณศ เทพแห่งศิลปะและวิทยาการ มีเศียรเป็นช้าง ถูกปั้นเป็นเด็กทารกพุงพลุ้ย ถือชามขนมต้ม มีมุสิกหรือหนูเป็นพาหนะ เป็นเทพทีั่ชาวฮินดูนับถือและสร้างรูปเคารพมากที่สุด และเป็นเทพที่ปัดเป่าอุปสรรคและปัญหา นำมาซึ่งความมั่งคั่ง 

ว่ากันว่า คนไทยไปตีความอีกแบบ แล้วสร้างรูปของท่าน เพื่อประทานความร่ำรวย และปลดเปลื้องหนี้สิน โดยทำเป็นพระคเณศเรียกทรัพย์แทนนางกวัก 

นอกจากนี้เคยมีบริษัทสัญชาติอเมริกัน ผลิตเบียร์ตราคเณศ โดยให้กรข้างหนึ่งถือเบียร์ งวงชูกระป๋องเบียร์ ส่งมาขายอินเดีย เพื่อตีตลาดเบียร์ ปรากฎว่า คนฮินดูโกรธแค้น ประท้วงอย่างรุนแรง ฟ้องเรียกค่าลบหลู่เทพพันกว่าล้านรูปี จนต้องถอดผลิตภัณฑ์ออกไป

-เฮสเทีย หรือเทพีแห่งห้องครัวและเตาไฟ เปํ็นเทพีสมถะ พระนางไม่มีบัลลังก์ประจำบนสวรรค์ พอใจที่จะเป็นเทพที่มีคนบูชาอยู่ในบ้าน โปรดการสถิตในครัวและเตาไฟ มากกว่านั่งเช้งวับอยู่บนยอดโอลิมปัส

ว่ากันว่า ใครที่ทำหม้อแกงไหม้บ่อยๆ และอยากทำอาหารให้อร่อย ต้องบูชาเทพีองค์นี้

-ศิวะ ของฮินดู เป็นเทพสมถะ ไม่ทรงเครื่องประดับด้วยเพชรนิลจินดา จะห่มพระวรกายด้วยหนังเสือ สวมสังวาลร้อยด้วยกะโหลกมนุษย์ มีงูเห่าขู่ฟ่อๆ คล้องพระศอ พาหนะของศิวะเป็นโคเผือกสงบเสงี่ยมตัวหนึ่ง 

กิจวัตรของศิวะ คือ การเข้าญาณอยู่ในห้วงนิทรารมย์ยาวนาน จะตื่นบรรทมก็ต่อเมื่อมีอสูรหรือฤาษีที่บำเพ็ญเพียรบูชาพระองค์เป็นเวลาติดต่อกันอย่างน้อยห้าพันปี จึงจะพอพระทัยเสด็จมาให้พรตามคำขอ

ฯลฯ