สถิติอุบัติเหตุสงกรานต์สูงสุดรอบ3ปี หวั่นปี61ซ้ำรอย แนะประยุกต์ใช้IT

สถิติอุบัติเหตุสงกรานต์สูงสุดรอบ3ปี หวั่นปี61ซ้ำรอย แนะประยุกต์ใช้IT

อธิการบดี สจล. ชี้ปี 2560 สถิติอุบัติเหตุสงกรานต์ สูงสุดในรอบ 3 ปี หวั่นปี 61 ซ้ำรอย แนะผู้ใช้รถใช้ถนนห้ามประมาท ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ช่วยลดอุบัติเหตุได้

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ชี้ สถิติการเกิดอุบัติเหตุ ช่วง 7 วันอันตราย ของเทศกาลสงกรานต์ ปี 2560 สูงที่สุดในรอบ 3 ปี โดยมีจำนวนการเกิดอุบัติเหตุรวม 3,690 ครั้ง หวั่นสถิติอุบัติเหตุสงกรานต์ปี 2561 นี้ ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยสาเหตุหลักเกิดจากพฤติกรรมการขับขี่ที่ผิดหลักจราจร อาทิ การขับขี่โดยประมาท การใช้ความเร็วสูงเกินกำหนด การเปลี่ยนช่องทางเดินรถฉับพลัน เป็นต้น ซึ่งผลวิจัยพบว่า หากใช้ความเร็วขับขี่คงที่ระหว่าง 60 – 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เว้นระยะห่างจากรถยนต์คันข้างหน้าประมาณ 20 – 25 เมตร และไม่เปลี่ยนช่องทางการเดินรถ จะทำให้กระแสการจราจรคล่องตัวมากขึ้น 15 – 20 % ทั้งนี้ ประเทศไทยเอง ได้พัฒนาแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน เพื่อตอบโจทย์การใช้งานให้ตรงกับไลฟ์สไตล์คนยุคปัจจุบัน ซึ่งประชาชนควรให้ความสำคัญและนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ อาทิ แอปพลิเคชันแสดงข้อมูลสภาพการจราจรของทางหลวงในประเทศไทย แอปพลิเคชันตรวจสอบข้อมูลเส้นทางและผู้ขับขี่สำหรับผู้ที่ต้องใช้บริการขนส่งมวลชน และแอปพลิเคชันพยากรณ์อากาศที่มีความแม่นยำสูงที่สุดของภูมิภาคอาเซียน เป็นต้น เพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางมากยิ่งขึ้น ตลอดจนเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนเดินทางล่วงหน้า เพื่อลดอัตราเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2561 นี้

1_4

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า รายงานตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตบนท้องถนนไทย ขององค์การอนามัยโลก พบว่าประเทศไทยมีอัตราส่วนผู้เสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก หรือเท่ากับ 36.2 คนต่อประชากร 1 แสนคน ตลอดจนรายงานสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่า ในปี 2560 สถิติอุบัติเหตุสูงที่สุดในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา โดยมีจำนวนการเกิดอุบัติเหตุสูงถึง 3,690 ครั้ง เมื่อเปรียบเทียบกับสถิติในปี 2559 ที่มีตัวเลขการเกิดอุบัติเหตุ 3,447 ครั้ง และปี 2558 ที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุเพียง 3,373 ครั้ง และคาดว่าสงกรานต์ปี 2561 นี้ ประเทศไทยอาจมีแนวโน้มการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มสูงขึ้นจากปีที่ผ่านๆ มา หากผู้ขับขี่ยังประมาทในการขับขี่สัญจรมากขึ้น

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวเพิ่มว่า สาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ มักเกิดจากพฤติกรรมการขับขี่ที่ผิดหลักจราจร ทั้งการขับขี่โดยประมาท การใช้ความเร็วสูงเกินกำหนด การเปลี่ยนช่องทางเดินรถฉับพลัน ตลอดจนการเร่งความเร็วผ่านจุดที่มีความหนาแน่นของการจราจรเบาบาง เพื่อทดเวลาที่สูญเสียไปในจุดที่มีการจราจรหนาแน่น โดยจากการวิจัยพบว่า ในทางปฏิบัติ การขับขี่เปลี่ยนแปลงความเร็วและช่องทางเดินรถไปมา จะทำให้เกิดปรากฏการณ์ช็อกเวฟ ซึ่งก่อให้เกิดการติดขัดของกระแสการจราจรเพิ่มขึ้น ทว่าในทางกลับกัน การใช้ความเร็วขับขี่คงที่ และไม่เปลี่ยนช่องทางการเดินรถ จะทำให้กระแสการจราจรคล่องตัวมากขึ้น 15 – 20 % ซึ่งความเร็วเหมาะสมที่ควรเลือกใช้อยู่ระหว่าง 60 – 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยเว้นระยะห่าง จากรถยนต์คันข้างหน้าประมาณ 20 – 25 เมตร หรือประมาณ 4 ช่วงคันรถ ควรเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่เป็นพิเศษบริเวณทางแยก ทางร่วม จุดกลับรถ และควรคำนึงสภาพอากาศในวันที่ต้องทำการเดินทาง สมรรถนะของรถยนต์ ความพร้อมของตนเอง ตลอดจนศึกษาและวางแผนการเดินทางล่วงหน้า เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ

3_2

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีอันก้าวหน้าเอง ได้เข้ามามีบทบาทต่อวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าว ประเทศไทยเองได้เดินหน้าพัฒนาแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและช่วยเพิ่มขีดความปลอดภัยในการคมนาคมของประชาชนมากยิ่งขึ้น อาทิ Thailand Highway Traffic แอปพลิเคชันแสดงข้อมูลสภาพการจราจรของทางหลวงในประเทศไทย พร้อมฟังก์ชันการค้นหาข้อมูลตามเส้นถนน พร้อมแผนที่แสดงจุดบริการอื่นๆ เช่น ปั๊มน้ำมัน และห้องน้ำ
DLT – GPS โดยกรมขนส่งทางบก แอปพลิเคชันตรวจสอบข้อมูลเส้นทางและผู้ขับขี่สำหรับผู้ที่ต้องใช้บริการขนส่งมวลชน ซึ่งมีฟังก์ชันตรวจสอบข้อมูลเส้นทางการเดินรถ ข้อมูลผู้ขับขี่ และรายงานการตรวจเช็คสภาพรถโดยสาร เพื่อใช้ตรวจสอบข้อมูลการขับขี่และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะ และ WMApp แอปพลิเคชันพยากรณ์อากาศที่มีความแม่นยำสูงที่สุดของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถตรวจสอบสภาพอากาศในวันที่ต้องการเดินทาง ลดอัตราเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุอันมีสาเหตุจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ฯลฯ ทั้งนี้ นอกเหนือจากพฤติกรรมการขับขี่ และปัจจัยทางกายภาพแล้ว ประชาชนควรให้ความสำคัญและนำเทคโนโลยีดังกล่าว มาประยุกต์ใช้เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางให้แก่ตนเอง ตลอดจนเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนเดินทางล่วงหน้า เพื่อช่วยลดอัตราเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2561 นี้อีกด้วยด้วย ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวสรุป