‘EDAP’ แพลตฟอร์มลดเสี่ยงธุรกิจประกันภัย

‘EDAP’ แพลตฟอร์มลดเสี่ยงธุรกิจประกันภัย

ปัญหาสามารถแก้ได้ด้วยเทคโนโลยีและการจัดการด้านข้อมูล

สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในแวดวงประกันภัยในมุมมอง ณัฐพล ปัญญาแก้ว ประธานผู้ก่อตั้ง และฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ In-Tech Engineering Team พบปัญหาใหญ่ในเรื่องแข่งขันด้านราคาจนละเลยประเด็นความเสี่ยงภัย

ประสบการณ์กว่า 10 ปีในธุรกิจประกันภัยทำให้ ณัฐพล มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น ในขณะเดียวกันก็เห็นว่าปัญหานั้นสามารถแก้ได้ด้วยเทคโนโลยีและการจัดการด้านข้อมูล

“การบริหารความเสี่ยงทั้งก่อนและหลังในการรับประกันวินาศภัย เป็นเรื่องสำคัญและท้าทายที่สุดสำหรับธุรกิจประกันภัย

เพราะจะเป็นตัวชี้วัดถึงผลกำไรขาดทุนของบริษัทฯประกันภัยนั้นๆได้เป็นอย่างดี” ณัฐพล กล่าว

การแข่งขันด้านราคากันสูงในธุรกิจนี้ ณัฐพล ชี้ให้เห็นว่า หากประเมินกราฟประกอบการย้อนหลังเทียบระหว่างประกันภัย กับ ประกันชีวิตจะพบว่า ประกันชีวิตยิ่งนานวันกราฟยิ่งขึ้น เพราะเบี้ยที่จ่ายผันแปรกับอายุและความเสี่ยงจากโรคภัยไข้เจ็บ ขณะที่ประกันภัยยิ่งนานวันยิ่งเสี่ยงสูงแต่การจ่ายเบี้ยกลับน้อยกว่า

นี่เป็นอีกความเสี่ยงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในขั้นตอน Risk Survey

จากข้อมูลที่จัดเก็บมาตลอดการทำงาน โดยเฉพาะจากเหตุการณ์น้ำท่วม ในปี 2554 เหตุการณ์ที่ส่งผลต่อธุรกิจบริษัทประกันวินาศภัยเป็นวงกว้าง และสร้างความท้าทายในหลายมิติให้กับธุรกิจอันเกิดจากการจ่ายสินไหมน้ำท่วมมูลค่ามหาศาล อันเนื่องจากการรับประกันความเสี่ยงภัยน้ำท่วมในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมสูง

เห็นได้ว่า หลายๆ กรมธรรม์ประกันวินาศภัยในขณะนั้นมีลักษณะอัตราการเก็บเบี้ยประกันวินาศภัย ในส่วนความคุ้มครองภัยน้ำท่วมในมูลค่าที่ต่ำกว่าความเสี่ยงภัยที่แท้จริงอันพึงประเมิน ซึ่งเป็นผลมาจากการแข่งขันด้านราคา และขาดข้อมูลการประเมินความเสี่ยงภัยชั้นวิเคราะลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ ที่ตั้ง และข้อมูลทางด้านภูมิศาสตร์

ณัฐพล และทีมงานใช้โอกาสในโครงการ Insurtech Ignite Hackathon 2018 จัดขึ้นโดยสมาคมประกันวินาศภัยที่เปิดเวทีเฟ้นหาสตาร์ทอัพหน้าใหม่ในธุรกิจประกันภัย ในการพัฒนาโปรดักท์ ที่สุดแล้วก็สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ อันดับ 1 มาได้

 “ผมทำงานเป็น Creator ร่วมกับทีมงานอีกคนที่ทำหน้าที่เป็น Developer ร่วมกันพัฒนาโดยใช้เวลาที่มีจากงาน Hackathon พัฒนาแอพพลิเคชั่นขึ้นมา”

Engineering Data Analysis Platform (EDAP) เป็นเครื่องมือที่พัฒนาขึ้น ทำหน้าที่ในการแสดงผลระดับความสูงต่ำของพื้นที่ ด้วยฐานข้อมูลดาวเทียม เพื่อนำมาวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม (Flood Risk Data Analysis Platform)

การทำงานในส่วนการวิเคราะห์พื้นที่ในด้าน การประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ลักษณะ Flood Risk Data Analysis จากหลักการการเคลื่อนที่ของน้ำโดยจะเคลื่อนที่จากที่สูงลงสู่ที่ต่ำและเกิดการท่วมขังในลักษณะพื้นที่แอ่งกระทะ และชั้นภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกันไป

“ก่อนหน้านี้เราได้มีการศึกษาข้อมูลลักษณะพื้นที่เกิดเหตุน้ำท่วมบ่อยครั้งทั่วประเทศ และจากประสบการณ์การทำงานสายตรง ด้านวิศวกรสำรวจความเสียหาย และการเป็นวิศวกรประเมินความเสี่ยงภัย ทำให้สร้างชั้นวิเคราะห์ลักษณะการประเมินพื้นที่ความเสี่ยงภัยที่มีโอกาสเสี่ยงต่อความเสียหายโดยตรงต่อทรัพย์สิน และ สิ่งปลูกสร้าง

ตั้งแต่ ลักษณะความสูงต่ำของพื้นที่ ความชัน น้ำท่วมขัง และผลกระทบในพื้นที่แตกต่างกัน และ ตามลักษณะภูมิประเทศ”

ข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์ อ้างอิงข้อมูลการวัดระดับความสูงเหนือระดับน้ำทะเลจากการภาพถ่ายดาวเทียม และ การลงพื้นที่เพื่อทำ Risk Data Analysis

“ฐานข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมบางชุด สามารถสะท้อนภาพข้อมูลพื้นที่ก่อนที่จะมีการสร้างสิ่งปลูกสร้างหรือสถานที่เอาประกัน เราจึงสามารถเห็นลักษณะพื้นที่ทางกายภาพของสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์เดิม ก่อนจะมีการสร้างสิ่งปลูกสร้าง

ทำให้วิเคราะห์ได้ว่าพื้นที่เดิมก่อนมีสิ่งปลูกสร้างนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร อย่างเช่น น้ำท่วมขัง แหล่งน้ำตามธรรมชาติเดิม พื้นที่เดิมมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะหรือไม่ หรือ มีการสร้างสิ่งปลูกสร้างกีดขวางเส้นทางน้ำตามธรรมชาติ

ทั้งหมดล้วนส่งผลต่อปัจจัยเสี่ยงการเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ในอนาคตได้ทั้งสิ้น”

ต่อจากนี้ ณัฐพล มองถึงก้าวต่อไปของธุรกิจ ทั้ง การทำตลาด การดีลกับธุรกิจประกันเพื่อให้เกิดการนำไปใช้งาน รวมถึงแผนการลงทุน

โดยมี 2 โปรดักท์ในมือ และอีกหนึ่งส่วนงานที่กำลังจะเกิดขึ้น

ธุรกิจขายสิทธิในการเข้าใช้ระบบ แผนที่ชั้นสำรวจ (Engineering Mapping Platform Data Service) 

ณัฐพล กล่าวถึงการพัฒนาเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกในการทำ Big Data ในแต่ละชั้นให้กับบริษัทประกันภัยและพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายลูกค้าคุณภาพของธุรกิจประกันวินาศภัยได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยจะแสดงผลความเสี่ยงในระดับต่างๆเพื่อเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจประกันภัยเมื่อนำฐานข้อมูลนี้ไปใช้

“เมื่อเห็นว่า โรงงานนั้นๆ ตั้งในพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมก็สามารถโค้ดราคาได้ตามความเป็นจริง

วิธีนี้ทำให้ธุรกิจประกัน สามารถมองเห็นและเข้าถึง Blue Ocean ได้ง่าย เพื่อชิงความได้เปรียบของข้อมูลในรูปแบบต่างๆและมีผลต่อโอกาสการสร้างผลกำไรจากการรับประกันในระยะยาว

ถัดมาเป็นธุรกิจการบริการสำรวจประเมินความเสี่ยงภัย  (Risk Survey Data Analysis)

การเข้าสำรวจเพื่อประเมินความเสี่ยงภัยของสถานประกอบการเชิงลึกพื้นทีจริง โดยใช้ข้อมูล Engineering Data Analysis Program on Mobile Application

“ขณะนี้เราได้พัฒนาให้ตอบโจทย์ การวิเคราะห์ความเสี่ยงในหลายมิติ เช่น ภัยความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย และภัยอื่นๆที่จะส่งผลต่อการเกิด Big Loss ในทางธุรกิจประกันวินาศภัยเป็นต้น เป็นต้น

โดยมีฟังก์ชั่นให้ลูกค้าเลือกว่าต้องการข้อมูลระดับใด 1. ชั้นสำรวจ 2.ชั้นวิเคราะห์ 3. ชั้นพยากรณ์

ในชั้นพยากรณ์นี้จะเป็นชั้นที่มีการนำหลักวิศวกรรมประเมินความเสี่ยงภัยมาใช้สูงสุดซึ่งจะสามารถคาดคะเนโอกาสเสี่ยงภัยได้ใกล้เคียงกับความเสี่ยงภัยที่แท้จริงและความเสี่ยงภัยสูงสุดพึงประเมินได้มากที่สุด ซึ่งจะสะท้อนสภาพความเป็นจริงของธุรกิจให้บริษัทได้ทราบก่อนการตัดสินใจ”

โอกาสทางธุรกิจก็คือ การรับทำรีพอร์ตด้านความเสี่ยงภัยให้กับลูกค้าประกันภัย เนื่องจากเห็นว่าแต่ละโรงงานยังขาดบุคลากรที่เชี่ยวชาญในการทำประเมินความเสี่ยง

อีกหนึ่งธุรกิจก็คือ ธุรกิจศูนย์ฝึกอบรมด้านเทคนิคประกันภัย  (Technical Insurance Data Analysis Center)

ณัฐพล บอกเน้นการเทรนนิ่งเพื่อให้ความรู้ด้านกับบุคลากรในด้านต่างๆที่จำเป็นต่อการพัฒนาและเพิ่มเทคนิคการทำงาน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการบุคคลากรและรองรับการเติบโตในทางธุรกิจประกันวินาศภัยในการนำเทคนิคการวิเคราะห์ประเมินชั้นข้อมูลตั้งแต่ระดับต้นจนถึง การนำเทคโนโลยีการสร้าง Engineering Data Plat form มาใช้ให้เกิดประโยชน์

กลุ่มเป้าหมายเป็นพนักงานประจำ ของธุรกิจประกันภัย และรวมถึงน้องๆรุ่นใหม่ที่สนใจเข้าสู่ธุรกิจนี้

นอกจากแผนขยายธุรกิจและสร้างตลาด ณัฐพล บอก ด้วยการทำงานของ Engineering Data Analysis Platform (EDAP) วางเป้าหมายแรกไว้ที่ธุรกิจประกันภัยเป็นกลุ่มแรก

ความท้าทายคือผลักดันให้เครื่องมือนี้สามารถช่วยให้ธุรกิจประกันภัยได้ตระหนักถึงความเสี่ยงที่พึงรับประกันมากกว่าการแข่งขันด้านราคาเพียงอย่างเดียว

และจะดีกว่านี้หากสามารถต่อยอดผลงานการประเมินความเสี่ยงนี้ไปสู่ธุรกิจอื่นๆ เช่น ธุรกิจเกษตรกรเพื่อช่วยยกระดับชีวิตคนไทย

รวมถึง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่สามารถนำไปใช้วิเคราะห์ความเสี่ยงของทำเล ตั้งแต่ก่อนตัดสินใจซื้อ ไปจนถึงการก่อสร้าง เป็นต้น