FITHOPPER ฟิตเนส ออน ดีมานด์

FITHOPPER  ฟิตเนส ออน ดีมานด์

ธุรกิจเติบโตได้อีกมาก จากเทรนด์รักสุขภาพที่ขยายตัวต่อเนื่อง

การปิดตัวของผู้ให้บริการฟิตเนสชื่อดังจากต่างประเทศที่เทเมมเบอร์จนถึงขั้นต้องฟ้องร้องค่าเสียหายจากการจ่ายเงินไปแล้วไม่ได้ใช้บริการ ค่าแพ็คเก็จสุดแพงที่หน้าใหม่รักสุขภาพอาจต้องควักกระเป๋าจ่ายที่ส่วนใหญ่ใช้บริการเพียงไม่กี่ครั้งก็ต้องถอดใจไปก่อน รวมถึงการเดินทางเพื่อไปใช้บริการยังเป็นข้อจำกัด

จากปัญหาดังกล่าว ภาคภูมิ ยาปัน CEO / UX & UI  และทีมที่ประกอบด้วย พีรพงษ์ เรืองอุดม CTO /App Dev, ญาณวัฒน์ ชาญเชี่ยว CTO/Web Dev และ รัฐวัฒน์ ยาสมาน COO มองว่ายังมีโอกาสอยู่อีกมากที่จะพัฒนาแพลตฟอร์ม FitHopper ได้เข้าไปให้บริการ 

FitHopper คือ Fitness on demand สิ่งที่แพลตฟอร์มนี้ทำการเข้าไปตอบโจทย์ปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมา 

"หลายๆ คนไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย คนที่จ่ายเงินค่าฟิตเนสรายปีแล้วรู้สึกว่าไม่คุ้ม หากจ่ายเป็นรายครั้งเมื่อเข้าไปใช้บริการ ส่วนใหญ่ฟิตเนสจะตั้งราคาไว้สูงมาก ทำให้รู้สึกว่าไม่คุ้มและถูกเอาเปรียบ นอกจากนี้ยังถูกจำกัดให้เล่นเฉพาะที่ใดที่หนึ่งเท่านั้น

สิ่งที่เราทำคือ การรวบรวมฟิตเนสทั้งหมดไว้บนแพลตฟอร์มเดียว โดยที่สามารถเข้าไปใช้บริการแล้วจ่ายเงินเป็นรายครั้ง" ภาคภูมิ กล่าว

บริการหลักๆ  ประกอบด้วย Fitness Management system เครื่องมือช่วยให้ผู้ประกอบการฟิตเนส หรือ ยิม บันทึกสมาชิก วันเวลา การหมดอายุของสมาชิก ที่เป็นรายเดือน คล้ายๆ กับ POS ของฟิตเนส โดยที่ลูกค้าไม่จำเป็นต้องมีบัตร หรือกุญแจ เพียงแค่โชว์มือถือที่หน้าเคาน์เตอร์ก็จะสามารถดึงข้อมูลขึ้นมา

กับอีกบริการ คือ แอพพลิเคชั่น ที่ผู้บริการทำการดาวน์โหลด

ฟีเจอร์ที่จะได้ใช้จากแพลตฟอร์มนี้ อาทิ ทันทีที่เปิดแอพจะเห็นได้เลยว่าในทำเลนั้นมีฟิตเนสไหนบ้างที่เปิดให้บริการ ซึ่งเหมาะอย่างมากกับคนที่ทำงานฟรีแลนซ์ และต้องเดินทางบ่อยๆ คนที่มีเวลาว่างค่อนข้างเยอะ ในการรอการประชุม บางคนบ้านอยู่นอกเมืองทำงานในเมืองก็จะหากิจกรรมทำช่วงรถติด  

คนกลุ่มดังกล่าว เป็นตลาดเป้าหมายที่สามารถใช้บริการได้โดยที่ไม่ต้องผูกมัดว่าต้องเล่นที่ใดที่หนึ่งเท่านั้น รวมถึงคนที่ไม่ได้เล่นประจำแต่อยากจะทดลองเล่น

“การจ่ายเงินค่าเข้าใช้บริการสามารถไปที่หน้าเคาน์เตอร์แล้วสแกนคิวอาร์โค้ด ในทุกๆ ครั้งที่ใช้บริการเงินจะตัดออกจากกระเป๋าของแต่ละคน จากนั้นยอดเงินก็จะไหลไปที่หลังบ้านของฟิตเนสนั้นๆทันที”

นอกจากลูกค้ารายย่อย ยังมีการบุกเข้าตลาด B2B สร้างโอกาสสำหรับตลาดลูกค้ากลุ่มใหญ่ โดยดีลกับ HR ของแต่ละองค์กรที่มองหากิจกรรมออกกำลังกายเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสวัสดิการพนักงาน 

“การทำตลาดองค์กรจะมีความเป็นไปได้และช่วยให้การสร้างตลาดทำได้ง่ายกว่าและทำให้ได้ยูสเซอร์จำนวนมากในครั้งเดียว

เนื่องจากที่ผ่านมา หนึ่งในปัญหาที่ HR เจอคือในการหาฟิตเนสเพื่อรองรับพนักงาน โดยเฉพาะบริษัทที่มีหลายสาขา เช่น ธนาคาร ที่จะหาฟิตเนสเพื่อเป็นสวัสดิการให้พนักงานได้ใช้บริการฟรีไม่ว่าพนักงานอยู่ตรงไหนของกรุงเทพฯ หรือแม้แต่ต่างจังหวัด ก็สามารถเข้าถึงฟิตเนสได้ 

ถึงตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการดีล" 

แผนการทำงานในสเต็ปแรกนี้ ภาคภูมิ บอก เตรียมเปิดตัวระบบบริหารจัดการฟิตเนสในอีก 1-2 สัปดาห์นับจากนี้ โดยเปิดให้ฟิตเนสแต่ละแห่งใช้ฟรี ซึ่งอยู่ระหว่างการดีล คาดว่าจะมีฟิตเนสประมาณ 50-60 แห่งทั่วกรุงเทพฯ เข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มนี้

กว่าจะถึงวันนี้ที่โปรดักท์แล้วเสร็จและเตรียมเปิดตัวในระยะอันใกล้ ภาคภูมิ บอกไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่รายใหม่จะสร้างการยอมรับ

"ใช้เวลาอย่างมากและเป็นเรืื่องยากที่ โนเนม จะเข้าไปแนะนำเสนอไอเดียต่างๆ ก็คงต้องเริ่มจากฟิตเนสที่เป็นโลคอล บ้างก็ได้รับคำตอบมาว่า ลูกค้าเยอะอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องใช้บริการนี้ แต่บางรายก็ให้ความสนใจ

สิ่งที่ไปนำเสนอและชี้ให้เห็นคือ เราจะเป็นเครื่องมือและอีกช่องทางแบรนดิ้งให้กับบรรดาฟิตเนส ให้ได้มีตัวตนบนแพลตฟอร์มดิจิทัล

ในกรณีที่ฟิตเนสแต่ละแห่งที่มีเทรนเนอร์อยู่แล้ว สามารถใช้ช่องทางนี้ทำการตลาดได้ เช่น ขายอาหารคลีน อาหารเสริมต่างๆ ขายคอร์สออกกำลังกาย รวมถึงฟิตเนสยังสามารถนำช่วงเวลาที่มีผู้ใช้บริการน้อยมาเสนอราคาดีลพิเศษเพื่อดึงคนเข้าฟิตเนสได้เช่นกัน เพื่อกระตุ้นลูกค้าที่สามารถบริหารจัดการเวลาได้ให้เข้ามาใช้บริการในราคาที่ถูกลง" 

ในสิ่งที่กำลังพัฒนาต่อ ก็คือ บันทึกการเล่นฟิตเนสของสมาชิก ภาคภูมิ ยกตัวอย่าง บันทึกการออกกำลังกาย วันนี้เล่นในส่วนหน้าท้อง ระบบจะทำการบันทึก เพื่อให้ผู้ออกกำลังกายได้เห็นถึงแผนการเล่นของตัวเอง

“เป็นการเพิ่มความฉลาดให้กับระบบมากยิ่งขึ้น เมื่อสแกนจ่ายเงินหน้าฟิตเนสจะโชว์ว่า 7 วันที่ผ่านมาเล่นอะไรไปแล้วบ้าง วันนี้ต้องเล่นอะไร เป็นเหมือนช่วยบันทึกช่วยจำ รวมไปถึงครั้งแรกของการรีจิสเตอร์ ระบบจะสอบถามถึงวัตถุประสงค์ที่ต้องการเล่น เช่น เพิ่มกล้ามเนื้อ ลดไขมัน หรือออกกำลังกายเพื่อสุขภาพทั่วไป 

ถ้าต้องการเพิ่มกล้ามเนื้อ เมื่อคลิกเข้าสู่ระบบนอกจาก location base ที่ระบบจะขึ้นข้อมูลฟิตเนสที่ให้บริการในรัศมีใกล้เคียงให้แล้ว ยังเลือกให้ด้วยว่า ฟิตเนสที่มีเครื่องออกกำลังกายประเภทเพิ่มกล้ามเนื้อจะอยู่ที่ไหนบ้าง 

เพราะจากการสอบถามกลุ่มตัวอย่างที่ผ่านมา บางคนเป็นสายลู่วิ่ง ถ้าไปบางฟิตเนสที่มีลู่วิ่งน้อยก็อาจไม่ตอบโจทย์"

มอง “โอกาส” ทางธุรกิจที่เกิดขึ้น ภาคภูมิ บอกยังเติบโตได้อีกมาก จากเทรนด์รักสุขภาพที่ขยายตัวต่อเนื่อง คนรักและใส่ใจสุขภาพ รวมถึงรูปลักษณ์ที่ดูดีมากขึ้นจากไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่รักการถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย ทำให้ได้เห็นคนรุ่นใหม่และวัยทำงานรักการออกกำลังกายมากขึ้น

"แต่ก่อนคนมีซิกแพคน้อยมาก เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็ต้องมี รวมถึงการเข้าไปใช้บริการเล่นฟิตเนสได้หลายๆ ทำให้ไม่จำเจ แถมยังช่วยให้พบปะผู้คนได้หลากหลายมากขึ้น สอดรับกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่วันนี้ที่มักจะนัดเพื่อนๆ สายสุขภาพไปเจอกันที่ฟิตเนส

จากตัวเลขวิจัยที่เคยมีการรายงานมาก่อนหน้านี้ คนที่เล่นฟิตเนสในไทยมีเพียง  0.6% ของประชากรทั้งหมด ขณะที่ค่าเฉลี่ยของคนเอเชีย อยู่ที่ 8% ทำให้เห็นว่า ตลาดในไทย ยังมีช่องว่างอีกเยอะที่จะเติบโต" ภาคภูมิ กล่าว