สปิริตสตาร์ทอัพ ‘ไผท ผดุงถิ่น’

สปิริตสตาร์ทอัพ ‘ไผท ผดุงถิ่น’

แม้เวลานี้ Builk (บิลค์) ใหญ่และมาไกลเกินกว่าสเตทสตาร์ทอัพ ทว่า “ไผท ผดุงถิ่น” ผู้ก่อตั้ง ก็ยังต้องการคงสปิริตสตาร์ทอัพเอาไว้

" ผมว่าการเป็นสตาร์ทอัพไม่ได้เกี่ยวกับขนาดหรือจำนวนคนที่มีในบริษัท แต่มันหมายถึงเวลาช่วงแรกๆ ที่เรายังไม่รู้อะไรเลย ยังมีความกล้าทดลองทำสิ่งใหม่ ๆอยู่เสมอ ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่เราเลิกกล้า กลัวผิด เริ่มสร้างคอมฟอร์ทโซน ตอนนั้นความเป็นสตาร์ทอัพมันก็จะหายไป ซึ่งในวันนี้ผมรู้สึกว่าความรู้สึกแบบนี้มันเริ่มหายไปทีละนิดๆ"


จากจุดเริ่มต้นมีคนเพียงแค่ 4 คน จากที่ต้องคิดเองทำเอง ในวันนี้ Builk มีพนักงานกว่า 90 ชีวิต ในฐานะซีอีโอ ไผทต้องถอยออกจากงานเพื่อมองภาพใหญ่ ความท้าทายและตื่นเต้นสำหรับเขาจึงกลายเป็นเรื่อง “คน”


"เพราะผมอยากคงความเป็นสตาร์ทอัพไว้ ในขณะเดียวกันเราจำเป็นต้องมองหาคนที่มีประสบการณ์มาร่วมงาน ต้องบอกว่าตอนที่บริษัทยังเล็กเป็นสตาร์ทอัพ เราก็อินโนเซนส์มาก อะไรก็ไม่รู้แต่ก็ทำหมดทุกอย่าง แต่พอโตขึ้นมาระดับหนึ่ง เราก็เห็นว่าบางอย่างมันมีองค์ความรู้อยู่แล้ว ซึ่งถ้าได้คนที่เคยผ่านการทำงานบริษัทใหญ่ ๆมาช่วย มันจะทำให้บริษัทของเราดีขึ้นเลย"


ในเวลานี้ Builk จึงเป็นบริษัทที่มีส่วนผสมระหว่างคนรุ่นใหญ่ ๆ หรือผู้ที่ผ่านชั่วโมงบินมาจากบริษัทขนาดใหญ่ระดับมหาชน กับคนรุ่นจูเนียร์ที่ยังใสซื่อ แน่นอนว่าคนทั้งสองกลุ่มมีความคิด ความเชื่อ มีแนวทางที่แตกต่างกัน


"คนรุ่นใหญ่เขามาพร้อมกับระบบ ระเบียบ วิธีคิดที่ปึ๊งปั๊งเลย แต่ก็ปรากฏว่าไม่ได้เป็นการคิดแบบสตาร์ทอัพ ส่วนรุ่นจูเนียร์นั้นยังไม่มีระบบ ไม่มีประสบการณ์แต่ก็พร้อมจะลองทำทุกอย่าง ต้องบอกว่ามันเป็นจังหวะของการเปลี่ยนผ่านของเราเหมือนกัน"


แต่เขากลับรู้สึกว่าสนุกกับภารกิจในการเบลนด์คนรุ่นใหญ่กับรุ่นเล็ก พยายามทำให้เกิดความกลมกล่อม เพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรในแบบฉบับ Builk ขึ้นมา


"ผมอยากทำให้พนักงานเป็นเหมือนผมในช่วงแรก คือต้องมีความกระหาย มีความสนุก มุ่งผลสำเร็จ แต่ก็ผิดได้ พลาดได้ ทำให้เกิดประสบการณ์ในการเรียนรู้ ผมยอมให้ลูกน้องผิดได้ และผมเองก็เป็นตัวอย่างด้วยว่าตัวผมเองก็เคยทำผิด เพื่อส่งเสริมให้เขากล้าตัดสินใจ ผมยอมรับบ่อย ๆว่าตัดสินใจอะไรผิด ให้เขาเห็นว่าแม้แต่ซีอีโอก็ผิดได้ มันเป็นเรื่องปกติ"


เป็นซีอีโอที่บริหารลูกน้องสไตล์ดูแบบห่าง ๆ แบบห่วง ๆ ไม่ลงไปล้วงลูกและไม่เข้าไปห่วงคอยดูแลใกล้ชิด แถมยังออกแนวโหดคือจะหาทาง “ถีบให้ตกน้ำ” ให้ตะเกียกตะกายว่ายขึ้นฝั่งเองด้วยซ้ำไป


"อาจเพราะตอนที่เป็นพนักงานบริษัท ผมเองก็ไม่ชอบโดนล้วงลูก เวลาคนมีของแล้วโดนตีกรอบมาก ๆคงไม่รู้สึกโอเค เราไม่อยากทำแบบนั้น เราไม่อยากได้อะไรแบบนั้น เราก็ต้องไม่ทำแบบนั้น คือความเชื่อของผม"


เขาบอกว่าพนักงานของ Builk มีจิตวิญญานของผู้ประกอบการที่ค่อนข้างสูง ความเป็นจริงก็คือ มีหลายคนที่รู้ตัวอยู่แล้วว่าต้องการมาทำงานหาประสบการณ์ 3ปี 5 ปี ก่อนที่จะไปรับช่วงต่อกิจการที่บ้าน หรือออกไปสร้างอาณาจักร ของตัวเอง


"ผมเลิกคิดเรื่องที่พนักงานจะต้องอยู่กับเราไปตลอดชีวิต มันคงไม่มีแล้ว ที่ผมทำก็คล้ายกับโค้ชและเมนเทอร์ของสตาร์ทอัพ คือไม่ไปสั่งให้ต้องทำอย่างนั้นสิ ต้องทำอย่างนี้สิ เพราะถ้าทำแบบนั้นคนก็คงไม่โตเสียที แต่ Builk จะเป็นโรงเรียนที่สอนผู้ประกอบการที่เก่งขึ้นแน่ ๆ"


กลับมาที่เรื่องสปิริตสตาร์ทอัพ ซึ่งอาจมอดหายไปกับกาลเวลา ทำอย่างไรจะปลุกพลังมันให้กลับมาได้ใหม่ เขายกตัวอย่าง อีเวนท์ใหญ่ประจำปีที่เพิ่งผ่านไปหมาด ๆของ Builkก็คือ “รักเหมา Fest” ซึ่งจัดในธีม Festival ที่มีความแตกต่างไปจากทุกปีที่ผ่านมาที่เป็นเสวนาและน่าเบื่อ


“การจัดงานนี้ก็มาจากกูบ้า ก็จัดมันขึ้นมาเลย เอาเงินไปจองที่แล้วจัดเลย เพราะอยากคงสปิริตสตาร์ทอัพเอาไว้ ”


อีเวนท์สำหรับ Builk มีจุดมุ่งหมายอย่างไร เขาบอกว่า สตาร์ทอัพทุกรายย่อมต้องการฟีดแบ็ค เพราะอยากรู้ว่าโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นมามีคนเข้ามาใช้แบบไหน มีคนไม่ใช้แบบไหน และในเมื่อป่าวประกาศออกไปว่า Builk เป็นคอมมูนิตี้ ก็ต้องเช็คฟีดแบ็คว่ามันเป็นอย่างนั้นจริง ๆหรือเปล่า


"คุณบอกว่าคุณเป็นแพลตฟอร์มให้คนมาใช้เยอะแยะ ก็ต้องมีการจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์อย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อปี ขณะที่ 364 วันคนในชุมชน Builk ก็ได้เจอกันทางดิจิทัลอยู่แล้ว แต่ก่อนเราจะถามกันทางออนไลน์ แต่มันก็ไม่เหมือนให้เขามาบอกเอง การได้มาเจอกันปีละครั้งมันได้อะไรอื่น ๆที่มากกว่า ส่วนการตลาดเป็นผลพลอยได้ อีเวนท์ทำให้เกิดแบรนด์อะแวร์เนส แต่ช่วงแรก ๆเราเป็นบีทูบีก็ไม่ต้องการให้ใครมารู้จักเยอะ แต่ครั้งนี้จัดเป็นแมสมากขึ้น เพราะในงานจะมีผู้รับเหมาที่เป็นบีทูซี"


อีเวนท์สำหรับ Builk นั้นมีอยู่หลายหน้าที่ ต้องบอกว่าที่ Builk แจ้งเกิดและเติบใหญ่มาได้ถึงขนาดนี้ เพราะมีการจัดอีเวนท์ในทุก ๆสัปดาห์ แต่เป็นกิจกรรมย่อย ๆ เป็นการเดินทางไปโรดโชว์ตามจังหวัดต่าง ๆทั่วประเทศไทย เพื่อจัดอบรมความรู้ในการใช้โปรแกรมให้ผู้รับเหมาครั้งละ 30- 40 ราย


"อาทิตย์นี้เราไปบุรีรัมย์ อาทิตย์หน้าเราไปอุบลฯ ผมจะมีน้อง ๆเป็นทีมกระจายไปอบรมทั่วประเทศ ตอนนี้เราก็ไปจัดที่พม่าทุกอาทิตย์ ไปสอนผู้รับเหมาที่เขายังโลว์เทคได้หัดใช้โปรแกรมบริหารจัดการที่ทันสมัยเพื่อจะได้มาเข้าอยู่ในลิสต์ของเรา"


ปัจจุบันมีผู้รับเหมาที่อยู่บนแพลตฟอร์มและผ่านการอบรมการใช้โปรแกรมของ Builk ทั้งหมด 2 .2 หมื่นบริษัท (ทั่วประเทศ ) ในจำนวนนี้มีอยู่ 1 พันบริษัทถูกจัดอยู่ในระดับเกรดเอและที่เก่งเป็นเกรดโปรซึ่งเป็นระดับสูงสุดมีอยู่ 500 ราย (แบ่งเกรดตามความสามารถในการใช้โปรแกรม ไม่ใช่ฝีมือสร้างบ้าน เพราะการบริหารจัดการต้นทุนที่ดีมีความสำคัญต่อผู้รับเหมา ที่สุดจะนำไปสู่ผลงานที่มีคุณภาพ)


“ผมว่าเวลานี้เราก็เหมือนสมาคมรับเหมาก่อสร้างบ้านเวอร์ชั่นดิจิทัล โลกทุกวันนี้ความสัมพันธ์มันอยู่บนออนไลน์ และเราก็ได้ประโยชน์ร่วมกันบนนี้”


ขึ้นชื่อว่าเป็นรุ่นใหญ่ เป็นต้นแบบของสตาร์ทอัพรุ่นน้อง แต่ผไทเองก็บอกว่าที่ผ่านมามีพลาดเคยตีบตัน ซึ่งก็ต้องอาศัยการพินิจพิเคราะห์ว่ามีอะไรที่อาจมองข้ามไป


"ก็ต้องเบิกเนตรกันอีกรอบ หาอะไรทะลวงใหม่ บางทีก็เป็นเรื่องของบิสิเนสโมเดล ทำไปแล้วธุรกิจไม่ยอมโต แต่พอเอาแบงก์มาเสียบทำบิสิเนสโมเดลใหม่ ทำอีคอมเมิร์ซมันก็กระโดดขึ้นมา พออีคอมเมิร์ซชักเริ่มจะตันอีกแล้ว ก็ต้องคิดว่าจะทำอะไรต่อ ก็ทำเจ๊จูต่อก็ปังขึ้นมาอีก"  


อีกเคล็ดลับหนึ่งก็คือ การไปครูพักลักจำ หยิบยืมไอเดียจากอุตสาหกรรมอื่น ๆเอามาปรับใช้


"เพราะอุตสาหกรรมที่ผมทำค่อนข้างโบราณ แต่พอเอาสิ่งที่คนอื่นทำมาใส่ของเราแค่นิดเดียวมันก็ดีขึ้น ช่วยทำให้เกิดความแปลกใหม่ได้"


เขาเปรียบเทียบว่าถ้ามีบันไดทั้งหมด 10 ขั้น Builk ผ่านบันไดขั้นสำคัญ ๆก็คือขั้นแรกและขั้นที่สองที่ว่าด้วยการนำพาวงการก่อสร้างก้าวสู่โลกดิจิทัลมาแล้ว เวลานี้ก้าวมาถึงบันไดขึ้นที่สาม


"ตัวเลขทั้งอุตสาหกรรมคือ 1 ล้านล้านบาท ตอนนี้ผมเพิ่งมาได้แค่ 3% ในปีที่ผ่านพี่ ๆน้อง ๆผู้รับเหมาของเราใช้โปรแกรม Builk คุมงานก่อสร้างอยู่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท แต่เป็นการรับงานเล็ก ๆหลัก 5 ล้าน 10 ล้าน 100 ล้านขณะที่รายใหญ่ ๆเขาทำกันระดับแสนล้าน ซึ่งผมอยากจะเห็นตัวเลขโตถึง 10% ในอีก 2 ปีข้างหน้า "


นี่คือเป้าหมายของบันไดขั้นต่อไป รวมถึงการทำให้อีคอมเมิรซ์เติบโตมากกว่าที่เป็นอยู่ ปัจจุบันมียอดขายราว 300 ล้านบาท ซึ่งถือว่ายังเป็นเศษเสี้ยวที่เล็กมากของตลาด


“คนส่วนใหญ่ยังไม่ซื้อเหล็ก ซื้อปูนทางออนไลน์ ก็มีความท้าทายอยู่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดซื้ออย่างไร และการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่นบล็อกเชนมาใช้เพื่อทำให้มันดีขึ้น ส่วนบันไดขั้นที่ห้าและหกเป็นการเข้าตลาดหลักทรัพย์ และการเป็นพื้นฐานของอุตสาหกรรมให้ได้มากกว่านี้”