กรมทรัพยากรน้ำ เตือน! 23 จังหวัด เสี่ยงภัยแล้ง

กรมทรัพยากรน้ำ เตือน! 23 จังหวัด เสี่ยงภัยแล้ง

กรมทรัพยากรน้ำเตือน! 23 จังหวัด 74 อำเภอ เสี่ยงภัยแล้ง ยกเว้นอ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ เสี่ยงสูงสุด

เมื่อวันที่ 13 มี.ค.61 นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่าประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนช่วงปลายเดือนก.พ. และจะสิ้นสุดกลางเดือนพ.ค. กรมทรัพยากรน้ำได้ประเมินความต้องการใช้น้ำของประชาชนในพื้นที่นอกเขตชลประทานระหว่าง คาดว่ามีความต้องการใช้น้ำประมาณ 3,994 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ในขณะที่ปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่นอกเขตชลประทานมีอยู่ประมาณ 3,681 ล้านลบ.ม. เท่ากับว่ายังขาดน้ำอยู่ประมาณ 300 ล้านลบ.ม. ขณะเดียวกัน กรมทรัพยากรน้ำร่วมกับกรมชลประทานประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งระดับอำเภอทั้งในพื้นที่นอกเขตชลประทานและพื้นที่ในเขตชลประทาน พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งใน 23 จังหวัด 74 อำเภอ โดยส่วนมากมีความเสี่ยงในระดับปานกลาง ยกเว้นอำเภอเดียวที่มีความเสี่ยงสูง คือ อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์

นายวรศาสน์ กล่าวต่อว่าเพื่อเร่งรัดการพัฒนาก่อสร้างระบบกระจายน้ำรวมทั้งสิ้น 3,482 แห่ง ให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี (พ.ศ.2561-2563) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้ดำเนินการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย โดยกระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบโครงการที่มีขนาดความจุต่ำกว่า 2 ล้าน ลบ.ม. จำนวน 3,013 แห่ง และในส่วนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ จะรับผิดชอบในโครงการที่มีขนาดความจุที่เกินกว่า 2 ล้าน ลบ.ม. จำนวน 468 แห่ง ทั้งนี้ โครงการพัฒนาระบบกระจายน้ำดังกล่าว จำนวน 3,482 แห่ง จะเป็นแหล่งน้ำที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้และครอบคลุมการใช้ทั้ง 3 ฤดูกาล

อธิบดีกรมฯน้ำ กล่าวว่า ทั้งนี้เพื่อให้เป็นการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน กรมทรัพยากรน้ำได้จัดเตรียมอุปกรณ์ เครื่องจักร และเครื่องมือต่างๆ ประจำในพื้นที่พร้อมช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ ประกอบด้วย รถยนต์บรรทุกน้ำ 106 คัน เครื่องสูบน้ำ 304 เครื่อง รถแจกจ่ายน้ำ 22 คัน ตู้ผลิตน้ำดื่ม 6 เครื่อง และเครื่องผลิตน้ำประปา 6 เครื่อง นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อให้มีน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยระหว่างปี พ.ศ. 2557 – 2560 มีแหล่งน้ำที่ใช้ในการบรรเทาปัญหาภัยแล้ง 3,658 โครงการ ซึ่งสามารถจัดหาน้ำเพิ่มเติมได้ 1,003 ล้านลบ.ม. ประชาชนได้รับประโยชน์ 2.69 ล้านครัวเรือน และสนับสนุนพื้นที่การเกษตรได้ 652,373 ไร่ นอกจากนี้ กรมทรัพยากรน้ำได้บูรณาการข้อมูลกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และได้เตรียมความพร้อมของจุดจ่ายน้ำบาดาลถาวร 89 แห่ง ทั่วประเทศ อยู่นอกเขตชลประทาน 52 แห่ง และอยู่ในเขตชลประทาน 37 แห่ง โดยประชาชนติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ทางสายด่วน Green Call 1310 กด 5 และสามารถติดตามสถานการณ์น้ำได้ตลอด 24 ชั่วโมงทาง www.dwr.go.th

สำหรับพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง 23 จังหวัด 74 อำเภอ แบ่งเป็น พื้นที่ภาคเหนือ 23 อำเภอ 8 จังหวัด ได้แก่ อ.คลองขลุง, คลองลาน, ไทรงาม, ปางศิลา, ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร อ.เทิง จ.เชียงราย อ.พบพระ จ.ตาก อ.ท่าตะโก, ชุมตาบง, ตากฟ้า, ไพสาลี, แม่เปิน, แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ อ.จุน จ.พะเยา อ.บึงนาราง, โพทะเล, โพธิ์ประทับช้าง, วชิรบารมี, สามง่าม จ.พิจิตร อ.วังทอง จ.พิษณุโลก อ.คีรีมาศ, ทุ่งเสลี่ยม, ศรีสำโรง จ.สุโขทัย

ภาคกลาง 14 อำเภอ 4 จังหวัด ได้แก่ อ.โคกเจริญ, โคกสำโรง, ท่าหลวง, พัฒนานิคม, เมืองลพบุรี, ลำสนธิ, หนองม่วง จ.ลพบุรี อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี อ.บ้านไร่, ลานสัก, สว่างอารมณ์, หนองขาหย่าง, ห้วยคต จ.อุทัยธานี

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 28 อำเภอ 9 จังหวัด ได้แก่ อ.กระนวน, ภูผาม่าน, สีชมพู, หนองเรือ จ.ขอนแก่น อ.แก้งคร้อ, บ้านแท่น, เทพสถิต, หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม อ.ครบุรี, ด่านขุนทด, โนนไทย, ปากช่อง, สีคิ้ว, เสิงสาง, ห้วยแถลง, หนองบุญมาก จ.นครราชสีมา อ.ลำปลายมาศ, หนองกี, หนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ อ.หนองหิน, เอราวัณ, ผาขาว จ.เลย อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย อ.ศรีบุญเรือง, นากลาง จ.หนองบัวลำภู อ.วังสามหมอ, บ้านผือ จ.อุดรธานี

ภาคตะวันตก 4 อำเภอ 1 จังหวัด ได้แก่ อ.บ่อพลอย, เลาขวัญ, หนองปรือ, เมืองกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี
ภาคตะวันออก 5 อำเภอ 1 จังหวัด ได้แก่ อ.เขาฉกรรจ์, คลองหาด, วังสมบูรณ์, วัฒนานคร, อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว