โพลชี้เยาวชนไทย 1 ใน 3 ขาดทักษะแห่งอนาคต

โพลชี้เยาวชนไทย 1 ใน 3 ขาดทักษะแห่งอนาคต

โพลชี้เยาวชนไทย 1 ใน 3 ขาดทักษะแห่งอนาคต ยูนิเซฟแนะปรับหลักสูตรการศึกษาไทย

นายคงเดช กี่สุขพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายสารนิเทศ (ดิจิทัล) องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า โพลล่าสุดจากโครงการยูรีพอร์ตประเทศไทย (U-Report Thailand) ซึ่งเป็นเครื่องมือสื่อสารเชิงสังคมเพื่อสำรวจความคิดเห็นและรับฟังเสียงจากวัยรุ่นและเยาวชน อายุระหว่าง 13-24 ปี ริเริ่มโดยองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือยูนิเซฟ ได้สำรวจเยาวชนไทยจำนวนกว่า 3,300 คน พบว่า มีเยาวชนไทยเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่เคยได้ยินหรือรู้จักทักษะแห่งอนาคต ที่ประกอบด้วย ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษและภาษาต่างชาติอื่นๆ ทักษะสารสนเทศและเทคโนโลยีต่าง ๆ ทักษะการใช้ชีวิตและการทำงาน และทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม และมีน้อยกว่าครึ่งที่เห็นว่าการศึกษาที่ได้รับอยู่ในปัจจุบันจะช่วยให้พวกเขาได้ทำงานในตำแหน่งที่ใฝ่ฝัน นอกจากนี้ เยาวชนไทยส่วนใหญ่ยังลงความเห็นว่าการเตรียมความพร้อมทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ควรเริ่มตั้งแต่ปฐมวัย เพื่อให้เด็กเติบโตขึ้นพร้อมกับทักษะสำคัญทั้ง 4 ด้าน


ผลจากโพลยูรีพอร์ตดังกล่าว สอดคล้องต่อความต้องการของยูนิเซฟและองค์กรพันธมิตร ที่มุ่งผลักดันศักยภาพของเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศในฐานะ นักสร้างความเปลี่ยนแปลง หรือchangemakers โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ยูนิเซฟจึงได้ผนึกกำลังกับองค์การไอเซค ประเทศไทย และมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา ในการจัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการทักษะแห่งอนาคต “Building 21st Century Changemakers: สร้างสรรค์ผู้นำด้านความเปลี่ยนแปลงยุคศตวรรษที่ 21” เพื่อส่งเสริมและพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 แก่เยาวชนกว่า 100 คนจากโครงการยูรีพอร์ต ภายในงานได้มีการจัดกิจกรรมอบรมนำโดยวิทยากรผู้มีประสบการณ์จากองค์กรภาคเอกชนและธุรกิจเพื่อสังคมที่มีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของภาคเอกชนและการพัฒนาประเทศ


“ปัจจุบันมีประชากรวัยรุ่นและเยาวชนกว่า 2 พันล้านคนทั่วโลก ยูนิเซฟจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญในพลังของเยาวชนที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกแก่สังคม ซึ่งเยาวชนบางคนอาจจะมีความคิดดีๆ แต่ยังไม่มีทักษะในการลงมือทำ จึงจัดเวทีครั้งนี้ขึ้นเพื่อเสริมทักษะแห่งศตวรรษที่ 21และให้ทิศทางแก่น้องๆ ในการเป็นนักสร้างความเปลี่ยนแปลง ได้อย่างแท้จริง” นายคงเดช กล่าว


ทั้งนี้ ระหว่างเวิร์คช็อป เยาวชนผู้เข้าร่วมยังได้มีโอกาสจัดทำข้อเสนอในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้และหลักสูตรที่สามารถบูรณาการทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งเด็กและเยาวชนเห็นว่าหลักสูตรปัจจุบันควรให้เด็กและเยาวชนเป็นศูนย์กลาง พร้อมทั้งนำการสร้างสื่อสร้างสรรค์ และวิเคราะห์สื่อปัจจุบัน เช่น สื่อวิดิโอคลิป สื่อโซเชียล มาสอนให้มากขึ้น นอกจากนี้ กิจกรรมนอกการเรียนควรได้รับการพิจารณาด้านหน่วยกิตให้เหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละพื้นที่ นอกเหนือจากการวัดผลผ่านรายวิชาแบบดั้งเดิม ซึ่งองค์การยูนิเซฟและพันธมิตร มีความตั้งใจที่จะนำผลการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ไปยื่นเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป


สำหรับเยาวชนและผู้ที่สนใจอยากร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน สามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกยูรีพอร์ตและติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ http://thailand.ureport.in หรือ Facebook: @UReportThailand