KNACKSAT ดาวเทียมฝีมือ มจพ.พร้อมทะยานสู่อวกาศในปี 61

KNACKSAT ดาวเทียมฝีมือ มจพ.พร้อมทะยานสู่อวกาศในปี 61

ดาวเทียมเพื่อการศึกษาดวงแรกของประเทศไทยในชื่อ KNACKSAT มั่นใจที่จะทะยานสู่อวกาศภายในปี 2561 ผลงานคณะวิจัย มจพ.รับทุนสนับสนุนกว่า 9 ล้านบาทจาก กสทช. จะถูกจัดส่งเข้าสู่วงโคจรที่ความสูง 600 กิโลเมตร รับข้อมูลคำสั่งการถ่ายภาพจากระยะไกลและส่งกลับข้อมูล

ดาวเทียมเพื่อการศึกษาดวงแรกของประเทศไทยในชื่อ KNACKSAT มั่นใจที่จะทะยานสู่อวกาศภายในปี 2561 ผลงานคณะวิจัย มจพ.รับทุนสนับสนุนกว่า 9 ล้านบาทจาก กสทช. จะถูกจัดส่งเข้าสู่วงโคจรที่ความสูง 600 กิโลเมตร เพื่อรับข้อมูลคำสั่งการถ่ายภาพจากระยะไกลและส่งข้อมูลภาพถ่ายกลับ


ศ.สุวัฒน์ กุลธนปรีดา หัวหน้าโครงการออกแบบและจัดส่งดาวเทียมขนาดเล็กเพื่อการศึกษา (KNACKSAT) ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เปิดเผยว่า การจัดตั้งโครงการออกแบบและสร้างดาวเทียมต้นแบบวิศวกรรมขนาด CubeSat ดำเนินการตั้งแต่ปี 2555 ต่อมาได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ วงเงิน 9,059,690 บาท สำหรับการออกแบบสร้างและส่งดาวเทียมจริงรูปแบบ CubeSat เข้าสู่วงโคจรภายในปี 2561 อย่างแน่นอน ขณะนี้โครงการได้ดำเนินการออกแบบดาวเทียมต้นแบบทางวิศวกรรม (Engineering Model) เสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการดำเนินการทดสอบฟังก์ชันการทำงานของระบบรวมเบื้องต้น และคาดว่าจะไปทดสอบการทำงานภายใต้สภาวะเสมือนอวกาศที่ประเทศญี่ปุ่นในช่วงต้นปีหน้า ซึ่งขณะนี้โครงการมีสมบูรณ์ 100% พร้อมปล่อยสู่อวกาศ

“โครงการออกแบบและจัดส่งดาวเทียมขนาดเล็กเพื่อการศึกษา KNACKSAT” เกิดจากทีมวิจัย ประกอบด้วย บุคลากรจากภาควิชาวิศวกรรมฯ ศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมอวกาศและทะเล และบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน ได้ริเริ่มออกแบบพัฒนาและสร้างดาวเทียม KNACKSAT (ขนาดไม่เกิน 1 กิโลกรัม) เป็นดาวเทียม CubeSAT ดวงแรกของประเทศไทยที่พัฒนาและสร้างขึ้นโดยบุคลากรภายในรั้วมหาวิทยาลัย และจะถูกจัดส่งเข้าสู่วงโคจรที่ความสูง 600 กิโลเมตร เพื่อรับข้อมูลคำสั่งการถ่ายภาพจากระยะไกลและส่งข้อมูลภาพถ่ายกลับ ซึ่งถือได้ว่าเป็นมิติใหม่ของการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและนำไปปฏิบัติจริงได้

วัตถุประสงค์ของงานวิจัย (1) เพื่อออกแบบและสร้างดาวเทียมขนาดเล็ก CubeSat โดยทุกกระบวนการตั้งแต่แนวคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับการออกแบบ (Conceptual design) จนถึงการจัดสร้างดาวเทียมเพื่อจัดส่งเข้าสู่วงโคจรทำขึ้นเองทั้งหมดภายในประเทศไทย  (2) การสร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านอวกาศ รวมทั้งการประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ และนำองค์ความรู้ไปพัฒนาดาวเทียมที่มีศักยภาพที่สูงขึ้นและสามารถปฏิบัติภารกิจเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ทั้งหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชนจนถึงระดับผู้บริโภคในอนาคต (3) การสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเข้าถึงเทคโนโลยีในกิจการด้านอวกาศ (4) การสร้างนักศึกษา บุคลากรและนักวิจัยในกิจการด้านอวกาศ และ (5) เพื่อเผยแพร่ความรู้และเทคโนโลยีทางด้านอวกาศให้กับหน่วยงาน อุตสาหกรรมและเยาวชนไทย 

ลักษณะเด่นของดาวเทียมขนาดเล็กเพื่อการศึกษา KNACKSAT เป็นดาวเทียมขนาด CubeSAT ขนาดไม่เกิน 10 x 10 x 10 เซนติเมตร และมีน้ำหนักไม่เกิน 1 กิโลกรัม ที่เกิดจากการรวมกันของบุคลากรภายในรั้วมหาวิทยาลัยที่มีความสนใจที่จะออกแบบพัฒนาและสร้างระบบย่อยต่างๆ ของดาวเทียม และยังใช้อุปกรณ์หรือวัสดุที่หาซื้อได้ตามท้องตลาด  ดังนั้น กล่าวได้ว่า ดาวเทียม KNACKSAT เป็นดาวเทียมสัญชาติไทยดวงแรกที่ถูกสร้างและพัฒนาโดยฝีมือคนไทย 100% และเมื่อสร้างเสร็จแล้วจะถูกจัดส่งเข้าสู่วงโคจรในอวกาศ เพื่อปฏิบัติภารกิจในอวกาศได้จริง ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพของประเทศไทยทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ

ดร. พงศธร  สายสุจริต ผู้จัดการโครงการ และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ  ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างดาวเทียม กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการออกแบบ CubeSat มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ  ได้ใช้ชื่อดาวเทียมภายใต้ชื่อว่า KNACKSAT (KmutNb Academic Challenge of Knowledge SATellite) การพัฒนาดาวเทียม CubeSat ทำให้เกิดงานวิจัยและพัฒนาภารกิจทางด้านอวกาศรวมถึงการทดลองในอวกาศที่เป็นไปได้ภายใต้งบประมาณค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงมากและสามารถกระทำภายในระดับมหาวิทยาลัย เนื่องจากส่วนประกอบของดาวเทียมดังกล่าวใช้อุปกรณ์หรือวัสดุที่หาซื้อได้ตามท้องตลาด  ไม่ใช้อุปกรณ์พิเศษที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในกิจการอวกาศโดยเฉพาะซึ่งมีราคาสูงมาก และใช้เวลาในการสร้างเพียง 1-2 ปี นอกจากนี้การจัดส่งดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรเป็นแบบ Piggyback หรือการฝากส่งร่วมกับดาวเทียมดวงอื่นหลายดวงในเวลาเดียวกันในวงโคจรแบบต่ำ (Low Earth Orbit, LEO) และใช้คลื่นความถี่วิทยุสมัครเล่นในการสื่อสาร จึงทำให้ค่าจัดส่งดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรมีราคาไม่สูงมากนัก ทั้งนี้ ติดตามความคืบหน้าของโครงการได้ที่ www.facebook.com/knacksat