แอลพีเอ็นย้ำ‘ชุมชนน่าอยู่’ผุด‘คาร์พูล’บายลิลูน่า

แอลพีเอ็นย้ำ‘ชุมชนน่าอยู่’ผุด‘คาร์พูล’บายลิลูน่า

ภายใต้วัฒนธรรมการอยู่อาศัยของสมาชิกชุมชน“ลุมพินี”ให้ความสำคัญต่อคุณค่างานบริการ (Service Value) ตลอดระยะเวลา 29 ปี เพื่อตอกย้ำการสร้าง“ชุมชนน่าอยู่”ในที่พักอาศัยของกลุ่มแอลพีเอ็น

โอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN  ผู้พัฒนาอาคารชุดพักอาศัยแบรนด์ “ลุมพินี” กล่าวว่าการพัฒนาที่อยู่อาศัยของแอลพีเอ็น ที่มุ่งสร้าง“ชุมชนน่าอยู่”สำหรับทุกวัย ประกอบไปด้วย  3 แกนหลัก คือ “ร่วมใจ ห่วงใย แบ่งปัน” เพื่อทำให้การพักอาศัยใน“บ้านหลังใหญ่” อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อมและสังคมที่ดี รวมทั้งจิตสำนึกของการอยู่ร่วมกัน ดูแลห่วงใยและแบ่งปัน

ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับการใช้ชีวิตปัจจุบัน แนวทางการพัฒนาบริการต้องตอบโจทย์ความต้องการและแม่นยำยิ่งขึ้น  

แนวคิดการสร้างชุมชนน่าอยู่ของแอลพีเอ็น  มองเรื่อง carpool  มานาน จากรูปแบบการใช้รถยนต์จำนวนมากในกรุงเทพฯ  เฉลี่ย 1 คัน ใช้งาน 1-2 คน  ปัจจุบันด้วยพัฒนาเทคโนโลยีและการให้เซอร์วิสผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ มีความสะดวกและแม่นยำมากขึ้น  ในปีที่ผ่านมาได้พบกับ สตาร์ทอัพ ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น LILUNA  (ลิลูน่า) ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับ“คาร์พูล” ที่ตรงกับแนวคิด “แบ่งปัน”ของแอลพีเอ็น จึงร่วมกันทำงานเพื่อพัฒนาเซอร์วิส “คาร์พูล” ให้กับผู้พักอาศัยคอนโดมิเนียมลุมพินี

ปั้นแอพ‘แอลพีเอ็นแชร์’

โอภาส กล่าวว่าผู้พัฒนาแอพ"ลิลูน่า" เริ่มจากแอพสำหรับแชร์ค่าเดินทางของผู้ใช้รถยนต์และผู้ร่วมทางที่ต้องการโดยสารไปด้วยการในรูปแบบคาร์พูล  ขณะนี้บริษัทได้ร่วมทำงานกับลิลูน่า ด้วยการพัฒนาบริการคาร์พูลให้กับผู้พักอาศัยของแอลพีเอ็น ภายใต้แอพ LPN Share by Liluna ​ โดยมีแอพ LPN Share เป็นแกนหลัก และมีเซอร์วิสอื่นๆ ที่ตอบสนองการใช้ชีวิตที่สะดวกเข้ามาเชื่อมต่อ เริ่มด้วยคาร์พูล ของ ลิลูน่า  

ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการทดลองที่โครงการ ลุมพินี เพลส พระราม9-รัชดา หลังจากทดลอง จะเปิดให้ผู้อยู่อาศัยในโครงการดังกล่าวใช้งานราวเดือน เม.ย. จากนั้นจะ เปิดให้ลูกบ้านแอลพีเอ็นทุกโครงการ ที่ปัจจุบันมีจำนวน 2.5 แสนราย ใช้งานในเดือน พ.ค.นี้ 

เซอร์วิสดังกล่าวถือเป็น ส่วนหนึ่งของ “พร็อพเทค” ที่นำเทคโนโลยีมาให้บริการกับผู้อยู่อาศัย เพื่อตอบโจทย์การให้บริการที่ดีกับลูกบ้าน ตามแนวคิด “ชุมชนน่าอยู่” ของแอลพีเอ็น แนวทางการทำงานด้านพร็อพเทค จะมุ่งพัฒนาร่วมกับสตาร์ทอัพ ด้านต่างๆ  เพราะการทำธุรกิจในยุคนี้ มุ่งไปที่การ Shared Value เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับผู้บริโภค

“ยุคนี้ไม่สามารถทำได้เองทั้งหมด เพราะแต่ละคนถนัดแต่ละเรื่อง ไม่สามารถถนัดได้ทุกเรื่อง”

แอพ LPN Share by Liluna พัฒนาแยกจากแอพลิลูน่า สำหรับผู้อยู่อาศัยแอลพีเอ็น ที่ต้องลงทะเบียนแสดงตัวตนทั้งเจ้าของรถและผู้ร่วมทาง เพื่อสร้างความมั่นใจในการใช้งาน  ถือเป็นบริการด้านซีอาร์เอ็มของโครงการ ขณะเดียวกันยังตอบโจทย์ ซีเอสอาร์ จากการใช้รถยนต์ลดลง ที่จะช่วยลดการใช้พลังงาน ลดปัญหาจราจร ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคม และตอกย้ำการสร้างชุมชนน่าอยู่

“การที่คนมีน้ำใจต่อกันในสังคมแอลพีเอ็น จะทำให้ ชุมชนที่น่าอยู่อยู่แล้ว ยิ่งน่าอยู่ยิ่งขึ้น”

ปั้นคาร์พูลรับ‘แชริ่ง’บูม

นัฐพงษ์ จารวิจิต ผู้พัฒนาแอพ LILUNA กล่าวว่า ลิลูน่า คือระบบคาร์พูล ที่มีจุดเริ่มต้นจากการใช้รถยนต์ในทุกวันนี้ จะมีที่นั่งเหลือ ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ โดยเป็นเซอร์วิสที่ให้บริการในหลายประเทศ รวมทั้งในเยอรมนี ที่ตนเองศึกษาและใช้ชีวิตทำงานด้านโปรแกรมเมอร์มากว่า 10 ปี  และใช้บริการดังกล่าวเป็นปกติ

ช่วง 3 ปีก่อนที่กลับมาใช้ชีวิตในไทย ต้องการทำสตาร์ทอัพ และเห็น pain point เรื่องการเดินทางในไทยที่ยังไม่มีระบบคาร์พูล จึงเริ่มต้นพัฒนาแอพลิลูน่าขึ้น เพราะเห็นว่าประเทศไทยเปิดรับบริการด้าน “แชริ่ง อีโคโนมี” มากขึ้น เห็นได้จากการเติบโตของบริการ แกร็บ อูเบอร์ แอร์บีแอนด์บี จึงมองว่าเป็นช่วงที่เหมาะสมในการพัฒนาเซอร์วิส “คาร์พูล” ในไทย

แอพลิลูน่า เปิดให้บริการในเดือน ก.พ.2560 เกือบครบ 1 ปี ปัจจุบันมียอดดาวน์โหลด 1.1 แสนดาวน์โหลด โดยผู้ใช้งานจะต้องลงทะเบียนแสดงตัวตน คือ ผู้ขับ(เจ้าของรถยนต์) แสดงใบขับขี่และป้ายภาษีรถยนต์ ส่วนผู้ร่วมทาง(ผู้ใช้บริการ) ต้องลงทะเบียนโดยใช้โทรศัพท์มือถือ จากนั้นระบบจะส่งรหัส otp ลงทะเบียนไปที่มือถือ เพื่อยืนยันตัวตนจริง  รวมทั้งยังมีฟังก์ชั่นแจ้งฉุกเฉินไปยังสถานีตำรวจใกล้พื้นที่ที่ผู้ใช้งานใช้บริการ 

ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียน 3.5 หมื่นคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ขับ 3,900 คน การใช้บริการ คือ คนขับ จะเป็นผู้สร้างเส้นทางในแอพ และกำหนดราคาค่าเดินทาง ส่วนผู้ร่วมทาง จะมาเลือกเส้นทางที่จะไป    

ในกรุงเทพฯ มีรถยนต์ส่วนบุคคลจดทะเบียน 7 ล้านคัน มองว่าหาก 1 ล้านคัน หันมาใช้แอพลิลูน่า จะมีคนสร้างเส้นทาง วันละ 1 ล้านเส้นทาง เฉลี่ยนั่ง 2 คน จะทำให้เกิดการเดินทางหรือระบบขนส่ง 1 ล้านคน โดยที่รัฐไม่ต้องลงทุนเพิ่ม เพราะเป็นการนำสิ่งที่ใช้อยู่แล้ว มาใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น

ปีนี้หวัง1ล้านดาวน์โหลด

หลังจากแอพลูลิน่า เปิดให้บริการ 1 ปี ปัจจุบันได้พัฒนาบริการคาร์พูลร่วมกับธุรกิจต่างๆ เริ่มจากกลุ่มที่อยู่อาศัย “แอลพีเอ็น” ที่กำลังทดลองระบบที่ลุมพินี เพลส พระราม9-รัชดา  ซึ่งจากการสำรวจผู้พักอาศัยพบว่าทุก 10 นาที จะมีคนเรียกแท็กซี่ ไปสถานที่ต่างๆ  อีกทั้งบางคนเรียกแท็กซี่ เพื่อไปสถานที่เดียวกัน และเรียกไปในเส้นทางขับผ่าน ดังนั้นหากใช้ระบบคาร์พูล จะช่วยสามารถเดินทางร่วมกันในคันเดียว ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและลดการใช้พลังงาน 

สำหรับแอพลิลูน่า บาย แอลพีเอ็น จะเปิดใช้เฉพาะผู้อยู่อาศัยในโครงการของแอลพีเอ็น ทั้งผู้ขับรถยนต์และผู้ร่วมทาง นอกจากนี้ในแอพยังมีฟังก์ชั่น  LPN Board  สำหรับที่ต้องการเดินทางไปยังเส้นทางต่างๆ มาแจ้งความต้องการเพื่อหาผู้ร่วมทาง ซึ่งหากไม่มีผู้ขับสร้างเส้นทาง จะเป็นรูปแบบการเรียกรถแท็กซี่ ไปในเส้นทางเดียวกัน เพื่อแชร์ค่าเดินทางร่วมกัน

“บางครั้งพบว่าผู้ขับกำหนดราคา เริ่มตั้งแต่ 5-10 บาท เพราะไม่หวังรายได้ แต่ต้องการแบ่งปันการเดินทางร่วมกัน ขณะที่ผู้ร่วมทางต้องการร่วมแชร์ค่าใช้จ่าย เพราะเป็นต้นทุนในการเดินทางปกติทุกวันอยู่แล้ว” 

แอพลูลิน่า บาย แอลพีเอ็น มีฟังก์ชั่นแจ้งเหตุฉุกเฉินไปยังสถานที่ตำรวจในแต่ละพื้นที่เช่นเดียวกัน  ทุกคนที่จะใช้ แอพ จะต้องลงทะเบียน ทั้งคนขับและผู้ร่วมทาง โดยจะมีทั้งรูป เบอร์โทรศัพท์ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับบัตรประชาชน  ทำให้มีความมั่นใจในการเดินทางร่วมกัน  

หากเปรียบเทียบกับการใช้บริการแท็กซี่ หรือมอเตอร์ไซค์ ผู้ใช้จะไม่รู้ บัตรประชาชนของคนขับเช่นกัน แต่บริการของลูลิน่า ผู้ขับและผู้ร่วมทาง จะเห็นหน้าตาและเบอร์โทร และทั้งคู่สามารถรับหรือปฏิเสธได้เช่นกัน  ตัวอย่าง คนขับเป็นผู้หญิง อาจไม่สะดวกใจ ที่จะรับผู้ร่วมทางผู้ชาย

หลังจากพัฒนาเซอร์วิสคาร์พูลให้กับแอลพีเอ็น ปีนี้ ลูลิน่า ได้รับการติดต่อจากบริษัทเอกชนและองค์กรต่างๆ 5-7 ราย ให้พัฒนาแอพคาร์พูลสำหรับหน่วยงานต่างๆ จากการทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ ตั้งเป้าหมายสิ้นปีนี้จะมีผู้ดาวน์โหลดแอพลูลิน่า  1 ล้านดาวน์โหลด