Rent Connected ครบที่เดียวเรื่อง 'รถเช่า'

Rent Connected ครบที่เดียวเรื่อง 'รถเช่า'

"ภายปีแรกคือปีนี้ขอยอดบุ๊คกิ้ง 4 พัน ราว 8 บุ๊คกิ้งต่อวัน แต่ในปีที่สามจะขยับเป็น 100 บุ๊คกิ้งต่อวันมีรายได้ 100 ล้านบาท ซึ่งถือว่าค่อนข้างคอนเซอร์เวทีฟ"

"ชาญชัย เลิศบัณฑรกุล"  ซีอีโอ&ฟาวเดอร์  "Rent Connected" (เร้นท์ คอนเนคเต็ด) เว็บและแอพที่เปรียบเทียบราคารถเช่า จองรถเช่า จากบริษัทรถเช่า เช่ารถพร้อมคนขับ เช่ารถขับเอง เช่ารถครอบครัว และไปรับรถสนามบินทั่วประเทศไทย บอกเล่าเรื่องเป้าหมาย

และเป็นไมล์สะโตนที่ค่อนข้างชัดเนื่องจาก เร้นท์ คอนเนคเต็ด ได้รับความสนใจมีนักลงทุนลงเงินให้แทบจะทันทีในวันที่เปิดตัวเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

"ช่วงเริ่มต้นผมลงเงินตัวเองกว่าล้านบาท ต่อมาเราก็ได้รับเงินทุนจากนักลงทุนชาวอินโดนีเซีย เขาเป็นเจ้าของบริษัทชื่อยูเอ็มจี ทำธุรกิจในแถบเอเชียแปซิฟิคหลากหลายธุรกิจ รวมถึงเป็นดิสทริบิวเตอร์รถทรัคใหญ่ๆด้วยซึ่งก็ใกล้เคียงกับธุรกิจเรา ก็ถามเขาว่าทำไมเลือกเรา เขาบอกว่าเพราะโมเดลธุรกิจของเราง่าย  คนเข้าใจง่าย สัมผัสได้ง่าย โปรดักส์เราก็ดูดีไม่ขี้เหร่ ประเทศไทยก็เป็นเรื่องท่องเที่ยว  มีตลาดแน่นอน และเขาก็ดูว่าฟาวเดอร์ทุ่มเทแค่ไหน มาทำเต็มตัวไหม มีวิสัยทัศน์ นิสัย บุคลิกเป็นอย่างไร"

ต้องบอกว่าชาญชัยลาออกจากงานประจำเพื่อมาขับเคลื่อน เร้นท์ คอนเนคเต็ด อย่างเต็มตัว ไม่ใช่สตาร์ทอัพ "พาร์ทไทม์" ที่ยังทำงานประจำอยู่ ทำให้ไม่สามารถมาทุ่มเทกับธุรกิจสตาร์ทอัพได้อย่างเต็มที่

งานสุดท้ายก่อนออกมาเป็นผู้ประกอบการของชาญชัยว่าด้วยเรื่องตัวเลข การวิเคราะห์การเงิน ซึ่งทำให้มีคอนเน็คชั่นกับบริษัทเช่ารถหลายบริษัท และทำให้เขาเห็นโอกาส

"โดยปกติแล้วคนทั่วไปมักมักไม่ค่อยได้เช่ารถกันบ่อย ๆ แต่ละปีอาจเช่ารถกันแค่ 2-3 ครั้ง  พอ ๆกับการจองโรงแรม ส่วนใหญ่เวลาจะเช่ารถคนก็มักหารายชื่อจากกูเกิล เช่ารถภูเก็ต เช่ารถเชียงใหม่ เช่ารถอุดร เช่ารถกรุงเทพ ปัญหาก็คือ ประเทศไทยไม่มีเว็บหรือแอพเปรียบเทียบรถเช่า เรามองคอนเซ็ปต์ของอโกด้าที่เขาเปรียบเทียบราคาโรงแรม ไม่ต้องนับของสายการบินที่มีเต็มไปหมด แต่รถเช่าไม่มีเลย ผมเลยเห็นโอกาสและตัดสินใจออกจากงานมาทำ"

ถามว่าห่วงในความมั่นคงของรายได้ ของชีวิตหรือไม่ เขาบอกว่า เพราะคิดว่าจะทำงานประจำเมื่อไหร่ก็ได้ ที่ผ่านมาตัวเขาก็มักมีคนมาชวนให้ไปร่วมงานโน่นนี่เสมอ เมื่อมีไอเดียเห็นโอกาสจึงอยากลองทำอะไรที่อยากทำ  อีกทั้งก็อยากมีกิจการเป็นของตัวเองด้วย

เริ่มต้นอย่างไร? เร้นท์ คอนเนคเต็ด มีโคฟาวเดอร์ทั้งหมด 3 คน (รวมชาญชัยด้วย) ซึ่งมีคนหนึ่งที่เก่งเรื่องไอทีก็ให้มาดูแลการเขียนโปรแกรม วางระบบเป็นหลัก 

"แต่ผมก็เอาท์ซอร์สงานบางอย่าง งานดีไซน์ให้คนไต้หวันทำ  คนเขียนเอนดรอยให้คนจีนทำ และให้คนไทยพัฒนาเว็บไซต์และไอโอเอส มันต้องเป็นคนละคนเลย แต่ละอย่างมีความเฉพาะทาง และให้โคฟาวเดอร์ที่เก่งไอทีดูแล" 

เมื่อเปิดเข้าไปที่หน้าแรกของ เร้นท์ คอนเนคเต็ด ไม่ว่าจะเป็นเว็บหรือแอพ ก็จะให้ลูกค้าเลือกว่าต้องการจะเช่ารถที่ไหน จะเป็นเชียงใหม่หรือภูเก็ต พร้อมเลือกวันเวลาที่ต้องการ จากนั้นก็จะมีรถที่มี ที่ว่างอยู่ในวันเวลานั้นโชว์ขึ้นมาให้เลือก ซึ่งจะมีตั้งแต่อีโคคาร์ รถเล็ก กลางใหญ่ กระบะ รถตู้ แพงสุดรถสปอร์ต จากราคาถูกไปแพง เรียกว่ามีรถให้เลือกว่า 25 รุ่น ทั้งยังเลือกได้ว่าจะขับเอง หรือเป็นรถพร้อมคนขับ และจะชำระก็ทำได้ง่ายผ่านหลายช่องทาง

"เรายังให้ลูกค้าใส่โน๊ตเพิ่มเติมได้ด้วย เช่นอยากให้ไปส่งโรงแรมที่ไหนก็ใส่ได้หมด ทั้งเลือกสถานที่ในการคืนรถได้ด้วย จะรับรถที่เชียงใหม่แต่คืนที่กรุงเทพก็เลือกได้หมดเลย ที่เราทำได้เพราะบริษัทรถเช่าในเครือข่ายของเรามีทั้งเจ้าใหญ่และเจ้าเล็ก ลูกค้าจึงไม่ต้องเข้าทีละเว็บต้องเสียเวลา เข้าแอพหรือเว็บที่เดียวก็รู้เลย ทั้งราคายังถูกกว่าการไปจองในเว็บหรือแอพของบริษัทเช่ารถแต่ละเจ้าด้วย ก็เหมือนกับจองผ่านอโกด้าที่จะได้ราคาถูกกว่าไปจองตรง ๆกับทางโรงแรม"

พูดถึงภาพของการแข่งขัน เขาบอกว่าในภูมิภาคเอเชียสตาร์ทอัพเปรียบเทียบรถเช่าถือว่ามีอยู่น้อยมาก ก็จะมีรายใหญ่แต่ก็ผูกปิ่นโตกับบริษัทเช่ารถรายใหญ่เพียงไม่กี่เจ้า ไม่มีบริษัทรายเล็ก และก็เป็นการให้เช่าขับเพียงอย่างเดียว 

"แต่ของผมได้ต่อยอดเริ่มจากให้ขับเอง เวลานี้เรามีรถพร้อมคนขับ พอทำไปเราก็ได้เรียนรู้ เพราะมีลูกค้าโทรมาสอบถามหารถ หาบริการโน่นนี่อยู่ตลอด เช่น อยากได้รถตู้ราคาแพงพร้อมคนขับพาไปเที่ยว เราก็ต้องเพิ่มโปรดักส์ เพิ่มบริการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  ผมจะฟังเสียงลูกค้าเป็นหลัก เพราะสุดท้ายมันคืองานบริการ เวลานี้เราได้ลูกค้าบริษัทมาเยอะ และมีลูกค้าประจำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากพอเขาได้ใช้แล้วมันง่าย ทั้งยังมีใบเสนอราคา มีใบเสร็จ หัก ณที่จ่าย ทั้งหมดอยู่ในระบบ"

สำหรับเป้าหมายยอด 4 พันบุ๊คกิ้ง ชาญชัยบอกว่าตัวเลขนี้หมายถึงจุดคุ้มทุน ในปีนี้เร้นท์ คอนเนคเต็ดต้องการจะคุ้มทุน โดยวางแผนว่าจะทำมาร์เก็ตติ้งทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์

"ในส่วนออฟไลน์ผมเลือกจะไปออกงานไทยเที่ยวไทยซึ่งปีนี้จะมีทั้งหมด 5 งาน ผมอาจไม่เหมือนสตาร์ทอัพรายอื่นเพราะสามารถไปออกงานแบบนี้ได้เลย ไปโปรโมทและไปให้ลูกค้าจองรถได้ภายในงาน จองสด ๆตรงนั้นได้เลย จริง ๆเขาจองที่บ้านก็ได้ แต่จองในงานเราก็ได้อธิบาย เพราะสุดท้ายธุรกิจของเรามันอยู่ที่ความน่าเชื่อถือ ทำอย่างไรจะให้คนกล้าใช้ กล้าจ่ายเงิน"

เพราะในกรณีลูกค้าเช่ารถหลายวัน ซึ่งหมายถึงเงินหลักหมื่นที่จะต้องจ่าย ทำให้ธุรกิจต้องมีความน่าเชื่อถือในระดับหนึ่ง ซึ่งถือเป็นความยากและความท้าทายที่ธุรกิจส่วนใหญ่ต้องพบเจอ

"มีหลายๆเว็บ หลายๆแอพที่คนไม่กล้าใช้ ประมาณว่าเป็นใคร จะมาหลอกเราไหม ไม่ใช่เราเปิดให้โหลดแอพแล้วคนก็ใช้กันทันที ไม่ใช่  เหมือนทำไมคนกล้าใช้อโกด้า เราต้องทำให้ได้ระดับนั้น หรือทั้งๆที่มีแอพเรียกแท็กซี่อยู่ก็เยอะทำไมคนรู้จักแค่อูเบอร์และแกร็บ  เราจำเป็นต้องทำให้คนจำเราได้ รู้จักเรา คนถึงจะกล้าใช้ และเมื่อผมเริ่มไปออกงานอย่างไทยเที่ยวไทย ก็ทำให้คนรู้จักมากขึ้น มีออร์เดอร์มากขึ้นเรื่อย ๆ คือยิ่งไปออกงานมาก ออร์เดอร์ก็ยิ่งมากตาม"

ทั้งเคยคิดว่าจะใช้บริการบิลบอร์ด ป้ายโฆษณาต่างๆ  แต่ก็มองว่าเทรนด์มาทางออนไลน์ ก็เลยหวังพึ่งโฆษณาผ่านโซเชียลมีเดียเช่น เฟสบุ๊ค และกูเกิลแอดเวิดส์ 

"การโฆษณาออนไลน์มันวัดได้ แต่ออฟไลน์มันวัดยาก ถามว่าเราโฆษณาบิลบอร์ดแล้วคนมองเห็นเท่าไหร่ ไม่รู้เลย ขณะที่ออนไลน์เรายังได้รู้ว่าคนจะเห็นเรากี่คน แต่ทำไมคนยังทำออฟไลน์อยู่ คงอาจทำให้คนติดตา  มีภาพความน่าเชื่อถือ  และก็ใช้ช่องทางออนไลน์ด้วยเพื่อสร้างความรู้จักให้มากขึ้น"

และภายในสิ้นปีนี้ เร้นท์ คอนเนคเต็ด ยังวางแผนจะระดมทุนอีกครั้ง (ระดับพรีซีรีส์เอหรือซีรีส์เอ) แน่นอนว่าเป็นเป้าหมายร่วมกับนักลงทุนในรอบแรก ซึ่งในรอบนี้ชาญชัยบอกว่าจะเป็นรอบนักลงทุนระดับอินเตอร์ไม่ใช่โลคัลเหมือนรอบแรก  เพื่อนำมาวางแผนขยายธุรกิจไปต่างประเทศ

"ประเทศที่สนใจก็คืออินโดนีเซีย เพราะประชากรเขามีเยอะด้วย 250 ล้านคน ซึ่งก็ต้องมีทีมงานที่พร้อม ซึ่งก็ต้องไปมองหาจับมือกับพันธมิตร  ซึ่งเวลานี้ยังไม่ได้คุยกับใคร แต่นักลงทุนของเราบอกว่าเขาจะช่วยพาเราไป แต่อยากให้เราทำตลาดประเทศไทยให้แข็งเสียก่อน"