‘ไวรัสลงกระเพาะ’ โรคที่ควรระวังรับปีใหม่

‘ไวรัสลงกระเพาะ’ โรคที่ควรระวังรับปีใหม่

สำนักอนามัยเตือนอากาศเปลี่ยน ควรระวังสุขภาพของเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว เป็นพิเศษ เพราะอาจทำให้เกิดโรคไวรัสลงกระเพาะและลำไส้

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม นพ.ชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ด้วยประเทศไทยเริ่มมีสภาพอากาศหนาวเย็นและอาจหนาวต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2561 ในส่วนพื้นที่ของกรุงเทพฯ พบว่าบางพื้นที่เริ่มมีอุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็ว อาจส่งผลให้ประชาชนมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว

ดังนั้น จำเป็นต้องมีวิธีการป้องกัน เฝ้าระวัง ตลอดจนรับมือกับปัญหาโรคและภัยที่แฝงมาในช่วงฤดูหนาว ได้แก่ 1.โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ สามารถเจ็บป่วยได้ง่ายและบ่อยครั้งมากกว่าปกติถึง 2-3 เท่า โดยในปี 2560 กทม.ได้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้กับกลุ่มเสี่ยง 70,000 โดส แต่หากเป็นแนะนำให้ดูแลร่างกายให้อบอุ่น พักผ่อนให้เพียงพอ หากมีอาการเหนื่อย หอบ อ่อนเพลียอย่างชัดเจน ให้รีบพบแพทย์ด่วน เพราะอาจเป็นสัญญาณอันตรายของโรคหลอดลมอักเสบหรือปอดบวม 2.โรคหลอดลมอักเสบ และปอดบวม คือ ภาวะหลอดลมและปอดอักเสบ สามารถแพร่กระจายเวลาไอ จาม หรือการสำลักน้ำลาย เศษอาหาร และน้ำย่อย โดยมีอาการสำคัญ คือ ไข้ ไอ มีเสมหะมาก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก เหนื่อยหอบ ทั้งนี้ โรคปอดบวมมักจะพบในกลุ่มคนชรา และเด็กเล็ก และผู้มีโรคประจำตัว หลังจากการเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หากป่วยเป็นโรคนี้อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิต

3.โรคอุจจาระร่วง สาเหตุส่วนใหญ่มาจากเชื้อโรต้าไวรัส และมักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เพราะเป็นวัยกำลังเรียนรู้ และชอบหยิบของต่างๆ เข้าปาก โดยเชื้อนี้จะแฝงอยู่ในสิ่งของที่เด็กหยิบจับ อาการสำคัญคือ ถ่ายเหลวเป็นน้ำ มีไข้ และอาเจียนร่วมด้วย ซึ่งปกติอาการถ่ายเหลวจะหายภายใน 3-7 วัน แต่ยังคงต้องดูแลใกล้ชิด โดยให้ดื่มเกลือแร่ และสังเกตลักษณะของอุจจาระ หากพบว่ามีมูกเลือดปนออกมาควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป และ 4.อุบัติเหตุทางการจราจร ควรระมัดระวังและขับขี่รถอย่างปลอดภัย รักษาวินัยจราจร ห้ามขับรถเร็วเกินกฏหมายกำหนด และเมาไม่ขับ

ขณะที่ นพ.เมธิพจน์ ชาตะเมธีกุล ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กทม. เปิดเผยว่า โรคไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ จะพบผู้ป่วยมากในช่วงหน้าหนาว และอีกโรคที่มักเกิดขึ้นมากเช่นเดียวกัน คือ โรคไวรัสลงกระเพาะ หรือที่เรียกกันว่าไข้หวัดลงกระเพาะ เนื่องจากระยะนี้มีอากาศชื้น จึงทำให้เชื้อโรคชนิดต่างๆ สามารถแพร่กระจายได้ง่ายกว่าปกติ โดยจะแฝงอยู่กับสิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น อาหารที่รับประทาน ลูกบิดประตู ราวบันได โดยระยะแรกจะมีอาการคล้ายไข้หวัด คือ มีไข้ ตัวร้อน น้ำมูกไหลหรือไอร่วมด้วย แต่จะมีอาการอาเจียน ที่เป็นอาการเห็นได้ชัดว่าให้สันนิษฐานว่าเป็นไวรัสลงกระเพาะ ดังนั้นให้หมั่นดูแลรักษาความสะอาดร่างกายและล้างมืออย่างสม่ำเสมอ

“สำหรับจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-30 พฤศจิกายน 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 45,888 ราย โดยในเดือนพฤศจิกายนมีผู้ป่วยไข้หวัดเพียง 150 คน เท่านั้น เนื่องจากเป็นช่วงฝนหยุดตกและอากาศยังไม่หนาว แต่ในเดือนธันวาคม คาดว่าอาจมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่มากขึ้น” นพ.เมธิพจน์ กล่าว