ความจริงใต้น้ำของ ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

ความจริงใต้น้ำของ ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

คุยกับช่างภาพจากสมาพันธ์นักถ่ายภาพเพื่อการอนุรักษ์นานาชาติ คนล่าสุด ที่ใช้ภาพถ่ายเชื่อมโยงผู้คนกับธรรมชาติให้เป็นเรื่องเดียวกัน

photo : Vorapat Pariyawong

photo : Vorapat Pariyawong

ราว 5 ปีที่แล้ว บัณฑิตสายวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมคนหนึ่ง ตัดสินใจ “ระเบิดบัญชี” เพื่อซื้ออุปกรณ์ถ่ายภาพใต้น้ำชุดแรกในชีวิต แลกกับการต้องใช้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปประทังชีวิต และใช้พื้นออฟฟิศแทนห้องนอน 

ถึงวันนี้ นอกจากเขาจะมีชื่อติดธรรมเนียบช่างภาพมือรางวัลทั้งในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ เขายังได้ฉายา “ฉลาม” ติดตัวมาในฐานะช่างภาพสายอนุรักษ์ด้วย 

“ผมอยากเล่าเรื่องราวข้างใต้น้ำให้คนบนฝั่งได้รู้ครับ” ชิน - ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ช่างภาพสารคดีรุ่นใหม่ที่มีดีกรีรางวัลภาพถ่ายในระดับนานาชาติเป็นเครื่องการันตีความสามารถตอบด้วยน้ำเสียงราบเรียบ และจริงจัง

ยังมีงานอีกหลายๆ งานที่เขาเข้าไปมีส่วนร่วมถ่ายทอดความจริงใต้ทะเลสู่สังคม ตั้งแต่ ปะการังเสื่อมโทรมที่เกาะตาชัย ความหลากหลายใต้กองหินขาว ไปจนถึง ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา

ล่าสุด ระหว่างที่กำลังขึ้นโปรเจคใหม่ เจ้าตัวก็ได้รับเลือกเป็น Emerging League ของ iLCP หรือ สมาพันธ์นานาชาติของนักถ่ายภาพเพื่อการอนุรักษ์ ที่มีสมาชิกทั่วโลก อีกทั้งยังได้เป็น Emerging Talent ในโครงการ 6X6 Photo ของมูลนิธิ  World Press Photo ปีล่าสุด

“พลังของภาพถ่ายมันสามารถกระแทกใจคนได้” มันเป็นทั้งคำยืนยันความรู้สึก และความชอบของคนๆ หนึ่งที่วางตัวเองเอาไว้ว่าจะทำงานบนเส้นทางสายอนุรักษ์ให้ดีที่สุด เพราะธรรมชาติกับผู้คนนั้น ล้วนเป็นสิ่งที่ต่างผูกโยงซึ่งกันและกันเอาไว้อย่างแนบแน่น 

ไม่ต่างจากความจริงที่ช่างภาพอย่างเขาพยายามบอกเล่า เหมือนอย่างที่กำลังจะถ่ายทอดให้เราฟังนับตั้งแต่บรรทัดนี้ 

 

ความจริงใต้น้ำของ ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

photo :ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

*เคยคิดไหมว่าทำงานวิทยาศาสตร์ทางทะเลอยู่ดีๆ วันหนึ่งจู่ๆ ก็ได้มาเป็นช่างภาพ

คือก่อนที่ซื้อกล้อง ผมก็เป็นครูดำน้ำมาสักพักแล้ว (ยิ้ม) ก็อยากให้เพื่อนๆ และคนรอบๆ ตัวได้เห็นว่า ทะเลบ้านเรามีอะไรบ้าง แรกๆ เป็นความสวยงามมากกว่า ตอนไปทำโครงการที่เกาะเต่า ก็ได้หัดถ่ายภาพไปด้วย ถึงจุดหนึ่งก็เริ่มสนุก เริ่มส่งประกวด จนที่งาน Thailand Dive Expoปี2013 ภาพปะการังออกไข่ก็ได้รางวัล มันไปอยู่ตรงนั้นแล้วคนเห็น มันเกิดบทสนทนา เกิดการแลกเปลี่ยน เราก็รู้สึกว่า ภาพถ่ายเป็นเรื่องที่ดีที่จะใช้สื่อสาร จนไปเห็นงานของช่างภาพคนหนึ่งชื่อ โทมัส เพชชัค (Thomas P. Peschak) เป็นช่างภาพของเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก เขาเคยเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลมาก่อน ที่หันมาถ่ายภาพเพราะเขาคิดว่า impact ของภาพถ่ายในการเข้าถึงผู้คนได้ง่าย และชัดเจนกว่า มารู้จักกับพี่แอ่ว (วราณ สุวรรณโณ) แกก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลมาก่อนแล้วค่อยมาเป็นช่างภาพ ก็เป็นทางหนึ่งที่น่าสนใจ

ตอนอยู่เกาะเต่า 3 ปี ก็ได้ทุน ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เสนอทุนให้ไปทำวิจัยเรื่องฉลามที่นั่น ก็ไปเรียนต่อโทที่นั่นไปเลย มีโครงการไหนออกสนามก็ไป มีสำรวจพื้นที่ก็ไปตามถ่าย บางทีก็เป็นงานของพวกองค์กรต่างชาติ ส่งให้เขาไปตีพิมพ์ ส่งไปโน่นไปนี่ ก็ได้รางวัลมาเรื่อยๆ จุดเปลี่ยนจริงๆ คือ ตอนประกวด 10 เล่าเรื่องของเอ็นจีประเทศไทย ทำให้ผมได้ทำงานสนาม ไปตลาดปลา เก็บข้อมูลฉลามในอุตสาหกรรมประมงไทย ก็กลายเป็นสารคดีซีรีส์ฉลามขึ้นมา

*ถือเป็นเซ็ตแจ้งเกิด ?

ผมว่าตอนนี้มันก็เป็นซีรีย์ที่ดีที่สุดของผมอยู่ดี (หัวเราะ) เพราะมันเป็นเรื่องที่เราอินไงครับ นั่งเก็บข้อมูล ค้นเอกสาร ตรวจสอบทุกอย่างเอง งานวิจัยนี่อ่านเป็นร้อยน่ะ เรารู้ว่าต้องถ่ายอะไร ก็ออกมาเป็นเซ็ตนั้นแหละครับ ระหว่างนั้น ผมก็ยังส่งงานแข่งเรื่อยๆ จนเมื่อปี 2016 ผมได้ผ่านการคัดเลือกจากทุนที่เพชชัคเขาให้ จึงได้ไปร่วมงานกับ Save Our Seas Foundation 2016 ก็เลยได้ไปที่วอชิงตัน ไปถ่ายงานต่อที่ บาฮามาส สุดท้ายก็ได้เจอ โทมัสตัวจริงสักที

ความจริงใต้น้ำของ ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

photo : Hannares Haripai

*เขามองเห็นอะไรที่เลือกเรา

ผมมองว่า โดยพื้นฐานผมจะเจาะไปที่งานที่เป็นประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก จริงๆ ช่างภาพใต้น้ำไทยมีเก่งๆ หลายคน แต่ด้วยความที่ ผมเจาะประเด็นสิ่งแวดล้อม หรือประเด็นอนุรักษ์เลย ผมจึงมักจะได้งานพวกนี้ ระหว่างที่ผมทำงานไปเรื่อยๆ มันก็จะชัดไปทางเดียวเลย ผมแทบไม่มีงานที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเลยนะ สถานที่ท่องเที่ยวที่ไหนสวย ผมไม่เคยได้เลย (หัวเราะ) 

*อะไรคือสิ่งที่คุณคิดเวลาจะถ่ายภาพสักชุดหนึ่ง

ปกติผมจะอ่านก่อนว่าในเรื่องมีประเด็นไหนที่น่าสนใจบ้าง อย่างพื้นที่คุ้มครองทางทะเลที่ผมทำ ผมก็จะดูว่า เรื่องนี้มันเชื่อมโยงถึงอะไรได้บ้าง จริงๆ ผมว่าคนทำสื่อก็เชื่อมโยงในลักษณะนี้ไม่ต่างกันนะ ตอนแรกสิ่งที่ต้องทำก็คือ พยายามหาบทความเกี่ยวกับเรื่องที่เราจะทำมาอ่านให้ได้มากที่สุด ติดต่อคนที่รู้เรื่อง ซึ่งผมค่อนข้างที่จะมีแหล่งข้อมูล แล้วผมก็มีพื้นฐานในเรื่องพวกนี้มาอยู่แล้ว

จากนั้นก็มาดูว่ามีพื้นที่ไหนที่น่าสนใจบ้าง พื้นที่คุ้มครองทางทะเลสิ่งที่จะเล่ามันก็คือ ความหวังของทะเลไทยที่สามารถฟื้นฟูที่เหลือน้อยมาก แล้วการคุ้มครองพื้นที่เราคุ้มครองได้ดีแค่ไหน จะต้องเล่าถึงอะไรบ้าง พื้นที่นี้ถูกใช้ทำอะไร ประโยชน์ของพื้นที่คุ้มครองทางทะเลที่ทำให้คนเรารู้สึกจับต้องได้นอกจากเรื่องเม็ดเงิน มีอะไรบ้าง อุตสาหกรรม ระบบทางธรรมชาติมันมีอะไรบ้าง ก็คือ ค่อยๆ แตกไป ซึ่งมันสามารถแตกประเด็นออกมาได้เยอะมาก

หลังจากแตกประเด็นออกมาแล้ว ผมก็จะมานั่งคิดต่อว่า ในประเด็นต่าง สิ่งที่เรารู้ อะไรที่เป็นสัญลักษณ์ หรือตัวแทนของธีมเซ็คชั่นนั้นได้ดี ก็ลองนึกดู มันไม่ต่างจากการทำข้อมูลกลับไปกลับมา หลายสเต็ป เพื่อสิ่งที่เราแตกออกมานั้นสามารถตอบโจทย์หรือเปล่า

พอเราได้ภาพออกมาเสร็จ ก็ยังต้องมานั่งไล่ดูอีกว่า ภาพมีความหลากหลายมากพอหรือเปล่า  ผมก็จะคิดว่า เออ ภาพนี้ต้องมีแลนด์สเคป ภาพนี้ต้องมีมูฟเม้นท์ ภาพนี้คือโทนสีฟ้า ภาพนี้โทนสีฟ้าแล้วก็เปลี่ยนเป็นโทนสีส้มแทน ภาพนี้ขอโดรน ภาพนี้ถ่ายมุมเสย ภาพนี้ครึ่งบกครึ่งน้ำ ทำยังไงให้มีความหลากหลายในเซ็ตให้มาก และให้มันสามารถเล่าถึงสิ่งที่เราอยากจะสื่อได้ดี มันก็ไป-กลับๆ อย่างนี้ ภาพนี้จะเล่าเรื่องป่าโกงกางถูกคุกคาม เอ๊ะ จะเล่าเรื่องยังไง 

*ทำไมการถ่ายภาพสักครั้งหนึ่ง ต้องทำข้อมูลเยอะขนาดนี้ด้วย

ถ้าเราไม่รู้ว่าเราจะเล่าอะไรออกมา เราไปถ่ายออกมามันก็ไม่มีเนื้อหา ผมว่าคนดูเขาสัมผัสได้นะ โดยเฉพาะภาพถ่ายเชิงสารคดี มันสำคัญอีกอย่างก็คือ มันไม่ใช่แค่ภาพ แต่มันคือแคปชั่น เขียนตรงนี้ออกมาเสร็จ สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร บริบทของเรื่องทำให้มันกว้างขึ้นคืออะไร ภาพถ้าคุณดูไม่รู้ว่าคืออะไร ตัวข้อความมันก็จะทำหน้าที่ขยายรายละเอียดขึ้นมาอีก

สมมติ ภาพป่าโกงกางจากโดรนลงมาตอนดวงอาทิตย์ขึ้น เมฆหมอกลงสวยๆ เห็นข้างๆ มันมีบ่ออะไรอยู่ กับสวน ก็คือ ฟาร์มกุ้งที่คุกคามป่าโกงกางที่สมควรเป็นพื้นที่คุ้มครอง อย่างที่ปากบารา ก็มีโดรน 2 ภาพที่บอกเล่า คือ ที่ผมเพิ่งกลับมาจากวอชิงตัน งาน Wildspeak ก็ได้เจอกลุ่มของบรรณาธิการของเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิกก็ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกัน ที่นั่นเขาไม่ได้พูดว่า ภาพนี้สวย หรือภาพนี้ไม่สวย แต่เขาจะมองว่า ทั้งเซ็ต หรือทั้งเรื่องที่คุณเล่าออกมามันเป็นยังไงมากกว่า

*เขาให้ความสำคัญกับภาพชุดมากกว่าภาพเดี่ยว ?

จริงๆ การที่จะให้ภาพๆ หนึ่งดีออกมา มันไม่ยากเลย แต่การที่จะทำยังไงให้ภาพทั้งเซ็ตมันดี และให้ภาพทั้งหมดมันร้อยเรียงไปด้วยกันได้ อันนี้ยากมาก พูดไปก็เหมือนแก้ตัวนะครับ (ยิ้ม) คือ ภาพที่แข็งแรงก็จะแข็งแรงเลย เป็นภาพที่คิดมาก่อนลงมือทำงานอยู่แล้ว ค่อยๆ แตกประเด็นออกมา โลเคชั่นหนึ่งก็พยายามถ่ายออกมาหลายแบบ เก็บให้ครบเพื่อเป็นตัวเลือก ไม่ได้เซ็ตอัพนะ หรือถ้าเซ็ตทุกอย่างที่เล่าก็ต้องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่ที่ต้องยอมรับที่ทำให้งานออกมาดีทั้งหมดไม่ได้เพราะ เราใช้เวลาในพื้นที่ไม่นานพอ ซึ่งมันก็มากับค่าใช้จ่าย (ยิ้ม) มันก็เหมือนแก้ตัวนั่นแหละ เมื่อคุณตั้งค่าใช้จ่ายมาแล้วก็ควรจะทำงานออกมาให้ดีที่สุด

ความจริงใต้น้ำของ ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย photo :ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

*ดีที่สุด กับดีที่สุดในช่วงเวลานั้น มันคนละอย่างกัน ? 

ใช่ ผมก็เข้าใจ ไม่แก้ตัว เหมือนกันปากบาราผมไปถ่าย ผมมีเวลา 2 อาทิตย์ ซึ่งภาพที่แข็งแรงในการลงพื้นที่คราวนั้นมีอยู่ 4 ภาพ ใน 12 ภาพใน 2 อาทิตย์ ผมก็แบบ... คิดว่าตัวเองเต็มที่แล้วนะ แต่เขาก็พูดถูก งานในระดับโลก เขาตีพิมพ์ภาพที่ดี เขาไม่ได้พิมพ์คำแก้ตัว ไม่ดีก็คือไม่ดี

*เล่าเรื่องที่เพิ่งกลับมาจากอเมริกาให้ฟังหน่อย

แยกเป็น 2 เรื่องครับที่ไปคราวนี้ คือ ที่ผ่านมา ผมได้เป็น Emerging League ของ iLCP (International League of Conservation Photographers) หรือ สมาพันธ์นานาชาติของนักถ่ายภาพเพื่อการอนุรักษ์ แล้วก็ได้เป็น Emerging Talent 6X6 Photo 

สมาพันธ์นานาชาติของนักถ่ายภาพเพื่อการอนุรักษ์ เป็นองค์กรที่รวมของช่างภาพเพื่องานอนุรักษ์ในระดับโลก ที่มีสมาชิกอยู่ประมาณ 100 คนทั่วโลก ความพิเศษก็คือ ต้องเป็นช่างภาพที่ได้รับเชิญเข้าไปโดยสมาชิกอาวุโสของสมาพันธ์เท่านั้น พอได้จดหมายแนะนำ ก็ต้องส่งผลงานไปให้เขาพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งในแต่ละปีเขาจะรับปีละ 3 คน ปีนี้ผมติด 1 ใน 3 ส่วนอีก 2 คน คนหนึ่งเป็นอเมริกัน อีกคนหนึ่งเป็นออสเตรเลียน ก็จะมีงานประชุมประจำปีของสื่อมวลชนสายอนุรักษ์ ชื่องาน Wildspeak ผมก็ได้มีโอกาสไปนั่งฟังช่างภาพสายอนุรักษ์ระดับโลกขึ้นเวทีมาแลกเปลี่ยนกัน

ส่วนอีกงาน World Press Photo เขาก็ส่งตัวโปรเจคหนึ่งมาให้ผม ซึ่งมีรายละเอียดว่า เขาต้องการเอางานของช่างภาพรุ่นใหม่ในแต่ละภูมิภาคมาสนับสนุน แต่มันต้องมีคนรับรอง ผมก็ตอบไปว่าผมอยากส่งงานนี้นะ แต่ไม่มีคนรับรอง เขาก็ โอเค งั้นจะส่งชื่อผมขึ้นไปเป็นแคนดิเดตก่อน เผื่อมีใครอยากรับรอง ก็ได้ช่างภาพจากแอฟริกาใต้ที่ชอบงานผมมาช่วยรับรองให้ 

งานนี้ผมส่งภาพชุด ฉลาม กับ ปากบารา ไป ผลก็คือผ่านการคัดเลือก ล่าสุดเพิ่งทำ instagram takeover ไป ซึ่งผมก็ตกใจนะ เนื้อหาบางเรื่องที่เราอยากสื่อสารกับคน พอผ่านช่องทางของ World Press พลังมันคนละเรื่องจริงๆ คนเห็นภาพปลาเป็ด ภาพการประมง หรือภาพแนวปะการังของเรา ที่พีคสุด คือ คนสะเทือนกับภาพฉลามมาก

*ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความสำเร็จ... ยิ่งในระดับโลกมันก็จำเป็นในการสร้างความรับรู้ หรือ ผลกระทบให้ไปสู่วงกว้าง ?

ถ้ามองในมุมนั้นมันก็ใช่ คือสำหรับตัวผมเอง ก็หวังว่าอยากจะให้ทุกคนมีเสียง หรือสามารถส่งพลังออกมาได้ทั้งหมด แต่พอทำงานไปเรื่อยๆ ก็ทำให้เรารู้ว่า ถึงเราจะทำงานหนักอะไรยังไง ถ้าเราไม่มีรางวัล หรือ ชื่อที่มากับงาน คนก็ไม่ได้มองจริงๆ ผมว่า ช่างภาพหลายๆ คนน่ะ มีงานดีๆ เยอะ แต่การแข่งขัน และโอกาส หรือภาษา ของผมไปแข่งงานนอกเรื่อยๆ มันก็มีงานมาเรื่อยๆ มันก็มาแบบนี้ 

จริงๆ ช่างภาพไทยที่ไม่ได้ส่งแข่งต่างประเทศมีงานดีๆ เยอะมาก เรื่องที่เล่าแล้วมีความหมายมันเยอะ แต่คนก็ไม่ได้เห็น คือ ยุคนี้เป็นยุคที่เราแย่งพื้นที่สื่อสารอยู่แล้ว วันหนึ่งเราเห็นสารมากมายถูกปล่อยออกมา ข่าว เรื่องราวต่างๆ ตอนนี้พฤติกรรมคนเสพสื่อก็จะอยู่กับออนไลน์นั่นแหละ ทุกคนเปิดมือถือนั่งดูข่าวกัน องค์ประกอบเหล่านี้ มันแย่งชิงกัน

ความจริงใต้น้ำของ ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

photo :ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

*วันนี้พื้นที่สื่อสารบนออนไลน์เห็นได้ชัด หลายครั้งเราก็เห็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมถูกพูดถึงอยู่เรื่อยๆ สำหรับคุณ ประเด็นการอนุรักษ์กับคนรุ่นใหม่ หรือแม้กระทั่งสังคมเอง มันใกล้ตัวคนมากขึ้นหรือยัง

ผมว่ามันยังมีช่องว่างอยู่นะ การที่เราจะซึมซับธรรมชาติมันเป็นจุดหนึ่งที่อาจจะหายไป คือ คนยังมองว่ามันเป็นธรรมชาตินั่นแหละ แต่เป็นการใช้ประโยชน์มากกว่า อย่างชัดๆ ก็การท่องเที่ยวไปเลย หรือเป็นทรัพยากรไปเลย แต่คนเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติอยู่แล้ว ไม่มีทางตัดขาดกันได้อย่างเด็ดขาดหรอก

วันนี้ เรามีการพูดถึงธรรมชาติมากขึ้น ถ้าถามผม การเปลี่ยนแปลงมันก็ต้องมากับเทรนด์นะ ถึงแม้จะเป็นแค่กระแส หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงจริงๆ มันก็ดีหมด ที่สิ่งเหล่านี้มันมีการถูกพูดถึงในสื่อภาพรวมมากขึ้น ผมก็มองทิศทางของการเคลื่อนที่ในแง่การเอามาใช้จริง ไม่ว่าจะเป็นทางสังคมเอง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มันเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือเปล่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องคิดต่อเวลาที่เราพูดถึงเรื่องเหล่านี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่า ประเด็นสิ่งแวดล้อมหลายๆ อย่างมันมีความซับซ้อนในตัวมันเองอยู่ด้วย

*แล้วกับเรื่องคลิปวีดิโอล่ะ ช่างภาพนิ่งอย่างคุณมองเรื่องนี้อย่างไร

ผมมองว่า... เอาไงดี (ยิ้ม) ผมมองว่าวีดิโอ มันสำคัญแหละ เพราะวิธีในปัจจุบัน แค่เลื่อนลงมาเจอกดมันก็เพลย์ให้อัฒโนมัติอยู่แล้ว การเคลื่อนไหว มูฟเม้นต์ หรือไดนามิก มันก็ทำให้คนดูได้นานขึ้น แทนที่ดูภาพๆ หนึ่งแล้วนั่งอ่านเรื่องยาวๆ แต่เอาเข้าจริง ผมก็ยังมองว่ามันก็ต่างกันอยู่ดีนะ การเสพทั้ง 2 อย่างเนี่ย คือ สำหรับผมถ้าดูวีดิโอผมก็ดูวีดิโอ แต่ส่วนตัวผมเอง เวลาดูภาพถ่ายผมว่าผมโฟกัสกว่าเยอะ

*วันนี้ มีประเด็นสิ่งแวดล้อมไหนที่ใกล้ตัวเรา แต่ยังถูกมองข้ามไปบ้าง

ชอบกินไก่กันไหมครับ (ยิ้ม) เราเอาอะไรเลี้ยงไก่ครับ มันมาจากไหนครับ ใครซื้อปลาป่นครับ (หัวเราะ) นี่เป็นประเด็นหลักเลยครับ การเอาปลาที่ยังไม่พร้อมสืบพันธุ์ หรือโตไม่เต็มที่ กวาดมาทั้งทะเลมาเพื่อเลี้ยงไก่ แทนที่จะปล่อยให้มันเติบโตมีมูลค่าสูงขึ้น คือ ผลประโยชน์จริงๆ มันไม่ได้ตกอยู่กับส่วนร่วม แต่มันไปหาคนในบริษัทอุตสาหกรรมเพียงไม่กี่คน แล้วมันก็สร้างความพังให้กับทะเลจริงๆ เรื่องนี้ก็ยังคงต้องทำความเข้าใจกันอยู่ นี่คือส่วนหนึ่ง ที่จะเป็นตัวกำหนด ทิศทาง ยุทธศาสตร์ หรือแผน ที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นไปในอีก 10-20 ปี คนที่มีส่วนกำหนดตรงนั้นเขามองไปทิศทางไหน เรามีสิทธิมีเสียงในการกำหนดปัจจัยดังกล่าวได้แค่ไหนในสถานการณ์ปัจจุบัน เหนื่อยนะครับ

ความจริงใต้น้ำของ ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

photo :ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

*เห็นอยู่ว่าเรื่องการรณรงค์ หรือสร้างความเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาอย่างมาก แถมยังไม่รู้ว่าจะสำเร็จหรือเปล่า อะไรที่ผลักดันให้คุณยังทำงานนี้อยู่

ถ้าผมไม่ทำเรื่องนี้ ผมก็ไม่รู้จะทำอะไรในชีวิตแล้วจริงๆ ครับ ผมรู้สึกว่า ผมมีชีวิตเพื่อทำงานนี้ นี่คือ ความหมายในชีวิตที่ทำให้เรามีลมหายใจในวันนี้ ผมว่าประเทศไทยยังมีเรื่องอะไรให้ทำอีกเยอะ มันเป็นงานหนึ่งที่เหนื่อยมากนะครับ เอาจริงๆ แต่มันก็ทำให้เรามีชีวิตอยู่ (แล้วปากท้องล่ะ) ผมก็ยังอยู่ได้ครับ ยังเลี้ยงชีพได้ และผมก็อยากก้าวขึ้นไปอีก ความจริงของคนทำงานสารคดีเมืองไทยก็คือ อยู่ยาก ทำยังไงให้เราไปถึงข้างนอกได้ เมื่อก่อนเราเคยพึ่งเงินจากการแข่งเยอะมาก แต่ตอนนั้นยังเด็ก ใช้เงินน้อยกว่านี้ ปัจจัยแวดล้อมน้อยกว่านี้ก็โอเค แต่มาตอนนี้ ทำยังไงให้มันสามารถรักษาจิตวิญญาณของเราเอาไว้ได้ ขณะที่เราต้องหาเลี้ยงชีพด้วย มันสำคัญมากจริงๆ มันก็น่ากลัว

*บาลานซ์ยังไง

ทำอะไรก็ได้ ทำไปเถอะ ที่ไม่ทำให้ตัวงานหลัก หรือตัวตนของเราเสียไป นี่ถือเป็นเรื่องปกติเลยครับ เวลาคนที่มาติดต่อให้ผมถ่ายงานให้ ผมก็จะขอดูก่อนว่างานอะไร ขอรายละเอียด ถ้ามีคนอื่นที่ถ่ายได้ดีกว่า ผมก็จะถามว่า เคยลองไปคุยกับคนนี้หรือยัง เพราะผมอยากเห็นงานดีๆ พูดอย่างนี้ไม่ได้แปลว่ารวยนะครับ (หัวเราะ) ไม่ได้รวยเลย แต่ผมก็เชื่อว่าถ้าเราขวนขวายทำงานไป อยากสร้างงานที่ดี แต่ไม่ได้ขวนขวายว่าจะเอาเงินจากคน มันเป็นสิ่งที่ทำให้ผมมายืนอยู่ตรงนี้

*ทุกวันนี้ ก็ยังต้องระเบิดบัญชีเพื่อทำงานอยู่ไหม

ก็ต้องวัดใจในแต่ละครั้งน่ะครับว่า งานที่ดี มันจะพามาซึ่งอะไรบางอย่าง ผมเชื่อคำนี้มากนะ ไม่มีอุปสรรค์ไม่มีความสำเร็จ ถ้าไม่ได้วัดมันก็อยู่กับที่น่ะครับ พื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง ถ้าวัดแล้วร่วง ก็น่ากลัวอยู่ แต่ผมก็มองความเป็นไปได้ว่าจะร่วงหรือเปล่า (เคยคิดถึงวันที่ร่วงไหม)คิดครับ คิดแต่ละที กูจะรอดไหมวะเนี่ย ถ้าระเบิดบัญชีรอบนี้จะเอาเงินที่ไหนมากินข้าว

คนจะชอบคิดว่า ช่างภาพใต้น้ำ เดินทางต่างประเทศบ่อย มีเฮาส์ซิ่ง 3 แสน รวย แต่ขอโทษ ก่อนจะมีเนี่ย แล้วถึงจะมีตอนนี้ก็ยังต้องวัดอยู่ คือผมก็มีเงินเก็บอยู่ ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่อยากไปยุ่งอะไรมาก แต่ถ้าต้องวัด วัดด้วยอะไร โอกาสที่จะต้องไปเจอคน โอกาสในการสร้างงาน ผมก็พร้อมที่จะลง เพราะเอาเข้าจริง งานที่เราสร้างมามันก็คือทุนนะ คนที่จำเราได้เพราะคนจำงานเรา แต่ไม่ได้จำเราว่า คุณไปโผล่เวิร์คช้อป หรือสปอนเซอร์โพสลงเฟซบุ๊คพูดจาหล่อๆ เขาไม่จำหรอก สิ่งสุดท้าย ของมืออาชีพเขาให้คุณค่ากับสิ่งที่คุณสร้างมามากกว่า 

การโตในวงการระยะยาวหรืออยากโตแบบฉาบฉวย จุดนี้เราต้องมอง งานคือตัวชีวัด ภาพนี้ใครถ่าย โทมัส ภาพนี้ใครถ่าย มันขึ้นหิ้งตลอด แต่จะไปนั่งพูดอะไรหล่อๆ สปอนเซอร์ ดราม่าเพื่อหาฟีดออนไลน์เร็วๆ แปปเดียวเขาก็ลืมครับ มันไม่ใช่คุณค่าที่แท้จริง

*ถ้ามีคนบอกว่า พี่ก็พูดอย่างนี้ได้สิ เพราะชื่อพี่ติดไปอยู่ในระดับสากลแล้วล่ะ ?

ถ้าใครพูดอย่างนั้นเดี๋ยวผมจะส่งรูปตอนไม่ได้เช่าบ้าน นอนในออฟฟิศเกาะเต่า ยุงกัด กินมาม่าอยู่เป็นอาทิตย์ เพื่อเอาเงินไปซื้อกล้องใหญ่ตัวแรกเลยนะ ลองดิ (หัวเราะ)

ความจริงใต้น้ำของ ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย photo :ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย