teamLab ระบายแสงให้โลกสวย

teamLab ระบายแสงให้โลกสวย

ไม่ใช่พวกโลกสวย แต่พวกเขาคือทีมดิจิทัลอาร์ตสุดคูลที่ตั้งใจสร้างสรรค์ผลงานล้ำๆ เพื่อสัมพันธภาพที่ดีระหว่างมนุษย์กับสิ่งต่างๆ รอบตัว

ความละเมียดละไมของชาวแดนอาทิตย์อุทัยนั้นไม่มีใครปฏิเสธ เช่นเดียวกับความล้ำสมัยสไตล์ปลาดิบที่สร้างความตื่นตาตื่นใจได้เสมอ และถ้าซูมเข้าไปในพรมแดนของดิจิทัลอาร์ต ชื่อของ teamLab คือกลุ่มนักสร้างสรรค์ที่ใครเห็นผลงานเป็นต้องร้อง ‘ว้าว’

ในญี่ปุ่น พวกเขาออกแบบผลงานไว้มากมายทั้งในสวนสาธารณะ พิพิธภัณฑ์ สถานที่ทำงาน ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ส่วนที่เมืองไทยเองก็เคยได้ผ่านตามาแล้วกับนิทรรศการ teamLab Islands ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ นอกจากนี้ยังมีผลงานที่แนะนำตัวไปทั่วโลก อาทิ ป่าแห่งแสงที่ทำจากตะเกียงแก้วมูราโน่ ใน MAISON & OBJET 2016 กรุงปารีส, ผลงานชื่อ Beijing 798 ภายใน The Pace Gallery กรุงปักกิ่ง, นิทรรศการถาวรที่ ArtsScience Museum ประเทศสิงคโปร์ และนิทรรศการสุดล้ำที่ National Gallery of Victoria เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย

สำหรับพวกเขาทุกพื้นที่ในทุกสถานที่คือ ‘ผืนผ้าใบ’ ส่วนสีสันก็มาจากการ ‘ระบายแสง’ ลงไปด้วยเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์

“teamLab เป็นองค์กรด้านศิลปะที่ก่อตั้งในปี ค.ศ. 2001 ปัจจุบันเรามีสตาฟฟ์ทั้งหมด 440 คน เป็นผู้เชี่ยวชาญในแขนงต่างๆ ทั้งโปรแกรมเมอร์ CG Animator สถาปนิก นักคณิตศาสตร์ ดีไซน์เนอร์ นักวาดภาพ ที่มารวมกันเป็นทีม โดยมากเวลาเราสร้างสรรค์ผลงาน เราจะทำนิทรรศการด้านศิลปะ ติดตั้งชิ้นงานโดยใช้พื้นที่ทั้งหมดที่มี อาจจะเป็นงานในพิพิธภัณฑ์ หรืออาจจะเป็นงานท่ามกลางธรรมชาตินอกอาคาร

สิ่งที่เราทำเป็นการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างคนกับศิลปะ และคนกับโลก นี่คือจุดประสงค์ของสิ่งที่เราสร้างขึ้น” คุโด้ ทาคาชิ ผู้อำนวยการฝ่ายการสื่อสาร teamLab แนะนำองค์กรอย่างย่นย่อ ณ สำนักงานกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อปูทางสู่ความเข้าใจในชิ้นงานตามสถานที่ต่างๆ ที่พวกเขาภูมิใจนำเสนอ

..ให้แสงนำทาง..

บรรยากาศยามค่ำคืน ณ สวนมิฟูเนะยามะ ราคุเอน เมืองซากะ ประเทศญี่ปุ่น ความมืดมิดถูกเนรมิตให้สว่างไสวด้วยพลังแห่งแสงที่ถูกจัดวางไว้อย่างมีความหมาย และสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘ธรรมชาติกลายเป็นศิลปะ (Nature Becomes Art.)’

นิทรรศการครั้งนี้ใช้ชื่อว่า A Forest where Gods Live เป็นนิทรรศการที่เปลี่ยนพื้นที่ของสวนขนาด 500,000 ตารางเมตร ให้เป็นเขาวงกต ที่ผสมผสานดิจิทัลกับศิลปะแบบอินเตอร์แอคทีฟ (immersive interactive digital-art labyrinth)

“คนมักคิดว่าดิจิทัลกับธรรมชาติเป็นของตรงกันข้าม แต่นิทรรศการเราสร้างมาจากแสง เราทรานสฟอร์มธรรมชาติไปอีกรูปแบบนึงโดยที่ไม่ต้องทาสี ตัดหรือทำร้ายธรรมชาติเลย กระบวนการผลิตของเรานั้น คิดว่าเหมาะกับธรรมชาติมากที่สุด

หัวใจสำคัญก็คือ เราพยายามสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ และระหว่างคนกับโลก ตั้งแต่ต้นมันมีปรัชญาอยู่ว่า คนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติอยู่แล้ว และไม่มีขอบเขตมากั้นระหว่างกัน เราตายก็กลับสู่ธรรมชาติ ชีวิตเราก็เป็นแค่ส่วนเล็กๆ ของธรรมชาติที่มีมายาวนาน

นิทรรศการครั้งนี้พยายามนำเสนอว่า ธรรมชาติมีมานานแล้ว ภูเขาอายุราวสามล้านปี และคนก็สร้างสวนนี้มากว่า 170 ปีแล้ว โดยพยายามปรับธรรมชาติให้เป็นไปในแบบที่ไม่ได้ธรรมชาติมาก แต่ก็ไม่ได้ขัดแย้งธรรมชาติเช่นกัน อย่างตอนเราทำงานศิลปะ เราทำให้มันกลมกลืนไปกับธรรมชาติ ให้ไม่มีอะไรมากั้นระหว่างดิจิทัลกับธรรมชาติ ตอนนี้เราก็พยายามทำให้ดีไปอีกระดับเพื่อแสดงให้เห็นความงามของธรรมชาติ ให้เห็นว่าธรรมชาตินั้นมีอายุยืนยาวมานานแล้ว เราเป็นส่วนหนึ่งท่ามกลางธรรมชาติที่มีการเกิดขึ้นดับไป”

คุโด้ กล่าว พร้อมยกตัวอย่างการฉายภาพดอกไม้บนก้อนหินที่คาดว่าน่าจะมีอายุหลายล้านปี ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้คนหันมามองก้อนหินที่เคยถูกมองผ่านนี้ ดอกไม้ที่ค่อยๆ ผลิบานและร่วงโรยที่ถูกฉายภาพซ้อนทับไปนั้นยังสะท้อนสัจธรรมของธรรมชาติอีกด้วย

ภายในสวนสวยแห่งนี้จึงไม่ใช่เพียงการประดับประดาแสงสีตระการตา แต่ทุกชิ้นงานล้วนแทรกสื่อความหมาย ไม่ว่าจะเป็นเส้นสายการเคลื่อนไหวของปลาคาร์ฟและเรือลำเล็กๆ หรือภาพกราฟฟิติธรรมชาติและสัตว์ต่างๆ ที่อาศัยในซากปรักของบ่ออาบน้ำกลางแจ้ง จักรวาลของอนุภาคน้ำบนก้อนหินที่เป็นที่อยู่ของพระเจ้า รวมไปถึงน้ำตกแสงสูงถึง 8 เมตร ที่ผู้เข้าชมต่างสนุกกับการยืนรับกระแสน้ำดิจิทัลที่ตกจากเบื้องบน

“สำหรับเรา งานดิจิทัลมันจับต้องไม่ได้ ดังนั้นเราต้องอาศัยแสงในการสื่อชิ้นงานออกมา คอนเซ็ปต์ของงานเนี่ยจริงๆ ก็เหมือนมุกตลก ที่เขากล่าวกันว่า ถ้าเราอธิบายมุกเป็นคำพูดได้ มุกนั้นก็ใช้ไม่ได้อีกแล้ว ดังนั้นช่วงแรกๆ เราจะอธิบายคอนเซ็ปต์ออกมาไม่ได้ แต่เราก็มีอะไรบางอย่างที่อยากจะอธิบายอยู่ดี”

..ดินเนอร์ในโลกเสมือน..

แค่เสิร์ฟเนื้อวากิวนุ่มๆ ในจานดีไซน์เก๋ อาจจะธรรมดาไปแล้ว ร้านอาหาร SAGAYA ย่าน Ginza กรุงโตเกียว เลยจัดมื้ออาหารสุดพิเศษไว้ให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์สุดล้ำท่ามกลางฉากธรรมชาติที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนไปในแต่ละเมนู

ภายในห้องสี่เหลี่ยมที่ดูธรรมดา รองรับลูกค้าได้ 8 คนต่อวัน teamLab ได้สรรค์สร้าง ภาพเคลื่อนไหวบนโต๊ะอาหารและกำแพงเพื่อแสดงให้เห็นฤดูกาลต่างๆ ของประเทศญี่ปุ่น ภายใต้ธีม ‘Worlds Unleashed and then Connecting‘ ซึ่งผู้ที่ร่วมรับประทานจะได้ดื่มด่ำกับทุกรสสัมผัส ทั้งรสชาติ กลิ่น เสียง และแสงสีที่ดูราวกับโลกแห่งจินตนาการ

เมื่ออาหารเสิร์ฟมายังโต๊ะของลูกค้า รูปภาพที่สวยงามตามเมนูนั้นๆ จะถูกฉายลงบนโต๊ะอาหารและพื้นที่รอบๆ เช่นภาพของนกที่วาดอยู่บนจานเซรามิคจะบินออกจากจานไปเกาะที่กิ่งไม้ที่ออกมาจากอีกจานหนึ่ง และยังเปลี่ยนไปตามการเคลื่อนไหวของผู้ที่ร่วมรับประทานอาหารด้วย

นอกจากนี้เพื่อสร้างความแปลกใหม่อยู่เสมอ เมนูและภาพที่เกิดขึ้นจะเปลี่ยนไปทุกๆ เดือน โดยทางร้านจะเสิร์ฟในรูปแบบคอร์สมีล 12 จาน ตามความเหมาะสมของฤดูกาลนั้นๆ เช่น เมนูดอกซากุระจะมีเฉพาะในเดือนเมษายน

“ในการสร้างชิ้นงานแต่ละชิ้นเราจะสร้าง Prototype ก่อนแล้วเอามาคุยกันมาปรับกัน เวลาเริ่มงานบางทีเรายังไม่รู้ว่ามันจะออกมาเป็นยังไง คอนเซ็ปต์ช่วงแรกๆ มักจะอธิบายเป็นคำพูดยาก เราก็ทำงานไปเรื่อยๆ ให้ชิ้นงานมันเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา บางทีระหว่างทางก็เจอคอนเซ็ปท์ของมัน แต่โดยรวมแล้ว เราเชื่อในศิลปะดิจิทัล (Digital Art) เราเชื่อว่าเราจะขยายนิยามของคำว่าศิลปะได้ และเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับศิลปะ หรือมนุษย์กับโลกได้ นั่นคือเป้าหมายสูงสุดของเรา เรียกได้ว่าเป็นคอนเซ็ปต์ของงานศิลปะที่เราสร้างเลยก็ว่าได้”

..ออฟฟิศดิจิทัล..

หลังจากเปลี่ยนมื้ออาหารธรรมดาให้กลายเป็นดินเนอร์สุดเว่อร์วัง ความท้าทายอีกอย่างของดิจิทัลอาร์ตทีมนี้ก็คือ การเปลี่ยนสถานที่ทำงานที่ดูขึงขังให้มีสีสันและสร้างบรรยากาศในการทำงานร่วมกัน

ผลงานชิ้นหนึ่งของ teamLab ก็คือ การออกแบบออฟฟิศดิจิทัลให้กับบริษัท DMM.com ซึ่งเป็นบริษัทผู้สร้างแพลทฟอร์มเกมและวีดิโอสตรีมมิ่งชื่อดังในกรุงโตเกียว โดยศิลปะดิจิทัลนี้กระจายอยู่ในสำนักงานรวม 5 ชั้น

เริ่มตั้งแต่โถงต้อนรับที่แทบจะไม่ต้องใช้พนักงานหรือเอกสารอะไรให้ยุ่งยาก เพียงเดินผ่านม่านน้ำตกดิจิทัลเข้าไป ก็จะพบกับสัตว์นานาชนิดที่ถูกสร้างขึ้นจากดิจิทัลเช่นกัน พวกมันจะเดินวนเวียนไปมาบนกำแพงเพื่อนำคุณไปยังห้องประชุมที่ได้จองไว้ โดยห้องเหล่านี้จะเรียงลำดับจาก A ถึง Z ตามชื่อสัตว์ ตั้งแต่ anteater (ตัวกินมด) ไปถึง zebra (ม้าลาย) เมื่อถึงห้องประชุม ชื่อและตำแหน่งของประตูห้องก็จะปรากฏขึ้น นับเป็นการกระตุ้นผู้ร่วมประชุมให้กระปรี้กระเปร่าขึ้นมาได้ไม่น้อย

ในมุมมองของคนสร้างงาน ดิจิทัลอาร์ตเหล่านี้ไม่ใช่แค่สีสันที่มีไว้แต่งเติมบรรยากาศเท่านั้น แต่พวกเขาแอบหวังไว้ลึกๆ ว่า มันจะสามารถเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน และคนกับศิลปะได้

“เมื่อก่อน ศิลปะคือศิลปะ เราได้แต่มองอย่างเดียว แต่ศิลปะดิจิทัลคือการที่เรานำผู้ชมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชิ้นงานได้ เราจะไม่ได้แค่มองชิ้นงานแต่เราจะเป็นส่วนหนึ่งของงานเลย ซึ่งจะทำให้เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ชมรอบข้างมากขึ้น เพราะนอกจากเราจะเอ็นจอยชิ้นงานด้วยตัวเราเองแล้ว ในเวลาเดียวกันพอเราเป็นส่วนหนึ่งของชิ้นงานร่วมกับคนอื่น เราก็จะเห็นชิ้นงานในแง่มุมที่งดงามยิ่งขึ้น ทำให้เรามองผู้อื่นในแง่ดีมากขึ้น” คุโด้ กล่าว ก่อนจะขยายความว่า

“ในพิพิธภัณฑ์ทั่วไป เวลาเราเห็นงานศิลปะเราก็ได้แต่ดู งานไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไร ผู้ชมคนอื่นอาจทำให้เรารำคาญด้วยซ้ำ เพราะเราอยากดูงานคนเดียว แต่ศิลปะดิจิทัลที่ทุกคนมีส่วนร่วมในชิ้นงานจะทำให้เรามองกันในแง่ดีมากขึ้น”

แม้ว่าจะสร้างสรรค์ผลงานดิจิทัลอาร์ตมากว่า 16 ปี พัฒนาแนวคิดและรูปแบบไปอย่างหลากหลาย ก้าวข้ามขีดจำกัดของการแสดงงานไปสู่พื้นที่ธรรมชาติขนาดใหญ่ คุโด้ บอกว่า พวกเขายังมีฝันที่อยากไปให้ถึง นั่นคือ การเปลี่ยนเมืองทั้งเมืองให้เป็นงานศิลปะ

“ตอนนี้เมืองส่วนใหญ่ ทุกอย่างค่อนข้างเป็นวัตถุนิยมและเราก็ไปเปลี่ยนอะไรไม่ได้ ไม่ใช่ว่าผมต่อต้านอะไรในสิ่งที่เป็นอยู่ทุกวันนี้นะครับ แต่ถ้าเราสามารถทำเมืองให้เป็นงานศิลปะ คนที่อยู่ในเมืองนั้นก็อาจจะมีปฏิสัมพันธ์กันในทางที่ดีขึ้นก็เป็นได้ และคนที่อยู่ในเมืองนั้นอาจจะเป็นคนที่มีความสุขและมองโลกในแง่ดีมากขึ้นก็ได้ นั่นคือความฝันของเรา

เราก็ยังไม่รู้ว่าจะทำได้ไหม เราจะเปลี่ยนความคิดของคนได้ไหม หรือเปลี่ยนค่านิยมได้ไหม ในสิ่งที่คนสมัยนี้คิดว่ามันเปลี่ยนไม่ได้”

แม้จะยังไม่รู้ว่า พลังศิลป์แห่งแสงแรงพอที่จะเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนได้หรือไม่ แต่เมื่อถามถึงประเทศที่อยู่ในลิสต์ที่พวกเขาอยากไปสร้างสรรค์ผลงาน แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นคือ ประเทศไทย

ดังนั้น คำกล่าวทิ้งท้ายจากตัวแทนของ teamLab ในโอกาสนี้ จึงไม่ใช่ “ไซโยนาระ” แต่เป็น “มะตะเนะ” (see you soon)

“เราพยายามแสดงให้เห็นว่าโลกที่เราอยู่นั้นสวยงาม ถ้าคุณได้มารับประสบการณ์จากนิทรรศการเรา แล้วเปลี่ยนความคิดในการมองสิ่งต่างๆ รอบตัว เราก็ยินดีแล้วครับ”